ตั้งเป้าลดผู้สูบบุหรี่เหลือไม่เกิน 9 ล้านในปี 68
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 เปิดเผยว่ายุทธศาสตร์สำคัญของ สสส. คือการลดอัตราการบริโภคยาสูบ โดยเน้นป้องกันเยาวชนกลุ่มใหม่ไม่ให้เข้าสู่วงจรการเสพ และลดผู้สูบรายเดิม ผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการไม่สูบบุหรี่ ควบคู่กับการเสริมศักยภาพกลไกควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ เป้าหมายคือทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศไม่เกิน 15% หรือไม่เกิน 9 ล้านคนภายในปี 2568
ทั้งนี้ยังมีความท้าทายจากกระแสบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกโฆษณาว่าปลอดภัยกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ในประเทศที่เปิดให้ถูกกฎหมาย เช่น สหรัฐและอังกฤษ ก็พบปัญหาเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีติดบุหรี่ไฟฟ้าในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ในไทยแม้ยังอยู่ระหว่างพิจารณากฎหมาย แต่พบเด็กชั้นประถมและมัธยมปลายสูบบุหรี่เฉลี่ยกว่า 10% โดยส่วนใหญ่เป็นบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่การติดสารเสพติดที่รุนแรงหรือการพนันในอนาคต
สร้างแนวร่วม อปท. เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนชุมชน
นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวถึงแนวทางพัฒนาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ด้วยการใช้กระบวนการ Benchmarking เพื่อให้ อปท. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จากพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมวิเคราะห์จุดอ่อน-ช่องว่างการทำงาน โดยระบบสนับสนุนประกอบด้วย
- การสร้างนโยบายชุมชนปลอดบุหรี่ เช่น ธรรมนูญสุขภาพ แผนควบคุมยาสูบ และกลไกคณะกรรมการ
- การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยภาคีเครือข่าย การจัดสรรงบประมาณ และการพัฒนาบุคลากร
- การจัดระบบสารสนเทศ เช่น ฐานข้อมูลการบริหารจัดการ และฐานข้อมูลพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่
ระบบหลักที่ต้องดำเนินควบคู่กัน คือ
- การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ด้วยการเฝ้าระวัง ติดป้าย ปรับปรุงพื้นที่ทั้งบ้าน โรงเรียน และชุมชน
- การสร้างทักษะส่วนบุคคล ด้วยกิจกรรมอบรมพัฒนากลุ่มเป้าหมาย และการใช้บุคคลต้นแบบ
- การจัดระบบบริการสุขภาพในชุมชนที่ช่วยเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่องและเข้าถึงง่าย
อปท.กับภารกิจลดโรค NCD จากบุหรี่ในสังคมสูงวัย
นพ.ชัย กฤตยาภิชาตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบ เน้นว่า อปท. มีบทบาทสำคัญในฐานะ “รัฐบาลท้องถิ่น” ที่ดูแลสุขภาพประชาชนแบบรอบด้าน โดยเฉพาะการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจาก NCD ลง 25% ภายในปี 2568 บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของโรค NCD เช่น มะเร็ง ปอดอักเสบ เส้นเลือดหัวใจและสมอง
ปัจจุบัน 76% ของการเสียชีวิตของประชากรไทยมาจาก NCD ซึ่งรวมกว่า 70,000 รายต่อปี โดยโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ เส้นเลือดหัวใจและสมอง (29%) และมะเร็ง (17%) อปท. จึงต้องเร่งดำเนินนโยบายชุมชนปลอดบุหรี่ให้ได้ผลจริง เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดใหม่และแรงงานลดลง ทำให้อนาคตการดูแลผู้สูงวัยที่ป่วยด้วย NCD จะกลายเป็นภาระสำคัญที่ต้องวางรากฐานจากวันนี้




