คัดลอก URL แล้ว
PM 2.5 เริ่มกลับมาสูงอีกครั้งในหลายพื้นที่

PM 2.5 เริ่มกลับมาสูงอีกครั้งในหลายพื้นที่

หลังจากที่เมื่อวานสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ตอนกล่างของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากสภาพอากาศเปิดมากขึ้น มีกระแสลมแรง ในวันนี้ ปริมาณค่าฝุ่นละอองในอากาศกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในหลายพื้นที่

โดยรายงานของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณค่าฝุ่นละอองในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาพ – ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

โดยปัจจัยที่เกิดระดับของ PM 2.5 ที่สูงขึ้นนั้นสำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นผลมาจากสภาพอากาศปิด และทำให้ฝุ่นควันสะสมตัวในพื้นที่ ซึ่งในกรุงเทพฯ ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้น เป็นฝุ่นควันจะยานพาหนะเป็นหลัก และด้วยอากาศเย็น กระแสลมเริ่มอ่อนลง พื้นที่เป็นตึกสูงจำนวนมาก จึงทำให้ ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นถูกกักเก็บไว้ในอากาศได้ดี

ในขณะที่ต่างจังหวัด พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่มาจากการเผาวัสดุทางการเกษตร หลายจุดเป็นการรายงานการเผาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ร่วมด้วย เมื่อเผชิญกับกระแสลมอ่อน ทำให้ฝุ่นควันจากการเผาเหล่านั้นถูกกักเก็บไว้ นอกจากนี้ ยังคงมีฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากประเทศใกล้เคียงที่พัดข้ามเข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย

ภาพ – ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย

โดยข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ ( 26 ม.ค.) พบว่า 10 จุดตรวจวัดที่พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงที่สุดในประเทศไทย ได้แก่

จุดตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5*
1ตลาดสดบ้านหล่ายแก้ว
ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง ลำพูน
286
2รพ.สต.ค่ายสว่าง
ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู
261
3รพ.สต.บ้านปางมะเยา
ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
230
4สสอ.บ่อพลอย
จ.กาญจนบุรี
198
5รพ.สต.บ้านงิ้วเฒ่า
ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย
196
6รพ.สต.บ้านด่าน
ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน
189
7ศาลากลางจ.หนองบัวลำภู
ต.ลำภู อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู
178
8รร.บ้านห้วยทรายขาว
ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน
177
9บ้านใหม่ปูเลย
ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
175
10รพ. ฮอด
จ. เชียงใหม่
173
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ซึ่งในวันนี้ ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในหลายจุดมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานที่ผ่านมา (25 ม.ค.) ในหลายพื้นที่ด้วยกัน

สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร โดยพบว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในวันนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมงในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 07.00 น. อยู่ที่ 39 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และมีจุดที่พบว่า ค่าฝุ่นละอองเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมงอยู่ในระดับสีส้ม หรือ เริ่มมีผลต่อสุขภาพจำนวน 1 พื้นที่ด้วยกันคือ ที่เขตหนองแขม และมีพื้นที่ที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในระดับสีเหลือง (ปานกลาง) จำนวน 31 จุดด้วยกัน

ในขณะที่รายงานเมื่อเวลา 09.00 น. พบว่า มีพื้นที่ที่มีฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) เพิ่มขึ้นเป็น 3 จุดด้วยกันคือ ที่เขตตลิ่งชัน เขตหนองแขม และเขตคลองสามวา

ในขณะที่ในช่วง 27-28 มกราคม 2566 และ 31 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2566 คาดว่า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล จะสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศปิด กระแสลมนิ่ง มีพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ (พื้นที่ท้ายลม)

ในขณะที่รายงานการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า บริเวณสถานีตรวจวัดที่วิทยาเขตบางเขตเมื่อเวลา 08.00 น. อยู่ที่ระดับสีส้ม หรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว แต่ในภาพรวมเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ยังคงอยู่ในระดับสีเหลือ

ซึ่งภาพรวมของกรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ โดย 10 อันดับแรกที่พบค่าฝุ่นละอองสูงเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมงจากจุดตรวจวัดของกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (26 ม.ค.) ได้แก่

จุดตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5*
1เขตหนองแขม58
2เขตตลิ่งชัน53
3เขตคลองสามวา51
4เขตทวีวัฒนา50
5เขตบางเขน50
6เขตหนองจอก49
7เขตยานนาวา48
8เขตลาดกระบัง48
9เขตบางกอกใหญ่48
10เขตภาษีเจริญ48
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

จุดความรัอนยังพบทั้งในและนอกประเทศ

สำหรับรายงานจุดความร้อนจากดาวเทียม ในระบบ VIIRS ของ GISTDA ของวันที่ 25 ม.ค. พบว่า ในพื้นที่ของประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว มีแนวโน้มการพบจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยนั้น พบว่า อยู่ในพื้นที่เกษตร จำนวน 179 ชุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 138 จุด, เขตป่าอนุรักษ์ 117 จุด, เขต สปก. 84 จุด บริเวณชุมชนและอื่น ๆ 65 จุด และพื้นที่ริมทางหลงจำนวน 10 จุดด้วยกัน

โดยรายงานจุดความร้อนที่พบในประเทศนั้นแม้ว่าจะมีจำนวนลดลง แต่ยังคงใกล้เคียงเดิมทั้งจำนวนจุด และพื้นที่ที่พบ ซึ่งในขณะนี้ หลายพื้นที่อยู่ในช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเช่น อ้อย และยังคงมีการลักลอบเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว

รวมถึงการลักลอบเผาในพื้นที่อนุรักษ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องออกดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนี้อย่างต่อเนื่อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง