KEY :
- เมื่อไม่นานมานี้มีกลุ่มผู้เสียหายรวมตัว ร้องเรียนต่อกองปราบฯ ถูกบริษัท JN RICH GROUP หลอกทำงานแล้วอ้างว่าจะได้เงิน
- บริษัทฯ ดังกล่าว ออกอุบายชักชวนให้มาลงทุนอัประดับ VIP เพื่อที่จะได้เงินปันผลเพิ่ม รวมถึงให้ลงหุ้นเพื่อได้กำไรมาขึ้นกว่าเดิม
- ความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 1 พันล้านบาท คาดว่ามีผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 6 หมื่นราย
คดีแชร์ลูกโซ่หลอกลงทุน สุดท้ายวงแตก แม่ข่าย-อัปไลน์ หายเข้ากลีบเมฆ ทิ้งลูกข่ายต้องจมทุกข์กับเงินที่สูญเสียไป ข่าวเหล่านี้ปรากฏให้เห็นตลอดเกือบทุกปี ทั้งวงออมทอง ออมเงิน ต่าง ๆ นานา สร้างความเสียหาย และเดือดร้อนต่อคนที่หลงเชื่อเข้าไปลงทุนด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น
‘เงิน’ จึงเป็นสิ่งที่ล่อตาล่อใจดึงดูดหลอกให้คนมาร่วมลงทุนได้ โดยมาพร้อมกับความโลภของคนเรา เมื่อเห็นวงแชร์โปรโมทโฆษณา ลงทุนเท่านี้ได้เงินปันผลเป็นเท่าตัว หรือ ต้องลงทุนเพิ่มเพื่ออัปขั้นแล้วจะได้เงินปันผลเพิ่มมหาศาล ล้วนเป็นคำพูด หรือ ตัวอักษรที่สวยหรู ขายฝันให้ผู้ที่สนใจอยากลองเข้าไปร่วมลงทุน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นวงแชร์ต่าง ๆ ทยอยแตกกันจนนับไม่ถ้วน
เนื่องจากเงินเหล่านี้ที่ถูกลงทุนเข้าไป เงินคนใหม่ก็จะจ่ายให้กับคนเก่า ๆ แน่นอนว่าหากมาถึงจุด ๆ หนึ่ง เมื่อคนที่จะมาร่วมลงทุนน้อยลง หรือ ไม่มีเลย ก็จะสร้างความเสียหายขึ้นมาทันที รวมถึงถูกเจ้าของ แม่ข่าย-อัปไลน์ เชิดเงินหนี ก็มีให้เห็นกันมาแล้วทั้งนั้น
เช่นเดียวกับกรณีของบริษัท JN RICH GROUP ที่กล่าวอ้างว่าแค่ทำงานให้ดูคลิปกดไลค์ทาง YouTube – Instagram แล้วจะได้เงินเป็นค่าตอบแทน ซ้ำต้องลงทุนเพื่ออัประดับสถานะของแต่ละบุคคล สร้างโครงข่ายเป็นทอด ๆ แบบแชร์ลูกโซ่ จนมีการคาดการณ์ว่าวงแชร์ที่แตกล่าสุดนี้มีความเสียหายกว่าพันล้านบาท หรือ อ้างมีมูลค่าความเสียหายมากกว่านั้น หลังเริ่มมีผู้เสียหายรวมกลุ่มทยอยออกมาร้องทุกข์
ส่องอุบาย JN RICH GROUP
จากข้อมูลพบว่าบริษัทดังกล่าวมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2563 โดยแจ้งจดประกอบธุรกิจประเภท ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ให้บริการด้าน การจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่งานอื่น ๆ ผ่านทางออนไลน์ ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นกลุ่มนายทุนชาวจีนโดยใช้นอมินีเป็นคนไทย และใช้แม่ข่าย-อัปไลน์ เป็นคนไทยเช่นเดียวกัน โดยจะทำหน้าที่หลอกชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุน
ในช่วงแรกจะโฆษณาชวนเชื่อว่าให้มาทำงานง่าย ๆ ด้วยการกดไลค์กดแชร์ หรือ ดูคลิป ผ่านทาง YouTube ซึ่งหากสมัครสมาชิกจะได้รับสิทธิ์ใช้งานฟรี 3 วัน โดยทางบริษัทจะมีใบงานให้ผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกได้ทำงาน อาทิ ดูคลิปการรีวิวสินค้า การทำอาหาร และ อื่น ๆ โดยจะได้เงินในช่วง 3 วันแรกที่สมัครฟรี ตกวันละ 39 บาท หรือใน 3 วันแรกนั้นจะได้เป็นเงิน 117 บาท และสามารถถอนเงินได้ทันที
จากนั้นทางบริษัทที่นำทีมโดยแม่ข่ายตัวแทน จะเริ่มวางอุบายให้สมาชิกที่อยากได้เงินเพิ่ม สมัครระดับชั้น VIP ซึ่งมีตั้งแต่ระดับ VIP 1 ไปจนถึง VIP 9 โดยใช้เงินค่าสมัคร ตั้งแต่ 300 บาท ไปจนถึงเกือบ 8 หมื่นบาท และในแต่ระดับชั้น VIP จะได้เงินค่าตอบแทนที่มากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่เงินลงทุนสมัคร
นอกจากนี้ยังออกอุบายอีกว่าหากอยากได้เงินที่เพิ่มมากขึ้น ให้ร่วมลงหุ้นกับทางบริษัท ซึ่งในอุบายนี้มีผู้เสียหายบางรายสูญเงินหลัก 10 ล้านบาทก็มี
โป๊ะแตกกับคำแถลงของบริษัทฯ
กรณีหลอกให้ทำงานดูคลิปแล้วได้เงินของทางบริษัทดังกล่าว ถูกออกมาแฉอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้เสียหายเริ่มได้กลิ่นแปลก ๆ ของทางบริษัท ซึ่งมาจากคำแถลงการณ์ ภายหลังเริ่มมีคนที่ลงทุนแล้วไม่ได้เงินตามที่บริษัทกล่าวอ้างไว้ โดยถ้อยคำแถลงของบริษัทระบุว่า
“แจ้งให้สมาชิกทุกท่านทราบ ทางยูทูปได้ทำการยกเลิกสัญญากับทางบริษัทเจเอ็น ริช กรุ๊ป เนื่องจากทางยูทูปไม่พอใจที่ทางบริษัทไปรับโปรโมทให้กับไอจี ทางยูทูปอยากให้บริษัทเจเอ็น รับโปรโมทแค่ของยูทูปอย่างเดียว ซึ่งทางบริษัทเจเอ็นเป็นบริษัทที่รับจ้างโปรโมทแอปต่าง ๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่ความผิดอะไรของทางบริษัท ทางยูทูปได้ฉีกสัญญาที่เซ็นไว้กับทางบริษัท”
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า Youtube นั้น มีบริษัทแม่ก็คือ Google หากมองในภาพความเป็นจริงบริษัทชั้นนำของโลก ไม่จำเป็นต้องจ้างบริษัทขนาดเล็กในการโปรโมทคลิปของทาง Youtube เลยก็ว่าได้ และกรณีการอ้างว่าบริษัทถูกฉีกสัญญานั้น จึงเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มผู้เสียหายมองว่าสิ่งที่บริษัทกล่าวอ้างมานั้นไม่มีมูลความจริงเลย
หลังจากนั้นปัญหาต่าง ๆ ก็โยนมาที่ลูกข่ายสมาชิกที่ลงทุนไป แม่ข่าย – อัปไลน์ ทยอยหายตัว ติดต่อไม่ได้ เดือดร้อนผู้เสียหายต้องเดินหน้าแจ้งความฟ้องร้องเพื่อติดตามเงินคืน
คดีแชร์ลูกโซ่กับกลโกงที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
“แชร์ลูกโซ่” เป็นคดีที่มีข่าวโด่งดังในประเทศไทยอยู่เรื่อยมา ตั้งแต่คดีแชร์ชม้อย คดียูฟัน คดี Forex-3D คดีแชร์แม่มณี จนมาถึงล่าสุดแชร์ลูกโซ่ของบริษัท JN RICH GROUP และยังมีคดีอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ใช้รากฐานกลโกงเดียวกัน แต่ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามยุคสมัย
ปัจจุบันแชร์ลูกโซ่ได้พัฒนารูปแบบกลโกงมากยิ่งขึ้น มีการแอบอ้างธุรกิจที่มีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือธุรกิจแบบใหม่มาหลอกลวงหากินกับคนอื่น โดยใช้วิธีการชักชวนให้น่าเงินมาลงทุนโดยสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทนให้ในอัตราสูง
โดยในระยะแรก ๆ อาจทำแล้วได้เงินจริงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อชักชวนผู้อื่นก็ยิ่งเพิ่มเงินทุนเข้าไปอีกเรื่อย ๆ จนที่จุดที่ใกล้จะเบิด หรือ จุดที่ผู้เล่นใหม่น้อยกว่าผู้เล่นเก่า เจ้าของ แม่ข่าย แม่ทีม ก็หอบเงินหนีไปเสียแล้ว
กฎหมายคดี ‘แชร์ลูกโซ่’
พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
- มาตรา 4 ผู้กระทำการหลอกลวงประชาชนโดยให้ชักชวนให้ลงทุน โดยนำเงินหรือทรัพย์สิน และให้ไปชักชวนคนให้นำเงินมาลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ ต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง โดยผู้หลอกลวงมิได้นำเงินที่ได้มาไปประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมายเพียงแต่นำเงินที่ได้มาจากผู้ลงทุนรายใหม่ไปหมุนเวียนจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนรายเก่า
- มาตรา 5 เป็นความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนฯ ตามลักษณะของมาตรา 4
- มาตรา 12 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
ประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดฐานฉ้อโกง)
- มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้น กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา (ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน)
- มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวใน
- มาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1 พันบาทถึง 1 หมื่น 4 พันบาท
…
ข้อมูล :
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง