วันที่ 11 สิงหาคม 2567 ชาวประมงพื้นบ้าน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ช่วยกันจับปลาหมอคางดำจำนวนมาก บริเวณชายทะเลบางแก้ว หมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้ว โดยจะเลือกปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ นำไปแปรรูปเป็นอาหารปูที่เพาะเลี้ยงไว้ แต่ละคนจับปลาหมอคางดำได้มากกว่า 100 กิโลกรัม ชาวประมงพื้นบ้านบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ปลาหมอคางดำที่เจออยู่ริมชายหาด อาจไม่ใช่ปลาหมอคางดำ ที่อาศัยอยู่ในคลองธรรมชาติ
ด้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม เล่าว่า ปัญหาปลาหมอคางดำเกิดขึ้นมานานหลายปี แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้สัตว์น้ำหลายชนิด อย่างกุ้ง , หอย , ปู , ปลา ลดน้อยลง และกระทบต่ออาชีพประมงพื้นบ้าน
ในจุดที่ชาวประมงพบปลาหมอคางดำ มีคลองบางแก้วซึ่งเชื่อมต่อกับทะเล จึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นคลองที่มีการปล่อยปลาหมอคางดำออกมา ซึ่งได้มีการแจ้งประมงจังหวัดเพชรบุรีมาตรวจสอบ แต่ได้รับการชี้แจงว่า ปลาหมอคางดำที่พบบริเวณชายหาดบางแก้ว เกยตื้นมาจากทะเล ไม่ใช่ถูกปล่อยมาจากโรงงาน คำชี้แจงดังกล่าว สวนทางกับความเห็นของชาวบ้าน ที่เห็นว่าไม่น่าจะเกยตื้นจากทะเลได้ เพราะระดับน้ำทะเลลดลง เป็นระยะทางกว่า 1 ไมล์ทะเล