KEY :
- ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นทำสถิติสูงที่สุดอีกครั้ง
- โดยเมื่อวานที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในญี่ปุ่น 503 ราย ทะลุ 500 รายเป็นครั้งแรก
- ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเดือนครึ่งที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 12,000 ราย หรือคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของจำนวนผู้เสียชีวิตในญี่ปุ่นนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19
…
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นยังอยู่ในระดังที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยยอดล่าสุดที่กระทรวงสาธารณสุขฯ ของญี่ปุ่น เมื่อค่ำวานนี้ ( 14 ม.ค. 2566 ) มีผู้ป่วยเพิ่ม 132,071 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 31,308,352 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 503 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 62,264 คน ซึ่งในจังหวัดที่มีรายงานผู้เสียชีวิตสูงที่สุด 5 จังหวัดแรกคือ
- ฟุกุโอกะ 40 ราย
- โอซาก้า 36 ราย
- โตเกียว 33 ราย
- ไอจิ 28 ราย
- ชิบะ 27 ราย
และยังคงมีผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือเครื่อง ECMO จำนวน 693 ราย
…
เดือนครึ่งเสียชีวิตแล้วกว่า 12,000 ราย
จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมของญี่ปุ่นนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 62,264 ราย ซึ่งในช่วงของการระบาดในระลอกล่าสุด (ระลอกที่ 8) มีผู้เสียชีวิตแล้ว 12,620 ราย เวลาราวหนึ่งเดือนครึ่ง (ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 – 15 ม.ค. 2566)
คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นสูงถึง 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิต ซึ่งในการศึกษาล่าสุดพบว่า ผู้เสียเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ และการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่า มีการติดเชื้อในบ้านพักคนชรา ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น และยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นแนวโน้มการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุยังคงมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ตามการระบาดที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ การพบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สายพันธุ์กลายพันธุ์ XBB.1.5 ที่กำลังระบาดในสหรัฐฯ ในขณะนี้ ก็เริ่มมีรายงานการพบการติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่นแล้ว
ซึ่งสายพันธุ์ XBB.1.5 นี้ มีความสามารถในการระบาดได้รวดเร็ว หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อการระบาดที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่การเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
…
รพ. หลายแห่งเริ่มตึง
จากจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังคงมีการพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น โตเกียว ส่งผลให้โรงพยาบาลบางแห่งมีอัตราครองเตียงสูงขึ้น เช่น ศูนย์การแพทย์โตเกียวคิตะ มีอัตราการครองเตียงสูงเกินกว่า 90% แล้ว และมีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นกว่าปรกติสูงถึง 5 เท่า ในขณะเดียวกัน จำนวนเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้สถานการณ์การให้บริการเริ่มตึงเครียดมากขึ้น
หรือเช่นที่ โรงพยาบาล Nihon University Itabashi Hospital ก็มีรายงานอันตราครองเตียงสูงกว่า 70% แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในขณะที่ทางโรงพยาบาลจำเป็นที่จะต้องสงวนเตียงผู้ป่วยอาการหนักไว้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ทำให้การรับตัวผู้ป่วยอาการหนักเริ่มทำได้ยากลำบากขึ้น
ซึ่งสายด่วน 119 ของญี่ปุ่น รายงานว่า ในช่วงเดือนธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีการโทรมายังศูนย์ในโตเกียว 1,036,645 สาย โดยเป็นจำนวนการโทรที่สูงเกิน 1 ล้านครั้งเป็นครั้งแรกในนับตั้งแต่มีการเปิดให้บริการมา และในจำนวนนี้ เป็นการจัดส่งรถพยาบาลถึง 872,101 เที่ยว เพิ่มขึ้นสูงกว่าเดือนธ.ค. 2564 ถึง 46,000 เที่ยว
สำหรับในช่วง 11 วันแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา มีการโทรและการส่งรถพยาบาลแล้วกว่า 29,000 ครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ในขณะที่จังหวัดกุนมะ ก็มีประชาชนโทรเข้ามายังสายด่วนฉุกเฉินมาขึ้นเช่นกัน และในบางกรณีก็ไม่สามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ เนื่องจากโรงพยาบาลปฏิเสธการรับผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการหนัก
ที่มา –
- https://www3.nhk.or.jp/news/html/20230114/k10013949681000.html
- https://www3.nhk.or.jp/news/html/20230113/k10013948561000.html