คัดลอก URL แล้ว
อินเดีย-ปากีฯ เตรียมรับมือพายุไซโคลนรุนแรง “บิปาร์จอย”

อินเดีย-ปากีฯ เตรียมรับมือพายุไซโคลนรุนแรง “บิปาร์จอย”

อินเดีย และปากีสถาน ได้มีการประกาศแจ้งเตือนประชาชน ในพื้นที่แนวเส้นทางพายุไซโคลน “บิปาร์จอย” ให้อพยพไปยังที่ปลอดภัย และยังมีการเตรียมมาตรการรับมือพายุไซโคลนรุนแรงลูกนี้

พายุไซโคลนบิปาร์จอย เป็นพายุไซโคลนที่ก่อตัวขึ้นในทะเลอาหรับก่อนที่ที่จะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องกลายเป็น พายุไซโคลนรุนแรง (Extremely Severe Cyclonic Storm) มีจุดศูนย์กลางอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Porbandar ของรัฐคุชราต ห่างออกไปราว 290 กม. และคาดว่า พายุไซโคลนรุนแรง บิปาร์จอย จะพัดขึ้นฝั่งบริเวณเมืองมันดวีในรัฐคุชราตและการาจีในปากีสถาน ในช่วงเย็นของวันที่ 15 มิ.ย. นี้

กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียได้ประเมินว่า พายุไซโคลนบิปาร์จอยจะมีความเร็วลมสูงสุดราว 125-135 กม./ชม. และมีลมกระโชกแรงถึง 185 กม./ชม. ซึ่งในความรุนแรงระดับนี้จะส่งผลให้ต้นไม้หักโค่น สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงได้รับความเสียหายอย่างมาก และจากกระแสลมที่รุนแรง ทำให้คาดว่า จะทำให้เกิดคลื่นซัดฝั่งสูงราว 9 – 14 เมตร ซึ่งจะทำให้บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บริเวณริมชายฝั่งได้รับความเสียหาย

สำหรับพื้นที่ตามแนวเส้นทางพายุไซโคลนบิปาร์จอยพัดผ่านจะมีมีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้าง โดยประเมินว่า อาจจะมีฝนตกหนักถึง 200 มม. ในบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วม รวมถึงดินถล่มได้

พายุที่ก่อตัวนานที่สุดในรอบกว่า 40 ปี

พายุไซโคลนบิปาร์จอยได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพายุที่ก่อตัวและมีอายุอยู่ในทะเลอาหรับนายกว่า 126 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นสถิติพายุที่ก่อตัวและพัดอยู่ในทะเลอาหรับที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกไว้เมื่อปี 1982

ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนระบุว่า ความรุนแรงของพายุลูกนี้ ถือเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเกิดเอลนิโญ ทำให้พายุก่อตัวขึ้นในทะเลเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีความถี่มากยิ่งขึ้น จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นที่จะเติมไอน้ำให้กับพายุได้มากขึ้น และรวมตัวกันกลายเป็นพายุไซโคลนรุนแรง

โดยในช่วงปี 1982 – 2019 พบว่า พายุไซโคลนที่ก่อตัวขึ้นในทะเลอาหรับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 52% เมื่อเทียบกับในช่วง 20 ปีก่อนหน้า

อินเดียอพยพคนแล้วเกือบ 4 หมื่น

จากความรุนแรงของพายุโซโคลนบิปาร์จอย ทำให้ทางการอินเดียได้มีการสั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในรัฐคุชราต กว่า 37,700 ราย ออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวแล้ว อย่างไรก็ตามยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ปฏิเสธการอพยพไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย และเลือกทั้งจะยังคงอยู่ในพื้นที่

ซึ่งแม้ว่า ในขณะนี้ พายุโซโคลนบิปาร์จอยยังไม่ได้พัดขึ้นฝั่ง แต่ก็ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 24 ราย จากการที่ถูกต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างพังถล่มลงมาทับ และจมน้ำเสียชีวิต

ทางด้านของรถไฟสายตะวันตกได้มีการยกเลิกการให้บริการไปแล้ว 95 ขบวน ทั้งขบวนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนท่าเรือต่าง ๆ ในรัฐคุชราต ก็ได้ระงับการให้บริการทั้งหมด

นอกจากนี้ยังคาดว่า จะมีโรงพยาบาลอีกกว่า 400 แห่งได้รับผลกระทบ ทำให้ทางการอินเดียได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับทีมกู้ภัยไว้อีกกว่า 30 ทีมและอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ รวมถึงทีมแพทย์ และสำรองยาที่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ปากีสถานเร่งอพยพประชาชน

ทางการปากีสถานได้สั่งอพยพประชาชนราว 8 หมื่นคน ออกจากพื้นที่ที่พายุจะพัดขึ้นฝั่ง เนื่องจากผลกระทบจากพายุโซโคลนที่รุนแรง ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าว เป็นบริเวณที่ตั้งของชุมชนที่ยากจนที่สุดในปากีสถาน บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ดังกล่าว ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านทานกระแสลมได้

อย่างไรก็ตาม ทางการปากีสถานก็ประสบปัญหาจากการที่ประชาชนจำนวนมากยังคงไม่ยอมอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง ทำให้ทางการปากีสถานได้มีการแจ้งย้ำว่า ประกาศดังกล่าว ไม่ใช่การขอความร่วมมือ แต่เป็นคำสั่งให้มีการอพยพ โดยให้ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนาในพื้นที่แจ้งและทำความเข้าใจกับประชาชนที่ยังคงปักหลักอยู่ในที่ตั้ง

ซึ่งแม้ว่า ในขณะนี้ พายุยังคงไม่ได้พัดขึ้นฝั่ง แต่ผลกระทบจากกระแสลมแรง และฝนที่ตกหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตในปากีสถานแล้ว 27 ราย


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง