คัดลอก URL แล้ว
“รัฐประหารในไนเจอร์” สะเทือนถึงฝรั่งเศส

“รัฐประหารในไนเจอร์” สะเทือนถึงฝรั่งเศส

ประเทศไนเจอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันตกได้เกิดเหตุรัฐประหารเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา นำโดยนายทหารองครักษ์ของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด บาซูม ของไนเจอร์ เป็นผู้ก่อรัฐประหารในครั้งนี้ ได้จับตัวประธานาธิบดีไว้

ภายหลังจากการก่อเหตุรัฐประหารส่งผลให้เกิดความรุนแรงในหลายพื้นที่ตามมา จากความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนการรัฐประหารได้ไปรวมตัวและจุดไฟเผาสำนักงานของพรรคที่ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด บาซูมสังกัดอยู่

รัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไร

การเกิดรัฐประหารในประเทศไนเจอร์นั้น เป็นเรื่องที่ชาติตะวันตกไม่ได้คาดคิดมาก่อน ไนเจอร์มีความมั่นคงในประเทศมากกว่า ประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ติดกันไม่ว่าจะเป็น มาลี หรือบูร์กินาฟาโซ ไม่มีการประท้วงที่ลุกลามใหญ่โตแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีความตึงเครียดระหว่าง ผู้นำกองทัพ และผู้นำฝ่ายพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นการที่ทหารองครักษ์ของประธานาธิบดีบาซูม ก่อเหตุเข้าจับกุมตัวประธานาธิบดี จึงยังไม่มีเหตุผลที่แน่ชัดว่า เกิดขึ้นจากอะไร แต่นั่นก็ทำให้การรัฐประหารในครั้งนี้ ไม่มีเหตุปะทะกันของกองกำลังทั้งสองฝ่าย

ภายหลังการจับกุมตัวประธานาธิบดี คณะผู้ก่อรัฐประหารได้แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ นำโดยพันเอก อมาดู อับดรามัน ระบุถึงสาเหตุของการรัฐประหารว่า

“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องจากความมั่นคงของประเทศเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่อง จากการบริหารที่เลวร้ายทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ก่อรัฐประหารยังได้ประกาศปิดพรมแดนน พร้อมแจ้งเตือนไปยังชาติต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยืนยันรับรองความปลอดภัยของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด บาซูม

ทำไมถึงเป็นข่าวร้ายของฝรั่งเศส – สหรัฐฯ – ยูเอ็น

ไนเจอร์เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และยูเอ็นในภูมิภาคนี้ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ในแอฟริกา ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้สนับสนุนและส่งความช่วยเหลือต่าง ๆ มายังไนเจอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการส่งทหารเข้ามาประจำการอยู่ในไนเจอร์ราว 1,100 นาย ซึ่งการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของฐานทัพสหรัฐฯ และฝรั่งเศสในไนเจอร์

นอกจากนี้ ไนเจอร์ยังเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับภารกิจรักษาสันติภาพในประเทศมาลี ที่อยู่ติดกันอีกด้วย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ตัดสินใจยุติภารกิจดังกล่าว และเตรียมถอนกำลังทหารจำนวน 13,000 นายออกจากมาลี การเกิดรัฐประหารในประเทศไนเจอร์ จึงทำให้การถอนกำลังทหารเหล่านี้ จะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นกับประเทศไนเจอร์ในครั้งนี้ จึงนับเป็นครั้งที่ 6 ของการรัฐประหารในประเทศในแถมแอฟริกาตะวันตก ตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมาที่มีการก่อรัฐประหารในประเทศมาลี บูร์กินาฟาโซ และกีนี

นั่นทำให้ฝรั่งเศสต้องย้ายกำลังทหารจากมาลีมายังไนเจอร์ ในขณะที่เยอรมนีมีแผนจะย้ายในช่วงปลายปีนี้

ความสั่นคลอนเพิ่มเริ่มต้น – ฝรั่งเศสหวั่นใจหนักสุด

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ต่างมุ่งเป้าไปที่ “รัสเซีย” และ “วากเนอร์” ถึงความเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรัฐประหารที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของกองกำลังทหารรับจ้าง “วากเนอร์” ที่ปฏิบัติงานอยู่ในภูมิภาคนี้ ควบคู่กับกลุ่มผู้สนับสนุนการก่อรัฐประหารในไนเจอร์ได้ออกมาร่วมตัวกัน และมีการชูธงชาติรัสเซีย พร้อมเผาธงชาติฝรั่งเศส จึงทำให้หลายฝ่ายอดตั้งข้อสังเกตุที่เกิดขึ้นไม่ได้

แต่สหรัฐฯ ได้ออกมาระบุ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ยังคงไม่มีข้อบ่งชี้ว่า วากเนอร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในครั้งนี้ แต่ตั้งข้อสังเกตการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นว่า “เป็นไปอย่างราบรื่น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมถึงยูเอ็น กังวลต่อการก้าวขึ้นมาของผู้นำประเทศไนเจอร์คนใหม่ ที่อาจจะ “ย้ายค่าย” ออกห่างชาติตะวันตกและไปใกล้ชิดกับรัสเซียมายิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ บูร์กินาฟาโซและมาลี นั่นจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ไม่สู้ดีนัก

นอกจากนี้ หนึ่งในความกังวลที่เกิดขึ้นคือ การที่ไนเจอร์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งแร่ยูเรเนียมอยู่เป็นจำนวนมาก และปริมาณของแร่ยูเรเนียมราว 7% ที่ออกสู่ตลาดโลกเกิดขึ้นที่ “ไนเจอร์”

ซึ่งฝรั่งเศสได้มีการลงทุนในเหมืองยูเรเนียมอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไนเจอร์ เพื่อสกัดยูเรเนียมและนำไปใช้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ในประเทศ การเกิดรัฐประหารขึ้นในครั้งนี้ จึงเลี่ยงไม่จะสร้างความหวั่นวิตกให้กับฝรั่งเศสอย่างมาก

แม้ในขณะนี้ รัฐบาลทหารของไนเจอร์ยังคงระบุว่า เหมืองยูเรเนียมและขบวนขนย้ายยูเรเนียมของฝรั่งเศสยังคงได้รับการรับรองและคุ้มครองอยู่ก็ตาม แต่ยังไม่มีใครรับประกันในอนาคตว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

รัสเซีย ผู้มีบทบาทในแอฟริกาที่มากขึ้น

ในขณะที่ไนเจอร์มีเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุม Russia-Africa summit โดยสหรัฐฯ และชาตินาโตมองว่า รัสเซียกำลังขยายอิทธิพลของตนเองมากขึ้นในแอฟริกา

โดยในการประชุม Russia-Africa summit ที่เกิดขึ้นนั้น ได้ข้อสรุปสำคัญ ๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะการที่รัสเซียให้คำมั่นในการจัดหาธัญพืชให้กับบูร์กินาฟาโซ, ซิมบับเว, มาลี, โซมาเลีย แอฟริกากลาง รวมถึง เอริเทรีย ประเทศละ 2.5 – 5 หมื่นตัน เพื่อช่วยเหลือปัญหาความอดอยากในภูมิภาค ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียยุติข้อตกลงส่งออกธัญพืชยูเครนและรัสเซีย ภายหลังจากการโจมตีสะพานไครเมีย เมื่อ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ยุโรป กำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลทหารของไนเจอร์ในขณะนี้ว่า สหภาพยุโรปอาจจะมีการระงับความช่วยเหลือต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ในประเทศไนเจอร์ย่ำแย่ลงไปอีก

ในขณะที่ประชาชนชาวไนเจอร์ที่สนับสนุนการรัฐประหารในครั้งนี้ ต่างออกมาขับไล่ฝรั่งเศสออกจากประเทศ โดยระบุว่า ต้องการให้ฝรั่งเศสถอนทหารและฐานทัพออกจากไนเจอร์ และไนเจอร์ไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสดูแลความปลอดภัยให้อีกแล้ว


ข้อมูล –


ข่าวที่เกี่ยวข้อง