คัดลอก URL แล้ว
เมื่อมหาอำนาจเร่งพัฒนา อาวุธความเร็วเหนือเสียง ไฮเปอร์โซนิก

เมื่อมหาอำนาจเร่งพัฒนา อาวุธความเร็วเหนือเสียง ไฮเปอร์โซนิก

ประเด็นสำคัญ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร ที่ดูจะมีมากขึ้นขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องในขณะนี้ หลังหลายชาติ เริ่มเข้ามามีบทบาทในปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้ ที่มีการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่เกาะ และแนวเขตทางทะเล ระหว่างหลายชาติ ทั้งจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน รวมถึงไต้หวัน

จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างชาติมหาอำนาจที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ชาติมหาอำนาจทั้งจีน สหรัฐฯ รัสเซีย รวมไปถึงเกาหลีเหนือ เร่งการค้นคว้าและพัฒนา “อาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิก” หรือ “Hypersonic” อย่างต่อเนื่องและเริ่มเข้าสู่โค้งสุดท้ายว่า ชาติใด จะสำเร็จก่อนกัน

ทำไมอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกถึงสำคัญ

ในตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูงมาก ๆ ที่ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีอานุภาพการทำลายล้างที่รุนแรงมากขึ้นเรื่องทั้งในแง่ของขนาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ประสิทธิภาพสูงขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น ยิงได้ไกลมากขึ้น

แต่ทั้งหมดนี้ อาจจะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังอีกต่อไป เมื่อการพัฒนาการป้องกันที่เพิ่มมากขึ้นในการสกัดกั้นอาวุธเหล่านี้ ไม่ว่าจะรุนแรงเพียงใด หากไม่เข้าเป้าหมายก็ไร้ผล

อาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิก หรือ Hypersonic เป็นส่วนที่จะมาทลายข้อจำกัดการป้องกันนั้นด้วยเหตุผลง่ายคือ

“แม้รู้ว่าอาวุธนั้นถูกยิงมา แต่ก็สายเกินไปที่จะสกัดกั้น”

ในช่วงกลางปี 2564 ในการสู้รบของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส เราได้เห็นประสิทธิภาพของ “ไอเอิร์นโดม” (Iron Dome) ของอิสราเอลแล้ว ซึ่งความสามารถสกัดกั้นการโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นหนึ่งในระบบสกัดกั้นการโจมตี หากมีขีปนาวุธลูกหนึ่งลูกใดยิงเข้ามา ใส่ยิงจรวดสกัดกั้น ซึ่งบรรดาชาติมหาอำนาจได้พัฒนาระบบสกัดกั้นเหล่านี้ไว้ใช้งานกันแล้ว

คลิปการทดสอบ ขีปนาวุธ SM-3 Block IIA ที่ถูกยิงจากเรือพิฆาตขึ้นสกัดกั้นขีปนาวุธข้ามทวีปของสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2020

อาวุธที่มีความเร็วสูงมากเช่นนั้น แม้จะรู้ตัวตั้งแต่วินาทีแรกที่ขีปนาวุธถูกปล่อย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่คาดการณ์ว่า ขีปนาวุธลูกดังกล่าวจะไปยังเป้าหมายที่ใด และในระยะเวลาที่มีไม่มากนั้น การเตรียมพร้อมในการรับมือ ย่อมยากขึ้น สร้างความคลุมเครือ ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้มากขึ้น และส่งผลต่อการตัดสินใจรับมือได้ยากขึ้นด้วยนั่นเอง

อีกสาเหตุหนึ่งคือ อาวุธความเร็วเหนือเสียงในระดับไฮเปอร์โซนิคนั้น จะต่างจากขีปนาวุธข้ามทวีป หรือ Ballistic Missiles ที่มีใช้กันอยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือ ขีปนาวุธ จะมีลักษณะการเคลื่อนที่เป็นวิถีโค้ง ยิงขึ้นสู่อากาศในระดับที่สูงมาก และโค้งตกลงสู่เป้าหมาย ทำให้การตรวจจับเกิดขึ้นได้ง่าย ในขณะที่าอาวุธแบบไฮเปอร์โซนิคจะเคลื่อนที่ในระดับที่ต่ำกว่า ทำให้การตรวจับทำได้ยากกว่า ยังไม่นับการพัฒนาให้เป็นระบบร่อน ที่สามารถทำให้หลบเลี่ยงการตรวจจับ และสกัดกั้นได้ดีกว่า

ภาพเปรียบเทียบเส้นทางการเคลื่อนของขีปนาวุธข้ามทวีป เทียบขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิค

ซึ่งอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกเหล่านี้ หากพัฒนาได้สำเร็จ การจะบรรจุหัวรบที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงชนิดใดนั้น ก็ไม่ยากอีกต่อไปแล้ว และอาวุธเหล่านี้ ก็ไม่อาจสกัดกั้นได้อีกด้วย

ไฮเปอร์โซนิคเร็วแค่ไหน

สำหรับความเร็วเสียงที่ระดับน้ำทะเลจะมีความเร็วอยู่ที่ 1,225 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือเรียกว่า 1 มัค ระดับความเร็วเสียง หรือ Sonic นั้นจะแบ่งเป็น

โดยอาวุธความเร็วเหนือเสียงในระดับ Hypersonic จะมีความเร็วเป็น 5 เท่าของเสียงที่เดินทางในอากาศ หรือมากกว่า 6,000 กม. / ชม. ซึ่งในความเร็วระดับนั้น หากถูกติดตั้งในเรือดำน้ำ และไปโผล่ในระยะ 500 กม. นั่นหมายความว่า เหลือเวลาแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้นในการรับมือ ยิ่งหักลบเวลาที่กว่าจะตรวจจับได้ยิ่งทำให้แทบไม่เหลือเวลาให้รายงานการตรวจพบด้วยซ้ำ

ความคืบหน้าในการพัฒนาของชาติมหาอำนาจ

การพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ในตอนนี้ ทำให้การพัฒนาต่าง ๆ ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับยุคแรกของการพัฒนาในช่วงก่อนปี 2000 ซึ่งในขณะนี้มีประเทศที่เดินหน้าพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิคนี้หลัก ๆ คือ จีน สหรัฐฯ และรัสเซีย ที่ถูกระบุว่า ใกล้ประสบความจริงมากที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมนี รวมถึงเกาหลีเหนือ ก็เข้ามาค้นคว้าพัฒนาอาวุธในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

รัสเซีย

รัสเซียถือเป็นชาติแรกที่ระบุว่า ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงระดับไฮเปอร์โซนิก ซึ่งได้มีการทดสอบล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 4 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก Zircon ได้ทำการยิงจากเรือดำน้ำที่อยู่ในระดับความลึกจากผิวน้ำ 40 เมตรได้

โดย 3M22 Zircon นี้ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ราวช่วงปี 1995 ก่อนที่จะมีรายงานการทดสอบการยิงครั้งแรกในช่วงปี 2012 หรือเกือบ 20 ปีต่อมา หลังจากนั้นการพัฒนาก็เริ่มเร็วขึ้น ซึ่งในรายงานการทดสองเมื่อปี 2017 ระบุว่า มีความเร็วสูงได้ถึง 8 มัค หรือ 9,800 กม./ชม. หลังจากนั้นอีก 2 ปี ในปี 2019 ปูตินได้ระบุว่า สามารถพัฒนาได้ถึง 9 มัค หรือ 11,025 กม. / ชม. และมีระยะหวังผลได้ไกลถึง 1,000 กม.

ในการยิงทดสอบจากเรือฟรีเกต Admiral Gorshkov เมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัสเซียระบุว่า มีความเร็วเกือบ7 มัคหรือราว 8,575 กม. / ชม. โดยขีปนาวุธ Zircon นี้สามารถโจมตีเป้าหมายที่ห่างออกไป 350 กม.ได้อย่างแม่นยำ

และหากคิดจากตัวเลขดังกล่าว ระยะเวลาตั้งแต่ขีปนาวุธถูกยิงออกไป จนถึงเป้าหมายนั้น ใช้เวลาไม่ถึง 3 นาทีเท่านั้นเอง โดยที่ยังไม่นับหักลบเวลาที่ถูกใช้ไปก่อนการตรวจพบ

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้อ้างว่า มีการบรรจุขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงระดับไฮเปอร์โซนิก ที่ชื่อว่า “อะวอนการ์ด” (Avangard) เข้าประจำการแล้วตั้งแต่เมื่อปลายปี 2019 โดยระบบดังกล่าวได้มีการทดสอบและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 20 มัค หรือราว 24,500 กม. / ชม. รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบของหัวรบในระบบได้ทั้งแบบปรกติที่คุ้นเคยใช้การจุดระเบิดขับเคลื่อนต่อเนื่อง หรือเป็นแบบแยกตัวพุ่งเข้าหาเป้าหมายในรูปแบบของการร่อนได้อีกด้วย

และด้วยระบบร่อนนี้เองทำให้ขีปนาวุธชนิดนี้สามารถร่อนไปได้ได้มากโดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง และสามารถบังคับทิศทางการร่อนเพื่อหลบการตรวจจับได้อีกด้วย

ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก Kh-47M2 Kinzhal ที่ติดตั้งบนเครื่องบินรบ Mig-31

นอกจากนี้ รัสเซียเอง ยังมี Kh-47M2 Kinzhal ซึ่งเป็นขีปนาวุธความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิค โดย Kinzhal ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิคแบบ อากาศสู่พื้น สำหรับติดตั้งกับเครื่องบินรบ ทั้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิด หรือเครื่องบินขับไล่

Kinzhal มีพิสัยทำการอยู่ที่กว่า 2,000 กม. ด้วยความเร็วระดับ 10 มัค สามารถติดตั้งได้ทั้งแบบหัวรบระเบิดแบบที่ใช้กันทั่วไป หรือเปลี่ยนเป็นหัวรบนิวเคลียร์ก็ได้

สำหรับขีปนาวุธรุ่นนี้ ถูกส่งเข้าประจำการตั้งแต่ช่วงราวปี 2017 แต่ไม่มีรายละเอียดในการยืนยันที่ชัดเจน บางแหล่งข่าว ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย แต่ผ่านมาในปี 2018 ก็มีรายงานการทดสอบการใช้งานออกมา และหลังจากนั้นก็มีกระแสข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฝึกอบรบเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ การทดสอบเพิ่มเติม ที่พบว่า สามารถพัฒนาและทำความเร็วได้ถึง 10 มัคนั่นเอง

จีน

จีนเป็นอีกหนึ่งชาติมหาอำนาจที่ถูกระบุว่า ประสบความสำเร็จในการผลิตอาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา พอมีข่าวระแคะระคายออกมาบ้างแต่เริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลัง ยิ่งสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ยิ่งมาก ยิ่งได้เห็นภาพของอาวุธในกลุ่มนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น DF-17 ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในพิธีสวนสนามเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่เป็นอาวุธความเร็วเหนือเสียงที่จีนนำเข้าประจำการอย่างเต็มรูปแบบ

Dongfeng-17 หรือ DF-17 ที่ปรากฎตัวอย่างเป็นทางการ – (ภาพ : ซินหัว)

หลังจากเมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Financial Times ได้รายงาน จีนได้มีการทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิคที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ โดยใช้รูปแบบของระบบ Fractional Orbital Bombardment System (FOBS) นั่นคือ การใช้จรวดในการบรรทุกขีปนาวุธขึ้นสู่อวกาศในวงโคจรระดับต่ำ ก่อนทำการยิงขีปนาวุธความเร็วเสียงจากอวกาศ ซึ่งสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถปล่อยที่ตำแหน่งใด ๆ ก็ได้ บนอวกาศ

ในรายงานดังกล่าวนั้น Financial Times ระบุว่า แม้ผลการทดสอบที่ได้ จะห่างจากเป้าหมายที่ทดสอบไปราว 40 กม. ก็ตาม แต่ถือว่า เป็นก้าวสำคัญในการอย่างมากในการพัฒนาอาวุธของจีน

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า นี่เป็นเพียงการทดสอบยานอวกาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการนำยานอวกาศกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น

สหรัฐฯ

ภาพการทดสอบของกองทัพสหรัฐฯ
เมื่อ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา

สหรัฐฯ มีความพยายามในการพัฒนาอาวุธระดับ Hypersonic มาช่วงปี 2000 และมีความจริงจังมากขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านลงทุนในการค้นคว้าวิจัยมาโดยตลอดและเริ่มมาเน้นมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลังจากที่มีกระแสข่าวคราว ความคืบหน้าในการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงระดับไฮเปอร์โซนิคของ จีน และรัสเซีย ที่มีความก้าวหน้า

โดยล่าสุดเพนตากอน ได้งบพัฒนาอาวุธชนิดนี้เพิ่มขึ้น 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากหลายฝ่ายประเมินว่า สหรัฐฯ กำลังเสียดุลอำนาจ และการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ ดูจะล่าช้ากว่า คู่แข่งอย่างรัสเซีย และจีน

โดยได้มีการทดสอบเกี่ยวกับอาวุธความเร็วสูงเหล่านี้ หลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา แต่ข่าวร้ายคือ Hypersonic Flight Test-3 หรือ FT-3 ในครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ ระบบขับเคลื่อนบางส่วนเสียหายในการทดสอบ แม้ทางการจะออกมาแถลงว่า มีประสบความสำเร็จบางส่วนในการทดสอบในครั้งนี้ก็ต้อง

แต่แม้ว่าการทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงยังไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่หวังไว้ แต่กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เตรียมพร้อมพร้อม ในการติดตั้งอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกไปติดตั้งในเรือพิฆาตไว้แล้ว ซึ่งอยู่ในแผนงานของปี 2022

ส่วนการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และดูจะเร่งเต็มกำลังมากขึ้น หลังจากที่ทั้งจีน รัสเซีย ต่างมีอาวุธเหล่านี้เข้าประจำการแล้ว และดูจะก้าวหน้ากว่าสหรัฐฯ ไปหลายขั้นทีเดียว

อินเดีย

ทางด้านของอินเดีย มีรายงานการพัฒนา BrahMos Mark II รวมกับรัสเซีย ในการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิก โดยคาดว่าหากสำเร็จ จะมีพิสัยทำการอยู่ที่ราว 1,000 กม. สามารถทำความเร็วได้ 8 มัค หรือ 9,800 กม./ชม. และถูกออกแบบให้สามารถปล่อยได้จากในเรือรบ, เรือดำน้ำ, อากาศยาน หรือแม้กระทั่งเป็นรถปล่อยขีปนาวุธเคลื่อนที่

ภาพ – Shiv Aroor ( Wikimedia Commons – CC BY-SA 2.5)

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเครื่องยนต์ เพื่อให้สามารถทำความเร็วได้ตามเป้าหมายที่ 8 มัค หลายฝ่ายต่างให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวมีความล่าช้าจากหลาย ๆ ประการจึงคาดว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

ออสเตรเลีย

ออสเตรเลีย เป็นอีกหนึ่งในชาติที่ต้องการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกนี้ โดยความร่วมมือกับสหรัฐฯ ภายใต้โครงการ SCIFiRE ในการพัฒนาเครื่องยนต์เจ็ท แบะระบบขับเคลื่อนอื่น ๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความเร็ว 5 มัค เพื่อใช้ติดตั้งบนเครื่องบิน อย่าง  F/A-18F Super Hornet, EA-18G Growler และ F-35A Lightning II รวมถึงเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล อย่าง P-8A Poseidon

โครงการ SCIFiRE Hypersonics – (ภาพ : กองทัพอากาศออสเตรเลีย)

ตามแผนมีกำหนดในการทดสอบการปล่อยในช่วงกลางปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด มีเพียงข้อมูลบางส่วนที่ระบุว่า ในงานออกแบบภายนอกของขีปนาวุธนี้ สามารถทำความเร็วมากกว่าถึง 30 มัค

ฝรั่งเศส

สำหรับฝรั่งเศสเองนั้น มีโครงการที่ชื่อว่า Project V-MaX (Experimental Manoeuvring Vehicle) โดยได้ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อช่วงปี 2019 โดยการพัฒนาจรวดร่อนความเร็วเหนือเสียง หรือ hypersonic glider

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ค่อนข้างเงียบ แม้ว่าจะมีข่าวออกมาในช่วงเดือน พ.ค. 2021 ว่าจะมีการทดสอบอาวุธชนิดนี้ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมแต่อย่างใด เช่นเดียวกับโครงการพัฒนา ASN4G supersonic missile ให้มีความเร็วในระดับ Hypersonics

ญี่ปุ่น

กองกำลังป้องกันตนเอง ของญี่ปุ่น หรือ JSDF ได้มีแผนในการพัฒนาขีปนาวุธแบบร่อนความเร็วเหนือเสียง หรือ HVGP มาตั้งแต่ราวปี 2019 ในงบประมาณราว 122 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยวางแผนในการสร้างขีปนาวุธแบบร่อนที่ใช้การยิงจากฐานยิงขีปนาวุธเคลื่อนที่ และเริ่มค้นคว้าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 โดยมุ่งเป้าให้สามารถใช้ประจำการได้ในครึ่งปีแรกของปี 2030

เกาหลีเหนือ

เมื่อเดือน กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ยืนยันการทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง Hwasong-8 เป็นครั้งแรก ท่ามกลางความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี โดยทางการเกาหลีเหนืออ้างว่า ผลการทดสอบประสบความสำเร็จได้ตามที่คาดหมายไว้

ภาพ KCNA

โดยระบุว่า ขีปนาวุธแบบร่อนที่มีความเร็วเหนือเสียงชนิดนี้ มีความสามารถในการบรรทุกหัวรบชนิดใดก็ได้ รวมถึงหัวรบนิวเคลียร์ได้อีกด้วย และถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเกาหลีเหนือ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในหลายชาติต่างประเมินกันว่า แม้ว่าสิ่งเกาหลีเหนือได้ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่อวดอ้าง แต่ก็ถือว่า เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของเกาหลีเหนือเช่นกัน ที่มีการพัฒนาระบบต่าง ๆ ได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างก้าวกระโดด

เกาหลีใต้

สำหรับเกาหลีใต้ ดูจะเป็นประเทศที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงทีเดียว จากความสามารถในการสร้างทดสอบจรวดครั้งล่าสุด ในการทดสอบนำดาวเทียมจำลองขึ้นสู่วงโคจร แม้ว่าในการทดสอบไม่ประสบความสำเร็จในการนำดาวเทียมจำลองเข้าสู่งวงโคจรได้ แต่จรวดนูรี ก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า สามารถขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ ตั้งแต่ครั้งแรก

นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้และสหรัฐฯ เพิ่งปลดล็อกข้อตกลงระหว่างสองประเทศในการเปิดทางให้เกาหลีใต้สามารถพัฒนาขีปนาวุธระยะไกลได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ ยังคงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า เกาหลีใต้จะพัฒนาไปได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้น

ประเทศอื่น ๆ

สำหรับในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อิหร่าน อิสราเอล บราซิล เบลเยียม แคนาดา เยอรมนี อิตาลี สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร รวมถึงสหภาพยุโรปด้วย ต่างมีความสนใจ และมีแผนในการศึกษา-พัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงไฮเปอร์โซนิกเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2019 เป็นต้นมา หลังจากรัสเซียประกาศความสำเร็จ และในปีนี้ จีนก็มีความก้าวหน้าเช่นกัน

ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ที่หลายชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เวียดนาม บรูไน ต่างมีข้อพิพาทในเส้นเขตแดนทางทะเล ร่วมกับการมีชาติมหาอำนาจส่งกองเรือเข้ามาร่วมซ้อมรบกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ที่ร่วมการฝึกกับจีน สหรัฐ-อินเดีย-สหราชอาณาจักร ที่ส่งกองเรือมาร่วมฝึกซ้อมกับชาติต่าง ๆ รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ด้วย

คาดว่า น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้หลายชาติเร่งพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียงเหล่านี้มายิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ได้แต่หวังว่า นี่จะเป็นเพียงการพัฒนาเพื่อสร้างดุลอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจ มากกว่าการนำมาใช้งานจริงนั่นเอง


อ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง