ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีทนายชื่อดังที่ได้ออกมาแถลงข่าว ยอมรับว่าเรียกเก็บเงินค่าแถลงข่าว 300,000 บาท กับลูกความเป็นค่าเสี่ยงโดนฟ้องกลับ นอกจากนี้ยังมีการเปิดค่าปรึกษาคดี โดยหากโทรปรึกษาตนเวลา 20 นาที คิด 1,500 บาท หากปรึกษาทีมงานเวลา 20 นาที คิด 1,000 บาท และปรึกษาแบบเจอตัวที่สำนักงานเวลา 30 นาที คิด 3,000 บาท
ทีมข่าว mono29 news สำรวจราคาค่าปรึกษาทนายความจากบริษัทเอกชนผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งได้มีการเขียนราคาค่าบริการเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งราคาโดยประมาณมีดังนี้
1.ค่าปรึกษาทางโทรศัพท์ คิดค่าบริการ 2,000 บาท ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ถัดจากชั่วโมงแรกขึ้นไปคิดค่าปรึกษาชั่วโมงละ 1,000 บาท
2.ค่าปรึกษาที่สำนักงาน คิดค่าบริการครั้งละ 5,000 บาท ต่อครั้งไม่เกิน 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 3 ขึ้นไป คิดชั่วโมงละ 2,500 บาท
3.ค่าบริการในแต่ละคดี
- คดีร้องฝ่ายเดียวค่าบริการ 15,000 บาท
- คดีแพ่งคิดค่าบริการตามทุนทรัพย์ที่ฟ้อง10-15% ของทุนทรัพย์เริ่มต้นที่ 20,000 บาท
- คดีอาญาเริ่มต้นที่ 40,000 บาท
*ข้อมูลการสำรวจอ้างอิงจากเว็บไซต์ www.ทนายไทย.com และ www.auditbkk.com
นอกจากนี้ ทีมข่าวได้พูดคุยกับนายภักดี บุษยะบุตรี อดีตอุปนายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย และผู้บริหารสำนักงานภักดีบุษยบุตรทนายความ ถึงประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้น ในเรื่องของค่าจ้างทนายความในแต่ละคดี เรื่องนี้อดีตอุปนายกสภาทนายความฯ ระบุว่า ค่าจ้างทนายความนั้นเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวว่าจะต้องมีราคาเท่าไหร่ อยู่ที่ความเหมาะสมตามความพึงพอใจ พร้อมระบุว่า ค่าทนายเป็นเรื่องซึ่งตกลงกันระหว่างทนายกับผู้จ้าง โดยต้องเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการปรึกษาทนายความ สำหรับบางแห่งที่มีการให้รับบริการฟรี กับบริษัทที่คิดเงิน ประเด็นนี้นายภักดีระบุว่า เป็นเรื่องของข้อตกลงและความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายเช่นกัน
สำหรับมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น นายภักดีระบุว่า ในฐานะทนายความ ประชาชนได้รับความเดือนร้อนเป็นทุนเดิม เราในฐานะนักกฎหมาย การเรียกเก็บเงินไม่ควรทำให้ประชาชนเดือดร้อนจนเกินควร เบื้องต้นควรอยู่ในกรอบความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ความเหมาะสมนั้นไม่มีตายตัว ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายเช่นกัน
สำหรับประเด็นที่บางคดีสามารถว่าความขึ้นศาลได้ด้วยตนเอง ในทางปฏิบัติจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องจ้างทนายมาว่าความให้เรานั้น เรื่องนี้นายภักดีกล่าวว่า สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย หากจะมาดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายนั้นเป็นเรื่องยาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ทนายความ เพราะทนายความคือคนที่รู้กฎหมาย สำหรับคดีที่ไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความ เช่น คดีหมิ่นประมาท ที่เราจะพบเจอกันได้บ่อย เป็นต้น ส่วนคดีที่มีอัตราโทษสูง เช่น จำคุกตั้งแต่ 15 ปี หรือ 20 ปี ขึ้นไป หรือประหารชีวิต ต้องมีทนายความ หากไม่มีทนายความศาลก็จะจัดหามาให้