คัดลอก URL แล้ว
พรรค LDP ญี่ปุ่น เสนอแก้ รธน.ประเทศใหม่ รวมถึง มาตรา 9 การสละสิทธิ์ทำสงคราม

พรรค LDP ญี่ปุ่น เสนอแก้ รธน.ประเทศใหม่ รวมถึง มาตรา 9 การสละสิทธิ์ทำสงคราม

สื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นได้รายงานว่า พรรคเสรีประชาธิปไตยหรือ LDP ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศใหม่ ซึ่งรวมถึงมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ที่ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องสละสิทธิ์ในการทำสงคราม ที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนจากกองทัพสู่ “กองกำลังป้องกันตนเอง”

โดยในที่ประชุมใหญ่ของพรรค LDP ของญี่ปุ่นนั้นได้มีการแสดงความเห็นในเอกสารหารือภายในพรรค เพื่อสรุปก่อนที่จะมีการเจรจากับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 และเป็นการร่างโดยสหรัฐฯ โดยแนวทางนั้นให้มีการนำร่างข้อเสนอที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาเป็นแนวทาง

ซึ่งในร่างฉบับดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงมาตรา 9 แต่อย่างใด ซึ่งมาตรา 9 ของ รัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นได้ระบุถึง ข้อกำหนดที่ให้ญี่ปุ่นสละสิทธิ์ในการทำสงครามกับประเทศอื่น ๆ ในฐานะประเทศ ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่สามารถมี “กองทัพ” เป็นของตนเองได้ แต่ญี่ปุ่นก็ยังสามารถมี “กองกำลังป้องกันตนเอง” ในลักษณะที่ยังคง “สภาพความเป็นกองทัพทางพฤตินัย”

หรือ หากพูดง่าย ๆ ให้เห็นภาพคือ การที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว อนุญาตให้มีกองกำลังที่ทำหน้าที่เหมือน “โล่” สำหรับป้องกันตนเองได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถใช้เป็น “หอก” ในการร่วมสงครามใด ๆ ได้

ทางด้านของ ชิเงรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นหนึ่งในแคนดิเดตหัวหน้าพรรค LDP คนใหม่ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงมาตรา 9 นี้ เพื่อระบุถึงการกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ลงในมาตรานี้ด้วย

โดยแนวทางในการแก้ไขนั้น อาจจะเลือกใช้การคงข้อความเดิมของมาตรา 9 ไว้ แต่มีการเพิ่มส่วนของคำจำกัดความ หรือขยายความเกี่ยวกับกองกำลังป้องกันตนเอง หรือ กองทัพญี่ปุ่นเพิ่มเติมเข้าไปใน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง – กลาโหมญี่ปุ่น ขอเพิ่ม “งบทหาร” สูงเป็นประวัติการณ์

ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรก

ความต้องการในการแก้ไขมาตรา 9 ของญี่ปุ่นนี้ มีมาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่สมัยของอดีตนายกฯ โนบุสุเกะ คิชิ ซึ่งเป็นคุณตาของอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ ที่ต้องการแก้ข้อกฎหมายนี้ เพื่อฟื้นฟู “กองทัพญี่ปุ่น” ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ

ซึ่งความต้องการดังกล่าว ก็ถูกส่งต่อมาถึงรุ่นหลาน ในสมัยของนาย ชินโซ อาเบะ ก็มีการรื้อฟื้นประเด็นการแก้ไข รัฐธรรมนูญในมาตรานี้เช่นกัน ในสมัยของ นายฟูมิโอะ คิชิดะ ก็มีความพยายามในการที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยมีการกล่าวถึง มาตรา 9 นี้เช่นกัน

อุปสรรคสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ การแก้ไขจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยจะต้องมีเสียงอนุมัติ 2 ใน 3 ของทั้งสองสภาเสียก่อน จึงจะสามารถนำร่างฯ ไปทำการลงประชามติในระดับประเทศต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง