คัดลอก URL แล้ว
เรืองไกร ร้อง กกต. ตรวจสอบการเซ็น MOU ของ 8 พรรค

เรืองไกร ร้อง กกต. ตรวจสอบการเซ็น MOU ของ 8 พรรค

KEY :

วันนี้ (24 พ.ค. 66) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พลังประชารัฐ เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคการเมืองอีก 7 พรรค ที่ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยอาจเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ และสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดหรือการครอบงำใด ๆ และที่สำคัญคือห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคครอบงำหรือชี้นำไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

นายเรืองไกร ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น โดยเฉพาะข้อบังคับพรรคก้าวไกลเมื่อปี 2563 ไม่พบการกำหนดที่เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าพรรคได้มีข้อกำหนดไว้ชัดเจน จึงเห็นได้ว่าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคที่ได้มีการเซ็น MOU ร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล อาจขัดต่อข้อบังคับของพรรคก้าวไกล

เนื่องจากไม่พบรายละเอียดการกำหนดที่เกี่ยวกับการลงนามดังกล่าว และยังอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจได้ว่าแต่ละพรรคการเมืองต่างฝ่ายต่างยินยอมให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใชสมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้ขาดความอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

จึงมีเหตุอันควรให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 28 แห่ง พ.ร.ป.ส่าด้วยพรรคการเมือง และเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92(3) ที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งการยื่นร้อง กกต.ในวันนี้อาจนำไปสู่การยุบทั้ง 8 พรรค เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเงื่อนไขในการเซ็น MOU เป็นการยินยอมให้ครอบงำ เพราะเอกสารที่เซ็นทั้ง 8 ชื่อ ลงนามโดยหัวหน้าพรรคทั้งหมด

นอกจากนี้นายเรืองไกร ยังได้นำเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ประกอบด้วย สำเนารายชื่อผู้ถือหุ้นไอทีวี 18 ปีตั้งแต่ปี 2549 – 2566 ตลอดจนงบกำไรขาดทุน มาให้ข้อมูลต่อ กกต. เพื่อขอให้กกต. ตรวจสอบเพิ่มเติมว่ากรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ในขณะที่สมัครับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและยินยอมให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่


ภาพ – กฤติกร จิตติอร่ามกูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง