คัดลอก URL แล้ว
สภาพัฒน์ฯ เผย หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 67 ขยายตัว 2.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

สภาพัฒน์ฯ เผย หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 67 ขยายตัว 2.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

วันที่ 26 สิงหาคม 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์นำเสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี2567 พบความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่สถานการณ์ด้านแรงงาน และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินชะลอตัว หนี้สินครัวเรือน (ไตรมาสหนึ่งปี 2567) ขยายตัวในอัตราชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง และการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ลดลง ขณะที่การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ได้แก่

  1. Festival Economy ขับเคลื่อนอย่างไรให้ปัง
  2. ภัยร้ายในโลกเสมือน : การคุกคามทางเพศต่อเด็กและเยาวชนในโลกไซเบอร์
  3. Fast Fashion กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำเสนอบทความเรื่อง “เตรียมตัวอย่างไรเพื่อรองรับการสมรสเท่าเทียม”

สถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2567ชะลอตัวลง จากการจ้างงานที่ลดลงต่อเนื่องในภาคเกษตรกรรม ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวในทุกสาขา ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างแรงงานค่อนข้างทรงตัว และอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.07 ไตรมาสสอง ปี 2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 5.0

ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 9.0 ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.9 มีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย ชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.8 และ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ลดลงร้อยละ 19.8 และ 8.7 ตามลำดับ อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 1.07 หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป

  1. การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคตโดย WEF ระบุว่า ภายในปี 2027 งานในภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 42 จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟต์ประเทศไทยร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่าร้อยละ 74 ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI
  2. ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม ร้อยละ 7.2 ในไตรมาสสี่ ปี 2566 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อีกทั้ง ดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง(Medium) ยังเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานได้
  3. ผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรโดยอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายแล้ว 308,238 ไร่ ขณะที่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม – กันยายน2567 คาดว่าประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ60 – 80 ของพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงที่ภาคเกษตรกรรมจะได้รับความเสียหายมากขึ้น และจะกระทบต่อรายได้ ต้นทุนการเพาะปลูก และความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง