เพียง 63 ปี หลังจากที่เครื่องบินลำแรกของโลกถูกสร้างขึ้น จรวดลำแรก ก็พามนุษย์ลงไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อปี ค.ศ. 1969 ก่อนที่จะมีการนำมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์อย่างต่อเนื่องอีก 5 ครั้ง และครั้งสุดท้ายคือ ปี ค.ศ. 1972
และนับเป็นเวลา 50 ปีแล้ว ที่ยังไม่มีมนุษย์ คนที่ 13 ที่ไปเหยียบดวงจันทร์ นับตั้งแต่ยานอพอลโล 17 นำมนุษย์ไปลงครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1972
…
มนุษย์เรามีความฝันที่จะอยากจะโบยบินได้เหมือนนก มาเป็นเวลานานมาก ตั้งแต่สมัยโบราณทั้งที่เป็นตำนานเรื่องเล่าอย่างนิทานปรัมปราของกรี ที่เดดาลัส และอิคารัส ได้หลบหนีออกจากเกาะครีตที่ถูกคุมขังอยู่ โดยใช้ขี้ผึ้งในการยึดขนนกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นปีก และบินหลบหนีออกมาจากเกาะ
แต่ท้ายที่สุดแล้ว อาคารัส บินเข้าใกล้ดดวงอาทิตย์มากขึ้นเกินไป ทำให้ขี้ผึ้งนั้นหลอมละลาย และไม่สามารถยึดขนนกเข้าด้วยกัน เมื่อขนนกหลุดออก อาคารัสก็ได้ร่วงลงสู่เบื้องล่างและเสียชีวิต มีเพียงเดดาลัสที่สามารถบินหลบหนีได้สำเร็จ
ซึ่งเรื่องราวของความพยายามในการโบยบินขึ้นบนท้องฟ้านั้น มีบันทึกอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะในชาติตะวันตก หรือแม้แต่ชาติตะวันออก เรื่องเราวที่ถูกบันทึกไวั ล้วนแล้วแต่ผ่านการลองผิด ลองถูก และมีผู้จบชีวิตจากการทดลองที่ผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วน แม้กระทั่งเลโอนาร์โด ดา วินชี นักปราชญ์ชาวอิตาลี เองก็ได้เคยออกแบบเครื่องบินที่มีปืกเหมือนนกที่เรียกว่า “The Flying Machine” หรือเครื่องบินหน้าตาแปลกๆ ที่หลายคนกล่าวว่า นี่คือต้นแบบของเฮลิคอปเตอร์ อย่าง “The Aerial Screw”
ยังไม่นับไอเดียอื่น ๆ อีกหลากหลาย เช่น การผูกคนติดขึ้นไปกับว่าว รวมถึงไอเดียในการใช้ลูกโป่งลมร้อน จนกลายมาเป็นบอลลูนที่หลายคนรู้จัก และนำไปสู่การสร้างเรือเหาะขนาดใหญ่ในช่วงปี 1852 จนทำให้การเดินอากาศเป็นเรื่องของการเดินทางที่หรูหรา ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เที่ยวบินแรกโดย พี่น้องตระกูลไรท์
ซึ่งถือเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่มีการพัฒนาเครื่องร่อนในรูปแบบต่าง ๆ จนกระทั่งเที่ยวบินแรกที่บันทึกไว้คือ ผลงานความสำเร็จของพี่น้องตระกูลไรท์ ในปี 1903 ในการสร้างเครื่องบินลำแรกที่มีลักษณะคล้ายเครื่องร่อนทำด้วยเหล็ก ผ้า สายเปียโน และเครื่องยนต์ขนาด 12 แรงม้า ซึ่งในครั้งแรก สามารถบินได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาที
แต่การทดลอง และทดสอบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถบินได้นานขึ้น และไม่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศ และเป็นครั้งแรกที่ รันเวย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เครื่องบินสามารถเทคออฟขึ้นไปได้ ก่อนที่เครื่องบินที่ทั้งสองพี่น้องสร้างขึ้นจะสามารถบินข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จนปี 1909
…
Fly Me To the moon
หลังจากการบินครั้งแรกของพี่น้องตระกูลไรท์ ในปี 1903 ความฝันในการบินได้ของมนุษย์ยังคงอยู่ และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากเครื่องยนต์ใบพัด สู่เครื่องยนต์เทอร์โบเจท
ในปีค.ศ. Robert H. Goddard ได้พัฒนาจรวดเชื้อเพลิงเหลวที่มีการจนสำเร็จและจดสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1914 ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในการพัฒนาจรวดรุ่นต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาจรวด V-2 ขีปนาวุธระยะไกลลูกแรกของโลก โดยเป็นฝีมือของกองทัพเยอรมัน ในปี ค.ค. 1944 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “สงครามโลก” ครั้งที่ 1 และ 2 มีส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาด้านอากาศยาน และอวกาศอย่างมากจากการแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ แม้ว่ามันจะถูกนำไปเพื่อใช้ในการ “สู้รบ” ก็ตาม
ขีปนาวุธ V-2 นี้กลายถูกใช้บรรทุกหัวรบขนาด 1 ตัน ถูกพัฒนาและผลิตเพื่อใช้ในสงครามจำนวนหลายพันลูกด้วยกัน ด้วยระยะหวังผลที่ 320 กม. สามารถบินได้สูงสุดถึง 206 กม. หากใช้การยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยตรง จึงทำให้หลายประเทศหันมาพัฒนาต่อยอดจรวด V-2 ชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะสิ้นสุดสงครามไปแล้วก็ตาม
ผลการพัฒนาที่เกิดขึ้นทำให้มนุษย์ได้เห็นภาพของโลกเป็นครั้งแรกจากอวกาศ ผ่านภาพที่ถูกถ่ายจากจรวด V-2 ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 1946 ที่ระดับความสูง 105 กม. เหนือผิวโลก
แม้ว่า โลกจะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว เมื่อผลจากการสู้รบทำให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต(ในขณะนั้น) ยังคงเดินหน้าสะสมกำลังและแสนยานุภาพทางทหารและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อแข่งขันกัน และ “อวกาศ” ดูจะเป็นขอบเขตใหม่ของการแข่งขันกันอย่างมาก ในการประกาศศักดาในช่วงสงครามเย็นที่เกิดขึ้น
ในปี ค.ศ. 1957 หรือ 12 ปีหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียต ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม Sputnik 1 ขึ้นสู่วงโคจร และเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการบุกเบิกอวกาศ ซึ่งโซเวียตยังคงเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง ใน 4 ปีถัดมา ยูริ กาการิน กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นไปยังอวกาศ และกลับลงมาสู่พื้นโลก
ซึ่งแน่นอนว่า สหรัฐฯ ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ห่างกันเพียงไม่ถึงเดือน สหรัฐฯ ส่ง อลัน เชพเพิร์ด นักบินอวกาศของสหรัฐฯ ขึ้นสู่อวกาศเช่นกัน เรียกได้ว่า เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี ที่ยอมกันไม่ได้
ปี 1959 โซเวียตส่งยาน Luna 1 ไปยังดวงจันทร์ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ เนื่องจากยานพลาดเป้าหมายที่จะพุ่งเข้าชนดวงจันทร์ กลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่ลอยออกนอกวงโคจรโลก ซึ่งแน่นอนว่า โซเวียตก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงส่งยาน Luna-2 เข้าชนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก และยาน Luna-3 ก็สามารถถ่ายภาพดวงจันทร์ด้านไกลได้เป็นครั้งแรก ก่อน
สหรัฐฯ ก็เร่งส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน โดยในปี 1961 สหรัฐฯ ประกาศจะส่งมนุษย์ยังไปดวงจันทร์ให้ได้ และนั่นทำให้มีการส่งยาน Ranger จำนวนหลายลำ ก่อนที่จะพุ่งชนดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จในปี 1962 ด้วยยาน Ranger 4
ในวันที่ 18 มี.ค. 1965 Aleksei Leonov กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ออกจากยานไปสัมผัสกับอวกาศ หรือ SpaceWalk เป็นครั้งแรกด้วยชุดนักบินอวกาศ ในระยะราว 5 เมตรจากตัวยาน แน่นอนว่า สหรัฐฯ ก็ยังคงพยายามไล่ตามความก้าวหน้าทางด้านอวกาศ ให้ทันโซเวียต
ในช่วงปี 1966 – 1976 สหรัฐฯ และโซเวียตต่างเร่งส่งยานอวกาศจำนวนหลายลำไปยังดวงจันทร์เพื่อแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งล้มเหลวและประสบความสำเร็จ
แต่ความสำเร็จในการนำมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ เกิดขึ้นในวันที่ 20 ก.ค. ค.ศ. 1969 คนทั่วโลกก็ได้เห็นภาพของ นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่ได้ลงเหยียบผืนดินบนดวงจันทร์ ตามด้วย บัซ อัลดริน หลังจากใช้เวลา 4 วันยานอพอลโล 11 โดยมี ไมเคิล คอลลินส์ ประจำอยู่บนยาน Command Module รอรับทั้งสองคนกลับ และหากเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้น อัลดรินจะกลายเป็นนักบินอวกาศคนเดียวที่บินกลับสู่โลก แต่ภารกิจก็ผ่านไปได้ด้วยดี
แน่นอนว่า ไม่ได้มีเพียง อพอลโล 11 และนักบินอวกาศ 2 คนที่เคยเหยียบดวงจันทร์ แต่ยังมีอีก 10 คนที่เคยเหยียบดวงจันทร์มาแล้ว ในช่วงปี ค.ศ.1969 – 1972 โดยประกอบไปด้วย
- อะพอลโล 11
ผู้ที่ลงเหยียบดวงจันทร์คือ Neil Armstrong, Buzz Aldrin - อะพอลโล 12
ผู้ที่ลงเหยียบดวงจันทร์คือ Pete Conrad, Alan Bean - อะพอลโล 14
ผู้ที่ลงเหยียบดวงจันทร์คือ Alan Shepard, Edgar Mitchell - อะพอลโล 15
ผู้ที่ลงเหยียบดวงจันทร์คือ David Scott, James Irwin - อะพอลโล 16
ผู้ที่ลงเหยียบดวงจันทร์คือ John Young, Charles Duke - อะพอลโล 17
ผู้ที่ลงเหยียบดวงจันทร์คือ Gene Cernan, Harrison Schmitt
ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ยังคงจำได้เพียง 2 นักบินอวกาศ ผู้ที่ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก และคนที่ตามหลังมักถูกหลงลืมไปกับเรื่องราวของที่น่าจดจำของผู้นำเสมอ…
50 ปี ที่มนุษย์ไม่ได้เหยียบดวงจันทร์
การที่มนุษย์ลงไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกในปี 1969 นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่พี่น้องตระกูลไรท์ นำเครื่องบินที่ประดิษฐ์ขึ้นบินครั้งแรกเพียง 63 ปี และเกิดขึ้นหลังจากที่จรวด V-2 ขึ้นบินสู่ขอบเขตของอวกาศ เพียง 25 ปีเท่านั้น
หากนับเวลา 50 ปีตั้งแต่ Gene Cernan และ Harrison Schmitt สองคนสุดท้ายที่ได้เหยียบดวงจันทร์ ยังไม่มีภารกิจของชาติใด ที่ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เพิ่มเติม ท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไป ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย และการสื่อสารต่าง ๆ ทำให้หลายคนเกิดคำถามขึ้นว่า
“ทำไม ถึงไม่มีการส่งคนไปดวงจันทร์อีก”
คำตอบคือ “เงิน” และ “การเมืองระหว่างประเทศ” ตลอดระยะเวลาการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์นั้น มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้นอย่างมากหลายพันล้านเหรียญที่ถูกใช้ในภารกิจเหล่านี้ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า มันเกิดขึ้นในช่วง “สงครามเย็น” ที่ความคุกรุ่นของการแข่งขันทางด้านการทหารยังคงมีอยู่ การประกาศศักดาของความเป็นชาติมหาอำนาจ ยังรุนแรงอยู่
ยิ่งเมื่อเงินทุนจำนวนมากถูกใช้ไป ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบนโลก การไปอวกาศจึง “เป็นเรื่องไกลตัว” สำหรับคนทั่วไปจะเข้าใจได้ว่า จะเกิดประโยชน์อะไรจากการส่งคนไปดวงจันทร์ และเมื่อยิ่งสหภาพโซเวียต ซึ่งถือว่าเป็น “คู่แข่งคนสำคัญ” ของสหรัฐฯ ล่มสลายไป นั่นยิ่งทำให้รู้สึกว่า “อวกาศ” เป็นเรื่องไกลตัวมากกว่า ท้องที่หิวโหย
Business Insider เคยทำแบบสำรวจในปี 2018 ว่า ควรมีการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้งหรือไม่ พบว่า 42.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ไม่ เพราะไม่คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญในเวลานี้
ซึ่งการมาของ Space-X ถือเป็นหนึ่งในแรงขับ ถือเป็นการปฏิวัติการเดินทางไปสู่อวกาศอีกครั้ง จากจรวด Falcon ที่สามารถนำมาใช้งานซ้ำได้ ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้อย่างมาก ยิ่งจากการนำลูกเรือที่เป็นพลเรือนขึ้นไปเที่ยวในอวกาศได้ ยิ่งทำให้กระแสของมุ่งหน้าสู่อวกาศกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง
และท่ามกลางความน่าสนใจนี้ ความคุกรุ่นทางการเมืองระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นเช่นกัน การแข่งขันด้านอวกาศจึงเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ทั้งจากรัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และอีกหลายประเทศ ซึ่งในขณะนี้ จีน กลายเป็นผู้เล่นที่ดูจะเป็นคู่แข่งด้านอวกาศหน้าใหม่ ที่มาแรง จากการส่งจรวดขึ้นไปยังอวกาศ แผนการสร้างสถานีอวกาศแห่งชาติจีน หรือแม้กระทั่ง การส่งยานสำรวจไปยังดาวอังคาร
และการแข่งขันด้านอวกาศยังคงเพิ่มมากขึ้น จากการที่จีน – รัสเซีย ประกาศร่วมมือกันในด้านอวกาศเพิ่มขึ้นอีกด้วย พร้อมทั้งส่งสัญญาณการถอนตัวออกจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ที่กำลังจะสิ้นสุดในปี 2024 ที่จะถึงนี้ด้วย
จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางด้านการทหาร ระหว่างรัสเซีย – จีน – สหรัฐฯ -ชาติตะวันตก มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง รัสเซีย – จีน ดูจะแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน และงานด้านอวกาศก็ดูจะเป็นหนึ่งในนั้นที่ก้าวหน้าไปมากเช่นกัน ทำให้แม้แต่ NASA ก็กลับมาวางแผนจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้งเช่นกัน
หลังผ่านมา 50 ปี แต่เชื่อว่า การแข่งขันครั้งใหม่ที่เกิดขึ้น น่าจะทำให้อีกไม่นาน เราน่าจะได้เห็นภาพของนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง และสิ่งสำคัญคือ “ใคร” จะได้ไปดวงจันทร์ ก่อนใน ศตวรรษที่ 21 ซึ่งนั่นหมายถึงก้าวถัดไปคือ “ดาวอังคาร” นั่นเอง
ข้อมูล
- https://www.roscosmos.ru
- https://www.nasa.gov
- http://www.cnsa.gov.cn/
- https://www.businessinsider.com/nasa-budget-estimates-opinions-poll-2018-12