วันที่ 30 มีนาคม 2567 เวลา 16:00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเพลิงศพ นายอนันต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรี และอดีต สส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย โดยจัดพิธี ณ เมรุวัดเทพนิมิตร ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ. ฉะเชิงเทรา โดยมีบุตรธิดาทั้ง 4 คนร่วมเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย, นายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา, นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนางฐิติมา ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย
พิธีในครั้งนี้มีประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมเป็นประวัติการณ์ ทั้งประชาชนชาวแปดริ้วและทั่วประเทศ ประชาชนหลายคนที่ผูกพันธ์หรือได้รู้จักกับนายอนันต์ ต่างกล่าวว่า นายอนันต์เป็นที่รักของชาวแปดริ้ว แม้เป็นถึงรัฐมนตรีแต่มีความสัมพันธ์กับคนทุกระดับ รวมไปถึงประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราที่สามารถเข้าถึงง่าย บ้านของนายอนันต์เปิดตลอด และมีจิตใจกว้างขวางโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักความเป็นธรรม สิ่งที่ชาวแปดริ้วเห็นได้ชัดที่สุดคือ การให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน การช่วยเหลือคนยากจนที่เดือดร้อน แม้แต่เพื่อนพ้องต่างก็ประทับใจในลักษณะนิสัยนี้
ส่วนในด้านการเมืองนายอนันต์ เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง และสส.จังหวัดฉะเชิงเทราหลายสมัย ที่สำคัญเป็นแบบอย่างของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จากหลากหลายเหตุการณ์ อาทิ ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อประท้วงความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ , เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คอยให้ข้อคิด เสนอแนะ สนับสนุนด้านต่างๆ ให้กับผู้นำนิสิตนักศึกษา , ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความถนัดในงานด้านนี้จึงลาออก โดยไม่ติดยึดหรือเสียดายตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน ถูกต้องขังเนื่องจากต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ นายอนันต์ก็ไปเยี่ยมถึงเรือนจำและกล่าวว่า “ผมจะเอาคุณอุทัยออกจากคุกให้ได้” และก็ประสบความสำเร็จจริงๆ
ทั้งนี้ก่อนเริ่มพิธี สมาชิกครอบครัวฉายแสง ร่วมกันต้อนรับประธานในพิธี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และได้ร่วมกันเดินพบปะทักทายประชาชนที่มาร่วมงาน สร้างความปลาบปลื้มดีใจเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ได้พาชมนิทรรศการชีวประวัตินายอนันต์ ฉายแสง โดยส่วนหนึ่งได้เล่าถึงบิดาของนายทักษิณคือนายเลิศ ชินวัตร เป็นเพื่อนผู้แทนราษฎรสมัยเดียวกับนายอนันต์ ฉายแสง เมื่อปี พ.ศ. 2512 ทำให้ทั้งนายเลิศและนายอนันต์เป็นเพื่อนที่สนิทสนมกัน
นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมงานจากหลายแวดวง อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี , นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมตรี , นายเสนาะ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง , นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา , นายวีระกาต์ มุสิกพงศ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง , นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางเยาวเรศ ชินวัตร ,นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาฯนายกฯ , นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกฯ , นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและ รมว.คลัง , นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี , นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ภายในงาน ได้มีการขับเสภาจากบทประพันธ์ของนายธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรท์ที่พรรณนาถึงนายอนันต์ โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง บุตรชายคนโตเป็นผู้ขับเสภา และนายนฤพนธ์ ดุริยพันธ์ ศิลปินแห่งชาติ ขยับกรับ และควบคุมการขับเสภา โดยมีความตอนหนึ่งว่า
“ชื่อ อนันต์ ฉายแสง นั้นแกร่งนัก โลกประจักษ์ในแสงอันแรงกล้า คือแบบอย่างเสรีชนคนบูชา สว่างจ้ากลางใจไปนิรันดร์”