จากกรณีการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.จะเข้าไปรับซื้อปลาหมอคางดำไปทำน้ำหนักชีวภาพ โดยใช้งบ 50 ล้านบาท ด้านนายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ยืนยันว่า สามารถทำได้ และไม่ขัด พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ปี 2558 โดยขอให้เกษตรกรที่ยังมีความเห็นต่างเข้าใจถึงเหตุผล ซึ่งการทำน้ำหมักชีวภาพ โดยการนำปลาหมอคางดำมาทำน้ำหมัก จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีลงร้อยละ 25 ขณะเดียวกันก็ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำด้วย
เบื้องต้นประเมินว่า จะรับซื้อปลาหมอคางดำปริมาณ 1,000 ตัน มาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพได้ประมาณ 160,000 ลิตร ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ 2 แสนไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน คือ สิงหาคม-กันยายน คาดว่า เกษตรกรจะสามารถใช้น้ำหมักได้ในเดือนกันยายน โดยกรมพัฒนาที่ดิน จะเป็นผู้ทำการผลิต
ทั้งนี้ หากพบว่า ปริมาณปลาหมอคางดำ มีมากกว่ากรอบวงเงินที่ตั้งไว้ 50 ล้านบาท กยท.สามารถขยายวงเงินได้ ซึ่งปัจจุบัน กยท.มีงบสำหรับการจัดซื้อปุ๋ย 300 ล้านบาท แต่ปริมาณปลาที่จับได้ เชื่อว่าจะมีไม่มากจนเกินกรอบวงเงิน เนื่องจากขณะนี้ มีบริษัทซีพีเอฟ เข้ามาซื้อด้วย ทำให้ปริมาณปลาลดลง