คัดลอก URL แล้ว
นักวิทย์ฯ กังวล โลกร้อนขึ้น แต่ชั้นบรรยากาศกลับเย็นลง หวั่นกระทบโอโซน

นักวิทย์ฯ กังวล โลกร้อนขึ้น แต่ชั้นบรรยากาศกลับเย็นลง หวั่นกระทบโอโซน

ผลการศึกษาเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศล่าสุด ชั้นบรรยากาศของโลกเย็นลงมากกว่าอุณหภูมิที่ผิวโลกที่ร้อนขึ้น ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้น สร้างความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชั้นโอโซนและสภาพอากาศของโลก

นักวิทยาศาสตร์เคยมีการตั้งข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศบนพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น และคาดว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงขึ้นไป แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการตรวจวัดเพื่อยืนยันแนวคิดดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

แต่ผลการศึกษาล่าสุด พบว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับอุณหภูมิที่เกิดขึ้นบนชั้นบรรยากาศโลกได้อย่างแม่นยำและสังเกตการเปลี่ยนแปลงได้ละเอียดมากขึ้นโดยเซ็นเซอร์ดาวเทียม ส่งผลให้สามารถยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้น และมีคำถามอีกจำนวนมากตามมาจากการรายงานนั้น

รายงานที่ตีพิมพ์ล่าสุด ในวารสาร PNAS โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า Ben Santer ได้สร้างแบบจำลองด้านสภาพภูมิอากาศที่สามารถระบุ ร่องรอยของมนุษย์ ที่ส่งผลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและกำลังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศ ที่อาจจะส่งผลต่อชั้นโอโซนที่ปกป้องโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอื่น ๆ

สิ่งที่เรารู้กันทั่วไป คือ “โลกร้อนขึ้น”

ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกนั้นประกอบกันขึ้นหลาย ๆ ชั้นแตกต่างกันไตปามระดับความสูงจากพื้นผิวโลก โดยชั้นโทรโพสเฟียร์ถือเป็นชั้นที่อยู่ล่างสุด และได้รับผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงก๊าซ และสารเคมีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ มากที่สุด

ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงมักจะถูกนึกถึงมากที่สุด ซึ่งการปล่อยก๊าซมากกว่า 40 พันล้านตันต่อปีกําลังทําให้โทรโพสเฟียร์ร้อนขึ้นจากการที่ก๊าซดูดซับและปล่อยรังสีดวงอาทิตย์อีกครั้ง ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้กันมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว

แต่ก๊าซ และความร้อนที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ชั้นโทรโพสเฟียร์ เท่านั้น แต่กลับส่งผลกระทบขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศอื่น ๆ ที่อยู่สูงกว่า

ชั้นบรรยากาศ “กำลังหดตัว”

Mlynczak ได้รายงานผลการศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า ข้อมูลดาวเทียมเพิ่งเปิดเผยว่าระหว่างปี 2002 ถึง 2019 เมโสสเฟียร์และเทอร์โมสเฟียร์ที่มีอุณหภูมิลดลงถึง 1.7 องศาเซลเซียส เร็วกว่าสภาพวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นราว 2-3 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังพบว่า ชั้นบรรยากาศเมโสสเฟียร์และด้านช่างของชั้นเทอร์โมสเฟียร์ของโลกหดตัวลงราว 342 เมตรจากผลกระทบของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ทางด้านของ Petr Pisoft ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์อีกรายหนึ่ง ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากของ NASA และพบว่า ชั้นสตราโตสเฟียร์ลดลงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์หรือ 1,300 ฟุตตั้งแต่ปี 1980

การหดตัวที่เกิดขึ้นในชั้น สตราโตสเฟียร์นั้น ทำให้มีความหนาแน่นที่น้อยลง และดาวเทียมต่าง ๆ ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศนี้จะได้รับประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะมีอายุการใช้งานได้นานขึ้น แต่ในผลเสีย จะส่งผลให้ขยะอวกาศที่อยู่ในชั้นนี้ ก็จะมีอายุนานขึ้นด้วย และเสี่ยงที่จะชนเข้ากับดาวเทียมที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้นด้วยนั่นเอง

รูรั่วของโอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์เหนือ แอนตาร์กติก
(ภาพ – นาซา)

ความกังวลต่อ “โอโซน”

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์น่ากังวลที่สุด ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องของดาวเทียม แต่กลับเป็นเรื่องของชั้นโอโซนที่อยู่ด้านล่างของชั้นสตราโตสเฟียร์ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องโลกจากรังสีที่เป็นอันตรายของดวงอาทิตย์

ที่ผ่านมาพบว่า การใช้สารเคมีบางอย่างเช่น CFCs ส่งผลให้โอโซนบางลงและเกิดรอยรั่วได้ นำไปสู่การรณรงค์งดใช้สาร CFCs ทั่วโลกในช่วงหลายปีก่อน อย่างไรก็ตามผลการศึกษาล่าสุด เมื่อปี 2020 ยังพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ยังคงส่งผลให้เกิดการสูญเสียโอโซน

นักฟิสิกส์ จึงกังวลว่า การปลดปล่อยสารเคมีต่าง ๆ อาจจะไม่ได้เป็นปัญหาเดียวที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นบนผิวโลก เนื่องจากมีรายงานการพบ อุณหภูมิของชั้นสตราโตสเฟียร์อุ่นขึ้นอย่างฉับพลัน เมื่อปี 2020 และส่งผลให้อุณหภูมิของชั้นสตราโตสเฟียร์มีอุณหภูมิสูงขึ้นได้มากถึง 50 องศาเซลเซียส ภายในเวลา 2-3 วัน

ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อกระแสลมกรดในชั้นโทรโพสเฟียร์ ซึ่งกระแสลมกรดนี้มีผลต่อการขับเคลื่อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพอากาศของโลกมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตั้งฝนตกหนักต่อเนื่อง, สภาพอากาศแล้งจัด รวมถึงอากาศหนาวจัด

คำถามอีกมากมายที่ต้องหาคำตอบ

ซึ่งผลการศึกษาล่าสุดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ยืนยันว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของโลก และก่อให้เกิดคำถามเพิ่มมากขึ้นว่า คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยจากกิจกรรมต่าง ๆ บนผิวโลก ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสภาพอากาศของโลก

เนื่องจากสภาพอากาศในชั้นเมโสสเฟียร์และเทอร์โมสเฟียร์ มีอุณหภูมิลดลง ในขณะที่ชั้นสตราโตสเฟียร์ ก็เผชิญกับภาวะอุ่นขึ้นอย่างฉับพลัน และบางลง

การตรวจวัดและแบบจำลองที่แม่นยำมากขึ้น จะช่วยนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างแบบจำลอง และคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากขึ้น ก่อนที่จะสายเกินไป และโลกไปอยู่ในจุดที่ไม่อาจหวนคืนกลับสู่ปรกติได้


ข้อมูล –


ข่าวที่เกี่ยวข้อง