ภายหลังความวุ่นวายในประเทศกัมพูชาก่อนที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองในประเทศ ฮุน เซน และเฮง สัมริน ได้ร่วมกันก่อตั้งขบวนการกู้ชาติกัมพูชานช่วงปี พ.ศ. 2521 ภายใต้การหนุนหลังจากเวียดนาม ทำให้ฮุน เซนได้ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งสำคัญ ๆ ของประเทศ ก่อนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2528
และนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นหนึ่งในผู้นำไม่กี่คนบนโลกที่ดำรงตำแหน่งในนายกฯ ที่ยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ แต่ในวัย 70 ปี ฮุน เซน ก็ได้เตรียมที่จะส่งไม้ต่อให้กับ “ฮุน มาเนต” บุตรชาย เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ภายหลังจากได้มีการประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นี้
…
ฮุน มาเนต เป็นใคร
ฮุน มาเน็ต บุตรชายคนโต ของสมเด็จฮุน เซน เกิดเมื่อปี 2520 ในจังหวัดกำปงจาม ภายหลังจากได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในกรุงพนมเปญ ก็ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในโรงเรียนเตรียมทหารที่ดีที่สุดในโลก และกลายเป็นชาวกัมพูชาคนแรกของประเทศที่จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ ก่อนที่จะไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ ในสหรัฐฯ และปริญญาเอกในอังกฤษ
ภายหลังจากเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยเสต์พอยต์ ฮุน เซนก็เริ่มปูทางเข้าสู่อำนาจด้วยการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการของกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติกัมพูชาตั้งแต่ปี 2551
หนึ่งในเหตุการณ์ที่คนไทยรู้จักกับ ฮุน มาเนต คือการปรากฎตัวเป็นรองผู้บัญชาการกองกำลังในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างไทยและกัมพูชาในช่วงปี 2551 – 2554
ในปี 2561 ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ฮุน เซนได้เริ่มปูทางของฮุน มาเนตที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อสืบทอดอำนาจด้วยการปรับตำแหน่งให้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพในตำแหน่งพลเอก
และในปี 2564 เส้นทางของฮุน มาเนตก็ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง หลังจากฮุน เซนได้กล่าวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกว่า ฮุน มาเนตจะลงสมัครรับเลือกตั้ง และเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไปของกัมพูชา
นอกจากนี้ การปรากฎตัวของฮุน มาเนตกับผู้นำประเทศ หรือแขกคนสำคัญของกัมพูชาในช่วงหลังก็ปรากฎตัวบ่อยครั้งมากขึ้น ถือเป็นการสงสัญญาณที่ชัดเจนในการส่งต่ออำนาจจากฮุน เซน สู่ ฮุน มาเนตอย่างชัดเจน
…
ออกจากเงาของฮุน เซนผู้พ่อ
หลังจากเหตุการณ์ข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ในช่วงปี 2554 ได้ยุติลง กระแข่าวของฮุน มาเนตดูจะเงียบหายไป ไม่ได้ปรากฎตัวเป็นประเด็นมากเท่าใด นัก แต่ก็ค่อย ๆ มีกลับมาปรากฎตัวบนหน้าสื่อฯ มาขึ้นในระยะหลัง ท่ามกลางกระแสข่าวการก้าวลงจากอำนาจของสมเด็จฮุน เซนผู้พ่อ
ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้ การปรากฎตัวของฮุน มาเนต ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีภาพลักษณ์ และกระแสการตอบรับที่เป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างดี ประชาชนชาวกัมพูชาให้การสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้วยความรู้สึกว่า เป็นคนรุ่นใหม่ เรียนจบจากต่างประเทศ ทำให้ชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อยหวังว่า หากฮุน เซนส่งต่ออำนาจให้กับฮุน มาเนต ประเทศกัมพูชาอาจจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการที่ฮุน มาเนต เคยไปเรียนในต่างประเทศเป็นเวลานาน เข้าใจโลกในยุคใหม่มากกว่า ฮุน เซนผู้พ่อ
นอกจากนี้ การวางตัวให้ฮุน มาเนตปรากฎตัวร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่านงานภาคประชาสังคมต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น เช่น การดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการทุนการศึกษาสมเด็จเดโช ฮุน เซน หรือการก่อตั้งสมาคมแพทย์อาสาสมัครเยาวชนสมเด็จเดโช ฮุน เซน ที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา
ก้าวต่อไปของฮุน มาเนต
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ การศึกษาดี เรียนจบจากต่างประเทศ แต่การออกจากภายใต้เงาของผู้เป็นพ่อนั้น ไม่ได้ง่ายนัก กลุ่มขั้วฝ่ายค้านและคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ยังคงมองว่า แม้ฮุน มาเนตจะขึ้นมาเป็นผู้นำสืบทอดอำนาจ นั่นจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรให้กับประเทศมากนัก เห็นได้จากท่าทีที่ค่อนข้างแข็งกร้าว ต่อการขั้วฝ่ายค้าน
แนวนโยบายยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของฮุน เซนต่อไปอีกหลายปี เนื่องจากประสบการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับ ฮุน เซนผู้เป็นพ่อที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน
ที่สามารถกุมอำนาจในฐานะผู้นำประเทศมาอย่างยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษท่ามกลางข้อครหามากมาย ซึ่งที่ผ่านมา ฮุน เซนได้ดำเนินมาตรการที่แข็งกร้าวต่อฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามของตนเองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมแกนนำฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาต่าง ๆ นั่นทำให้ แม้ว่า ฮุน เซนอาจจะก้าวลงจากตำแหน่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่หลายฝ่ายยังเชื่อว่า ฮุน เซนยังจำเป็นจะต้องกุมอำนาจบังคับบัญชาต่าง ๆ ผ่านฮุน มาเนตบุตรชายเช่นเดิม แม้ว่าจะแถลงในวันนี้ (26 ก.ค.) ว่า จะเปิดทางให้ฮุน มาเนตได้บริหารประเทศอย่างอิสระก็ตาม
ยังไม่นับบทบาทสำคัญ ๆ บนเวทีโลกทั้งความสัมพันธ์กับเวียดนามที่มีมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนระหว่างสองประเทศที่ยังคงมีอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าวมากนัก ด้วยการดำเนินการของรัฐบาลกัมพูชาภายใต้การปกครองของฮุน เซน
ในขณะที่ความสัมพันธ์กับจีนนั้น ที่ผ่านมาฮุน เซน ได้พยายามผลักดันฮุน มาเนตมากขึ้น โดยการพาฮุน มาเนตร่วมเดินทางไปพบปะกับผู้นำจีนมาแล้ว รวมถึงการพบปะผู้นำคนสำคัญคนอื่น ๆ อีกหลายคน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในแถลงการประกาศก้าวลงจากตำแหน่งของสมเด็จฮุน เซน หลังการนั่งตำแหน่งผู้นำของกัมพูชามานานกว่า 38 ปี ระบุว่า ฮุน มาเนต ได้คะแนนเสียงจากประชาชนชาวกัมพูชา มากเพียงพอที่จะไม่ต้องสนใจกระแสของต่างชาติ แต่การปรากฎตัวของฮุน มาเนต กับผู้นำคนสำคัญที่มาเยี่ยมเยือนกัมพูชานั้น ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ฮุน เซน ต้องการให้บุตรชาย มีบทบาทในสายตาชาวโลกด้วย
และสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์อย่างมาก ดังนั้น การก้าวขึ้นมารับตำแหน่งของฮุน มาเนต จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าของกัมพูชาไปหรือไม่ ปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา จะดีขึ้น หรือร้อนระอุอีกครั้งนั้น
สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ยังคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า ฮุน มาเนตจะก้าวออกจากเงาขอฮุน เซน ได้มากน้อยเพียงใด