ในวันที่คุณได้ใช้รถที่ดูแลมาอย่างดี มีประกันภัย พรบ. ไม่ขาด แต่ระหว่างใช้งานไปยางรถยนต์ดันมารั่วกลางทางเพราะโดนเหยียบตะปู เรื่องการเปลี่ยนยางก็ต้องทำแต่ถ้าจะรักษาสิทธิ์จากการถือประกันภัยเอาไว้ด้วยการเคลมประกันก็อาจจะดี แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถเคลมได้ตามที่กรรมธรรม์กำหนดไว้ ทำไมจึงไม่สามารถเคลมประกันได้ และต้องเคสยางล้อรถเสียหายแบบไหนจึงสามารถเคลมประกันได้ วันนี้มีคำตอบ
ยางรถ = ชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยนบ่อย
ยางล้อรถ หนึ่งในชิ้นส่วนที่ต้องมีการเปลี่ยนประจำตามระยะเวลาที่กำหนดเช่นเดียวกับน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ แบตเตอรี่ ผ้าเบรก เป็นต้น ซึ่งจะมีผลต่อการเคลมประกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากเกิดการเสื่อมสภาพ เสียหาย และมีความจำเป็นต้องเปลี่ยน บางรายการก็จะไม่สามารถเคลมได้ หรือบางรายการก็อาจจะเคลมได้ แต่จะเคลมได้บางส่วนตามอายุการใช้งานนั้น ๆ และมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่าชิ้นส่วนอื่น ๆ
ยางเสียหายแบบใดเคลมประกันได้ – เคลมประกันไม่ได้
สำหรับกรณีของยางรถยนต์นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
ยางรถเสียเกิดจากการชนแบบไม่มีคู่กรณี ได้แก่ เหยียบตะปู, แก้มยางฉีกหรือรอยถลอกจากการครูดถูกฟุทบาท, ยางระเบิด หรือยางรั่ว จะไม่สามารถเคลมยางได้ (ยกเว้นเงื่อนไขของบริษัทประกันบางราย)
ขณะเดียวกัน หากผู้ขับขี่เกิดยางแตก ยางระเบิดจนเสียหลักไม่สามารถวบคุมรถและไปชนกับวัตถุอื่นเข้าจนได้รับความเสียหาย ประกันก็จะซ่อมตัวรถให้ปกตินะครับ แต่จะไม่คุ้มครองยางรถยนต์เช่นเคย
ยางรถเสียเกิดจากการชนแบบมีคู่กรณี เช่น มีคนมาขับรถชนจนยางเสียหาย หรือ ไม่มีคู่กรณีแต่เสียหายทั้งตัวล้อไปด้วย เช่น ตะปูทะลุจากยางโดนส่วนล้อ หรือล้อไปครูดฟุตบาทควบคู่ด้วย ผู้ขับขี่สามารถเคลมยางรถยนต์ได้ตามสภาพจริง หรือมีการหักค่าเสื่อมสภาพของยาง ตามหลักการของประกันว่า “ซ่อมรถให้กลับมาอยู่ในสภาพก่อนเกิดเหตุ” ไม่ใช่ซ่อมให้เหมือนใหม่ ซึ่งบริษัทประกันอาจจะเคลมได้มากสุด 50% ของราคายางที่ผู้ขับขี่ใช้ในปัจจุบัน
แต่ถ้าเกิดเป็นยางที่เพิ่งเปลี่ยนมาใหม่ แต่ประสบอุบัติเหตุจนยางเสียหาย ตรงส่วนนี้ผู้ขับขี่สามารถรวบรวมหลักฐานอื่น เช่น ใบเสร็จเพื่อยื่นกับบริษัทประกันในการพิจารณาขอเคลมค่ายางได้ตามสภาพจริง แต่จะได้มากกว่า 50% ตามราคายางที่เปลี่ยนตามจริง เช่นราว ๆ 70 – 80% หรือบางกรณีก็อาจจะได้ 100% เลย
สำหรับเคสพิเศษอย่าง “ยางรถหาย” เช่น ยางถูกขโมย หรือยางอะไหล่ถูกขโมย สามารถเคลมประกันได้ภายใต้เงื่อนไข “หากรถยนต์สูญหายทั้งคัน หรืออุปกรณ์ส่วนควบหายไปเนื่องจากถูกลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์” โดยผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถต้องเตรียมใบแจ้งความ หลักฐานต่าง ๆ เช่น กล้องวงจรปิด รอยงัด เพื่อส่งไปยังบริษัทประกัน
เงื่อนไขเคลมยางที่ขึ้นกับระดับชั้นของประกันภัย
หากผู้ขับขี่ทำประกันชั้น 1 เอาไว้ จะสามารถคุ้มครองได้ถึงยางรถยนต์เสียหายที่ ไม่มีคู่กรณีแต่เสียหายทั้งตัวล้อร่วมด้วย ซึ่งจะมีประกันภัยชั้นนี้เท่านั้นที่สามารถคุ้มครองได้
แต่ถ้าหากยางเสียหายจากอุบัติเหตุ แล้วมีคู่กรณีที่ชัดเจน ประกันจะสามารถครอบคุมการดูแลแทบทุกชั้น แต่ก็ต้องพิจารณาว่าฝ่ายเราที่เป็นผู้ขับขี่ หรือเจเาของรถจะ “ถูก” หรือ “ผิด” โดยมีรายละเอียดดังนี้
- หากเราเป็นฝ่ายถูก ประกันทุกชั้นที่ทำเอาไว้ก็จะได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจะถูกรับผิดชอบโดยคนที่มาชนเรา
- หากเราเป็นฝ่ายผิด มีประกันชั้น 1, 2+ และ 3+ ที่สามารถคุ้มครองเราได้ ส่วนประกันชั้น 2 และ 3 จะไม่มีความคุ้มครองรถเรากรณีเกิดอุบัติเหตุแล้วเราเป็นฝ่ายผิด
ประกันยางจากแบรนด์ หรือศูนย์บริการ ก็ช่วยได้แค่บางกรณี
ในกรณีที่เจ้าของรถซื้อยางใหม่ก็จะมีการรับประกันยางเมื่อเกิดความเสียหายจากการออกแบบ กระบวนการผลิต หรือวัสดุส่วนประกอบ แต่จะไม่ครอบคลุมความเสียหายในการใช้งานตามปกติ เช่น บาด เบียด หรือตำ, มีระยะเวลารับประกันสั้น และจะต้องมีการลงทะเบียนหลังจากซื้อยางใหม่ด้วย (ขึ้นกับเงื่อนไขของบริษัทนั้น ๆ) จึงต้องศึกษารายละเอียดการรับประกัน ระยะเวลารับประกัน รายละเอียดการเคลมสินค้า และการใส่ใจข้อกำหนดการใช้ยางอยู่เสมอ
แต่ขณะเดียวกันหากเจ้าของรถเปลี่ยนยางล้อรถตามศูนย์บริการชั้นนำที่มีแคมเปญพิเศษ เปลี่ยนยางฟรีหากยางเสียหาย เช่น ยางบาด ยางบวม ยางแตก ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเจ้าของรถจะต้องศึกษาเงื่อนไขแคมเปญพิเศษให้ครบถ้วนเพื่อการรักษาสิทธิ์ในการเคลมยางได้เมื่อเกิดความเสียหายเช่นกัน
“ยางรถ” ไม่ว่าจะยางรถยนต์ หรือยางรถมอเตอร์ไซค์ ต่างก็มีรายละเอียดที่ซับซ้อนอย่างมากในเรื่องการรับประกัน และข้อกำหนดในประกันภัยชั้นต่าง ๆ ซึ่งผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่จะต้องศึกษารายละเอียดให้ดี เพื่อการรักษาสิทธิ์ และควรวางแผนงบประมาณเปลี่ยนยางควบคู่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันเสมอ
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
- ถอนค้ำประกันรถยนต์ ทำได้หรือไม่? และทำอย่างไรจึงถอนได้ชัวร์
- ‘ยางรีดน้ำ’ ยางคู่ใจในฤดูฝน กับสิ่งที่ผู้ใช้รถควรรู้ก่อนเปลี่ยนยางใหม่
- ชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ผู้ใช้รถควรเช็คก่อนเปลี่ยน เมื่อใช้งานมากกว่า 1 – 3 ปีขึ้นไป