คัดลอก URL แล้ว
คาด ฤดูฝนปีนี้มาช้า ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% ระวังฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

คาด ฤดูฝนปีนี้มาช้า ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% ระวังฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

ฤดูฝนปี 2566 นี้ คาดว่า จะมีช้ากว่าปรกติเล็กน้อย มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 5% และมีฝนทิ้งช่วงในเดือนมิ.ย. – ก.ค. 2566 แต่ ส.ค. – ก.ย. ฝนตกหนักถึงหนักมาก เตรียมรับมือน้ำท่วม

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศการคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ในปี 2566 นี้ โดยคาดว่า ฤดูฝนของไทยในปีนี้ จะเริ่มประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งมาช้ากว่าปรกติเล็กน้อย และจะไปสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566

สำหรับปริมาณน้ำฝนในปีนี้คาดว่า ปริมาณน้ำฝนรวมทั้งประเทศในปี 2566 นี้จะน้อยกว่า ค่าเฉลี่ยปรกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 และน้อยกว่าในปี 2565 ซึ่งในปีที่แล้วนั้น มีปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนรวมมากกว่าค่าเฉลี่ยปรกติร้อยละ 14 และมีปริมาณฝนรวมทั้งปีสูงกว่า ค่าเฉลี่ย ร้อยละ 24

สำหรับฤดูฝนในปีนี้ ทั้งในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงเดือนกรกฎาคม) และช่วงครึ่งหลังฤดูฝน (เดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5

แต่จะมีฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ทำให้พื้นที่แล้งซ้ำซาก บริเวณนอกเขตชลประทานอาจจะเกิดการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ในหลายพื้นที่

ในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนนั้น จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวรประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้

โดยในบางช่วงนั้นจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ส่วนพายุหมุนเขตร้อนที่จะเคลื่อนผ่านประเทศไทยนั้น จะมีลักษณะเป็นพายุลมแรง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่

ส่วนบริเวณชายฝั่งก็จะมีคลื่นลมแรง ความสูงของคลื่นราว 3-4 เมตรในบางช่วง จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงดังกล่าว

ลักษณะอากาศโดยทั่วไปในฤดูฝนปี 2566 นี้

ช่วงประมาณปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ กับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง

เว้นแต่ บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ประกอบกับในบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ในบางช่วงจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวบริเวณทะเลอันดามัน แล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็น พายุดีเปรสชั่นหรือพายุไซโคลน และเคลื่อนตัวเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย

จากนั้น ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง และจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน

ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน

สำหรับช่วงตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ประเทศไทยจะกลับมามีฝนตกชุกหนาแน่นอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง

ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย จะกลับมามีกำลังแรงและต่อเนื่อง ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนในบางช่วง

ส่วนในเดือนตุลาคม บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงและเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน จะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตอนบนของภาคเหนือ ประกอบกับในบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน นอกจากนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย จะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมแทน


ที่มา – กรมอุตุนิยมวิทยา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง