จากผลการศึกษาของต่างประเทศ สรุปได้ว่า เด็กที่เป็นลูกคนโต ส่วนมากมีคะแนนทดสอบเฉลี่ยมากกว่าเด็กที่เป็นลูกคนรอง ทำให้สรุปได้ว่าลูกคนโตของครอบครัวส่วนมากจะมีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญามากกว่า เหตูผลคืออะไรลองไปติดตามอ่านกันได้เลย
ดร.อานา นูโว-ชิเกโร จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ในสกอตแลนด์ ร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ศึกษาพัฒนาการของเด็กๆ เกือบ 5,000 คน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 14 ปี โดยทุกๆ 2 ปีจะทดสอบความรู้พื้นฐานของแต่ละช่วงวัย จากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับผลทดสอบความรู้ของพี่หรือน้องของเด็กคนนั้นๆ พบว่า เด็กที่เป็นลูกคนโต ส่วนมากมีคะแนนทดสอบเฉลี่ยมากกว่าเด็กที่เป็นลูกคนรอง ทำให้สรุปได้ว่าลูกคนโตของครอบครัว มีพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญามากกว่า
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า
“ปัจจัยที่ทำให้ลูกคนโตมีทักษะทางการเรียนรู้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่ยังไม่มีประสบการณ์ จึงทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเลี้ยงดู เล่น และสร้างเสริมทักษะต่างๆ ให้กับลูกคนแรก แต่เมื่อมีลูกคนรอง รวมถึงลูกที่เกิดในภายหลัง พ่อแม่กลับทำกิจกรรมร่วมกับลูกน้อยลง โดยเฉพาะการอ่านและงานประดิษฐ์ เด็กๆ ในกลุ่มนี้เลยไม่ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างเต็มที่นั่นเอง”
นักวิจัยยังระบุ “หวังว่าการศึกษานี้ จะช่วยกระตุ้นเตือนให้พ่อแม่เห็นความสำคัญของการทำกิจกรรม และการปลูกฝังทักษะทางเชาวน์ปัญญาให้กับลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นคนโต คนรอง หรือคนเล็ก เพื่อให้เด็กมีความสามารถสูงสุดในการใช้ชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น”
*ระดับเชาวน์ปัญญา หรือ ไอคิว (IQ ย่อจาก Intelligence quotient) หมายถึง ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิด การใช้เหตุผล การคำนวณ การเชื่อมโยง ไอคิว เป็นศักยภาพทางสมองที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก ไอคิว สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนได้
อย่างที่นักวิจัยได้บอก ว่าลูกคนแรกมักได้รับความสนใจอย่างเต็มที่ พ่อแม่จึงทำกิจกรรมได้เต็มที่ แต่บางครอบครัวอาจจะได้รับความสนใจน้อย เพราะพ่อแม่อาจจะยังไม่มีเวลา ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัวนั้นๆ ก็เป็นได้
ที่มา นสพ.ข่าวสด