คัดลอก URL แล้ว
IEA  ระบุ พลังงานหมุนเวียนพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์

IEA ระบุ พลังงานหมุนเวียนพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์

สํานักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ออกรายงานเกี่ยวกับการแนวโน้มตลาดพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ปี 2023 และ 2024 พบกว่า การแนวโน้มการใช้พลังงานหมุนเวียนจากแหล่งต่าง ๆ ในโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยคาดว่าทั่วโลกจะมีการใช้พลังงานที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพิ่มขึ้นเป็น 440 กิกะวัตต์ (GW)

โดยในปี 2023 นี้ คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 107 GW ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาก โดยคาดการณ์ว่า เป็นผลมาจากปัญหาวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงยุโรป ที่ส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 55% ของพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก

ภาพ – IEA

ในขณะที่สหรัฐฯ และอินเดีย ก็มีแนวโน้มของการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งในปี 2023 นี้ พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกมีมากขึ้น และทำลายสถิติที่เคยมีมา ปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ได้ทั้งหมดมากกว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของเยอรมนี และสเปนรวมกัน

ซึ่งการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 และการเกิดวิกฤติพลังงานในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีโรงไฟฟ้าหมุนเวียนขนาดใหญ่ทั้งแบบโรงงานผลิตขนาดใหญ่ และโซลาร์รูฟท็อปในภาคประชาชน

ภาพ – IEA

พลังงานแสงอาทิตย์มากสุด

โดยในช่วงปี 2023 นี้ คาดว่า พลังงานแสงอาทิตย์จะโตมากถึง 65% ทั้งในภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ รวมทั้งในภาคประชาชนที่คาดว่า จะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤติพลังงานจากการที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตีต่อยูเครน ซึ่งหลายชาติได้หันมามองหาพลังงานชนิดอื่น เพื่อทดแทนพลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ในขณะที่พลังงานจากลมก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเติบโตจากปี 2020 ถึง 70% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศจีนได้เดินหน้าโครงการพลังงานทางเลือกจากลมมากขึ้นเช่นกัน เช่นเดียวกับสหรัฐฯ และยุโรปที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานลมนอกชายฝั่ง

IEA คาดว่า พลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หากหลายชาติร่วมมือกันเร่งกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นก็อาจจะส่งผลให้กำลังผลิตที่เกิดขึ้นในปีนี้ สูงกว่า 500 GW อย่างไรก็ตามยังคงมีความไม่แน่นอนที่ส่งผลต่อปัจจัยการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ทั้งภาคเอกชน และประชาชน

เช่นเดียวกับที่สหรัฐ มีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงในการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ในปี 2022 สืบเนื่องจากมาตรการทางการค้าที่เข้มงวด และข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าเช่น แผงโซลาร์เซลล์จากจีน ทำให้การเติบโตลดลงในช่วงดังกล่าว ก่อนที่จะกลับมาโตอีกครั้งในปีนี้


ข้อมูล – https://iea.blob.core.windows.net/assets/67ff3040-dc78-4255-a3d4-b1e5b2be41c8/RenewableEnergyMarketUpdate_June2023.pdf


ข่าวที่เกี่ยวข้อง