ผลสำรวจจากสถาบันการแพทย์ของญี่ปุ่นพบการได้รับควันบุหรี่โดยไม่ได้สูบ (passive smoking) บนท้องถนน ทำให้ประชาชนในญี่ปุ่นรู้สึกอึดอัดไม่สบายมากที่สุด ซึ่งตอกย้ำความจำเป็นของการเพิ่มความพยายามป้องกันการได้รับควันบุหรี่โดยไม่ได้สูบในพื้นที่กลางแจ้ง
ศูนย์โรคมะเร็งแห่งชาติญี่ปุ่นดำเนินการสำรวจทางออนไลน์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นคนอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวนราว 2,000 คน ซึ่งแบ่งเป็นผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่อย่างละ 1,000 คน
การสำรวจพบร้อยละ 77.2 ของผู้ไม่สูบบุหรี่ และร้อยละ 36.2 ของผู้สูบบุหรี่ ตอบว่าการได้รับควันบุหรี่โดยไม่ได้สูบหรือควันบุหรี่มือสอง (second-hand smoking) เป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ
ส่วนสถานที่ที่กลุ่มสำรวจเผชิญความอึดอัดไม่สบายจากควันบุหรี่มือสอง พบผู้ไม่สูบบุหรี่ร้อยละ 73.4 ตอบว่า “ถนน” และร้อยละ 47.8 ตอบว่า “ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ ศูนย์อาหาร และสถานที่อื่นๆ ที่มีการรับประทานอาหาร” ส่วนผู้สูบบุหรี่ราวร้อยละ 64.1 ตอบว่า “ถนน” และร้อยละ 34.3 ตอบว่า “พื้นที่สูบบุหรี่กลางแจ้ง”
อนึ่ง ญี่ปุ่นบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแพร่กระจายของควันบุหรี่มือสองด้วยการห้ามสูบบุหรี่ในที่ร่มของร้านอาหาร สำนักงาน และสถานที่อื่นๆ ที่มีคนจำนวนมาก เมื่อเดือนเมษายน 2020
ทว่าศูนย์โรคมะเร็งฯ ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น บ่งชี้ความจำเป็นของการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ตามพื้นที่กลางแจ้ง
โทโมะยาสุ ฮิราโนะ ฝ่ายวิจัยนโยบายยาสูบของศูนย์ฯ ซึ่งดำเนินการสำรวจนี้ กล่าวว่าประชาชนควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ยามอยู่กับผู้อื่น โดยการจำแนกสถานการณ์ที่ไม่ควรสูบบุหรี่ เช่น เมื่ออยู่ใกล้เด็ก ถือเป็นสิ่งจำเป็น
ที่มา – ซินหัว