KEY :
- ในภาคเหนือ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะตอนบนของภาค
- ซึ่งจากรายงานเมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา พื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นสูงที่สุด 37 จาก 50 อันดับแรก อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รองลงมาเป็นแม่ฮ่องสอน เชียงราย
- ซึ่งในภาคเหนือสภาพการระบายอากาศทำได้ไม่ดีนัก มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ร่วมกับการเผาทั้งในและนอกพื้นที่ ที่ยังอยู่ในระดับที่สูง
- สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผลกระทบจากฝุ่นควันที่ข้ามมาจากประเทศใกล้เคียงเพิ่มเติม ทำให้บางพื้นที่มีค่าฝุ่นสูงขึ้น
- ภาคกลางยังคงอยู่เกณฑ์ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ควรเฝ้าระวังในช่วง 2-7 เม.ย. ที่การระบายอากาศจะทำได้ลดลง มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ทำให้ฝุ่นควันสะสมตัวได้มากขึ้น
…
ในภาคเหนือ สถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ยังคงอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ซึ่งเป็นผลมาจากการระบายอากาศที่อยู่ในเกณฑ์ “อ่อน/ดี” ในระยะนี้ มีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น อากาศไม่ยกตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตร เผาป่า ยังคงสะสมตัวอยู่
จากรายงานการตรวจวัดปริมาณฝุ่นจากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ ( 1 เม.ย. ) พบว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในพื้นที่จ.เชียงใหม่
และใน 50 อันดับแรกของพื้นที่ที่พบฝุ่นสูงที่สุดในไทย พบว่า เป็นพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ มากถึง 37 จุดด้วยกัน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.เชียงดาว
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/04/compare-pm25-apr1.jpg)
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะนี้ มีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ “ดี/ดีมาก” อากาศยกตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ฝุ่นควันสะสมตัวได้น้อยลง แต่บริเวณด้านตะวันออกของภาคได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันที่ลอยข้ามมาจากทางฝั่งของประเทศลาวและกัมพูชา จากอิทธิพลของกระแสลมตะวันออกเฉียงใต้
บริเวณภาคกลางในขณะนี้ การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี-ดีมาก อากาศยกตัวสูง ร่วมกับกระแสลมใต้ที่มีกำลังค่อนข้างแรง ช่วยพัดฝุ่นควันไม่ให้สะสมในพื้นที่ แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันที่ลอยข้ามมาจากด้านตะวันตกของภาค
นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 2-7 เม.ย. การระบายอากาศบริเวณภาคกลางจะลดลงอยู่ในเกณฑ์ “อ่อน/ดี” และมีภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้นส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 สามารถสะสมตัวได้
สำหรับภาคตะวันตกของประเทศ ยังคงเป็นผลกระทบมาจากการเผาทั้งในและนอกประเทศ ร่วมกับกระแสลมตะวันตกที่พัดฝุ่นควันเข้ามา
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/04/PM25-2023-04-01-1024x622.jpg)
คุณอาจจะสนใจเรื่องนี้
– พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น
…
กรุงเทพฯ – ปริมณฑลสภาพอากาศดีต่อเนื่อง
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียง โดยยังคงอยุ่ในเกณฑ์อากาศดี เนื่องจากสภาพอากาศเปิด การระบายอากาศทำได้ดี อากาศยกตัวสุงขึ้น ร่วมถึงได้กระแสลมใต้ที่มีกำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นกระจายออกนอกพื้นที่
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/04/image.png)
…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ปริมาณฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | บ้านปางเฟือง ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 982 |
2 | รพ.สต.บ้านปางเฟือง จ.เชียงใหม่ | 915 |
3 | รร.บ้านน้ำฮู ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน | 738 |
4 | หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.5 (ปิงโค้ง) ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 721 |
5 | บ้านหลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 707 |
6 | รพ.สต.บ้านเมืองงาย ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 690 |
7 | สถานบริการสาธารณสุขชุมชนบ้านเมืองนะ จ.เชียงใหม่ | 684 |
8 | วัดบ้านดอนศรีสะอาด ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 683 |
9 | รพ.สต.บ้านปางมะเยา ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 663 |
10 | บ้านปางโม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 663 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความร้อนลดลงต่อเนื่อง
ซึ่งรายงานจุดความร้อนในภูมิภาคทั้งในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1 หมื่นจุด ใกล้เคียงกับเมื่อวานที่ผ่านมา
- เมียนมาร์ 6,424 จุด (ลดลงจาก 7,918 จุด)
- ไทย 3,405 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 2,963 จุด)
- ลาว 2,987 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 1,970 จุด)
- กัมพูชา 343 จุด (เพิ่มขึ้นจาก 356 จุด)
ทำให้สถานการณ์ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตร เผาป่า ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมต่อเนื่อง
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/04/image-859x1024.jpg)
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยในจำนวนทั้งหมดพบอยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 2,784 จุด
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานพบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่
จังหวัด | จำนวนจุดความร้อน | |
---|---|---|
1 | เชียงใหม่ | 508 |
2 | แม่ฮ่องสอน | 379 |
3 | เชียงราย | 335 |
4 | ตาก | 272 |
5 | กาญจนบุรี | 232 |
6 | น่าน | 205 |
7 | ลำปาง | 153 |
8 | พะเยา | 120 |
9 | แพร่ | 120 |
10 | เพชรบูรณ์ | 119 |