คัดลอก URL แล้ว
ด้วงกระเบื้อง กองทัพแมลงที่ชอบบุกบ้านเมื่อเข้าฤดูฝน ป้องกันยังไงดี?

ด้วงกระเบื้อง กองทัพแมลงที่ชอบบุกบ้านเมื่อเข้าฤดูฝน ป้องกันยังไงดี?

ในไทยเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน หลายๆ บ้านอาจจะได้เคยเห็นกัน เจ้าพวกแมลงด้วงกระเบื้องเหล่านี้ดูเหมือนชวนกันยกทัพนับหมื่นตัวมาถล่มบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่เป็นบ้านไม้ ไปทำความรู้จักแมลงชนิดนี้กัน มีอันตรายหรือไม่ แล้วจะป้องกันพวกมันได้อย่างไรบ้าง

รู้จัก ด้วงกระเบื้อง

ด้วงกระเบื้อง หรือ แมลงกระเบื้อง เป็นแมลงในอันดับด้วงอยู่ในวงศ์ Tenebrionidae (วงศ์เดียวกับมอดแป้ง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesomorphus vitalisi (Chatany, 1917)

อาหารของด้วงกระเบื้อง

คือเศษเน่าเปื่อยผุพังของพืช เมล็ดธัญพืชที่มีความชื้น รวมถึงเชื้อราที่ขึ้นบนเนื้อไม้ พบมากในช่วงต้นฤดูฝนเนื่องจากความชื้นจะทำให้เชื้อราซึ่งเป็นอาหารของด้วงชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดี

แหล่งกบดาน

มีรายงานการพบด้วงกระเบื้องในแปลงมันสำปะหลัง ที่ไม่ได้ดำเนินการทำเขตกรรมหลังจากเก็บเกี่ยว โดยด้วงกัดกินหัวมันสำปะหลังที่เกิดเชื้อรา รวมถึงทำลายรากอ่อนของต้นมันสำปะหลังต้นใหม่ได้ด้วย

และมักจะพบด้วงกระเบื้องในบ้านที่ปลูกสร้างจากไม้เนื้ออ่อนและบ้านไม้ที่ปลูกอาศัยมานานหลายปี เพราะเนื่องจากความชื้นในช่วงฤดูฝนจะทำให้เนื้อไม้เกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นอาหารที่ด้วงชนิดนี้ชอบ และหลังจากที่ด้วงกระเบื้องบุกเข้ามากัดกินเชื้อราบนผิวไม้ก็จะผลิตสารที่มีกลิ่นเฉพาะในการดึงดูดด้วงกระเบื้องตัวอื่นๆ เข้ามาสู่บ้านหลังนั้นได้อีกด้วย

ด้วงกระเบื้อง VS ด้วงดำ

ด้วงกระเบื้องและด้วงดำ [Aiphitobius diaperinus (Panzer,1797)] เป็นแมลงที่มีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันที่ลักษณะลำตัว

ด้วงกระเบื้อง จะมีลำตัวสีน้ำตาล ผิวด้านไม่มันวาว และมีเส้นขนปกคลุมทั่วลำตัว
ด้วงดำ แมลงศัตรูสำคัญในฟาร์มไก่ มีลำตัวสีดำเป็นมันวาว และไม่มีเส้นขนลำตัวปกคลุม

อย่างไรก็ตามสามารถพบแมลงทั้งสองชนิดนี้ได้ในที่ที่มีความชื้นเนื่องจากอาหารโปรดของพวกมันคือเชื้อรานั่นเอง

ผลกระทบต่อมนุษย์

ด้วงกระเบื้อง อาจก่อให้เกิดผื่นแดง โรคผิวหนัง หอบหืด ฯลฯ หากถูกขีดข่วนที่ร่างกาย รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่

วิธีกำจัด

3 แนวทางการป้องกัน ด้วงกระเบื้อง การกำจัด (ระยะยาว)

1.หมั่นสังเกตสภาพชิ้นส่วนเนื้อไม้ที่ใช้ปลูกอาศัย

หากยังอยู่ในสภาพที่มีความหนาแน่นดี ไม่บิดงอ ไม่มีลักษณะเป็นโพรงภายใน จะเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเข้าอยู่อาศัยของด้วงชนิดนี้ แต่หากสภาพเนื้อไม้มีความบาง โค้งงอ หรือเป็นโพรงภายในจะทำให้เหมาะสมต่อการเข้าอยู่อาศัย ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจสภาพเนื้อไม้ที่ใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี

2.การทำเขตกรรมแปลงปลูกพืชที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย

เนื่องจากมีรายงานการพบด้วงชนิดนี้ในแปลงปลูกพืช เช่น มันสำปะหลัง หรือพืชตระกูลถั่ว โดยสามารถพบแมลงชนิดนี้กัดกินชิ้นส่วนของพืชในดินที่ไม่ได้ดำเนินการไถพรวนหรือการทำเขตกรรม ซึ่งด้วงชนิดนี้จะกินเชื้อราจากชิ้นส่วนของพืช หากดำเนินการไถพรวนหรือการทำเขตกรรมจะช่วยลดปริมาณและตัดวงจรชีวิตของด้วงชนิดนี้ได้ในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน

3.ดำเนินการฉีดพ่นสารรักษาเนื้อไม้หรือสารป้องกันกำจัดแมลงอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี

เพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้และช่วยป้องกันไม่ให้ไม้เกิดเชื้อรา ทำให้สามารถป้องกันการเข้าทำลายของด้วงกระเบื้องได้ในปีต่อๆ ไป

ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก อิทธิพล บรรณาการ นักกีฏวิทยาชำนาญการ กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, Insect Museum Thailand – พิพิธภัณฑ์แมลง ประเทศไทย , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง