KEY :
- ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง ให้ดำเนินการจัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในอัตรา 0.10%
- โดยจะเริ่มเก็บในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 หรือ วันที่ 1 เดือนที่ 4 ของ ปี 2566 ซึ่งในปีแรกเก็บ 0.055%
- ประเทศไทยได้มีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในปี 2521 เรียกว่า ภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
- แต่ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 เพื่อบรรเทาภาระภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการขายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้มีการเรียกเก็บมานานกว่า 30 ปี
- มุมมองหลายฝ่าย คาดว่า สภาพคล่องในตลาดอาจลดลง รวมถึงหุ้นขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
การจัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ มีความชัดเจนแล้ว ภายหลังเมื่อวันที่ 29 พ.ย.65 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในอัตรา 0.10% โดยจะเริ่มเก็บในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 หรือ วันที่ 1 เดือนที่ 4 ของ ปี 2566
โดยนับจากกฎหมายเรื่องนี้มีผลบังคับใช้แล้ว หรือ มีระยะเวลาให้ปรับตัว 90 วัน ซึ่งในปีแรกจะจักเก็บภาษีขายหุ้นอยู่ที่ 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น และในปีถัดไปจะเริ่มเก็บ 0.10% โดยคาดว่าจะจัดเก็บรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท
ข่าวการเก็บภาษีขายหุ้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา เนื่องจากเดิมทีประเทศไทยเคยมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2521 ก่อนจะมีการยกเลิกจัดเก็บไปในปี 2534
นอกจากนี้ทางรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ได้มีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วสำหรับการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่าทางกระทรวงมีแผนที่จะเรียกเก็บภาษีขายหุ้น ในช่วงปี 2565 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว ทำให้ต้องชะลอแผนดังกล่าวออกไปก่อน
ภาษีขายหุ้น คืออะไร
ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) จัดเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร เดิมทีในประเทศไทยได้มีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในปี 2521 เรียกว่า ภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
ต่อมาได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 โดยเหตุผลที่ได้รับการยกเว้นนั้น เพื่อบรรเทาภาระภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการขายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้มีการเรียกเก็บมานานกว่า 30 ปี
ภาษีขายหุ้น เป็นการเก็บจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าหากมีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษี 0.1% โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีขายหุ้น นั้นก็คือ ‘ผู้ขาย’ โดยโบรกเกอร์ (Broker) ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ ทำหน้าที่หักภาษีขายหุ้น ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นของผู้ขาย
สำหรับการคำนวณการหักภาษีนั้น หากยึดตามอัตราการจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่จะเริ่มในเดือนแรกของในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ที่จะเริ่มที่ 0.55% กรณีตัวอย่างผู้ขายหุ้น ทำการขายหุ้น 1,000,000 บาท โบรกเกอร์จะทำการหักภาษีเป็นเงิน 550 บาท หรือ หากการเพิ่มอัตราการจัดภาษีฯ ในปีถัดไปที่ 0.10 % หากทำการขายหุ้น 1,000,000 บาท ก็จะถูกหักภาษี 1,000 บาท เป็นต้น
ภาษีหุ้นมีอะไรบ้าง
สำหรับ ‘ภาษีหุ้น’ เมื่อผู้ลงทุนเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ลงทุนมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบเสียภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนดให้ถูกต้องและครบถ้วนโดยสรุปรายละเอียดเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
ภาษีอากรของผู้ลงทุน
ผู้ลงทุนไทยและผู้ลงทุนต่างประเทศ ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
- กำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ (Capital gain) : เป็นภาษีที่เกิดจากส่วนต่างราคาในการขายหุ้นโดยคิดเฉพาะส่วนที่กำไร ซึ่งในส่วนของผู้ลงทุนที่เป็น ‘บุคคลธรรมดา’ ได้รับการยกเว้นภาษี / ‘นิติบุคคล’ ไม่มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
- เงินปันผล (Dividend) : เป็นภาษีที่เกิดจากการที่นักลงทุนได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่นักลงทุนถือหุ้นอยู่ นส่วนของผู้ลงทุนที่เป็น ‘บุคคลธรรมดา’ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% และยกเว้นภาษีในกรณีได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) / ‘นิติบุคคล’ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ยกเว้นภาษี ในกรณี
1) ผู้ได้รับเงินเป็นบริษัทจดทะเบียนโดยถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังวันที่ได้รับ เงินปันผล
2) ผู้ได้รับเงินได้ถือหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง โดยถือหุ้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อน และ 3 เดือนหลังวันที่ได้รับเงินปันผล และบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทผู้ได้รับเงิน
3) ได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ภาษีอื่น ๆ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) : ผู้ลงทุนจะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้การบริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ / สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในอัตราร้อยละ 7 ของค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าในการซื้อขายตามที่บริษัทหลักทรัพย์นั้นเรียกเก็บ
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax) เป็นภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.10% (อัตราตามมาตรา 91/6(1)) ของมูลค่าที่ขาย ปัจจุบันได้รับการยกเว้นจัดเก็บ แต่จะเริ่มจัดเก็บในเดือนที่ 1 ของไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
‘อาคม’ รมว.คลัง ชี้แจงเพิ่มเต็มกรณี ‘ภาษีขายหุ้น’
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาต่อ โดยยืนยันนักลงทุนรายย่อยจะได้รับผลกระทบไม่มากเท่ากับนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งต้องไปดูตัวนักลงทุนอีกครั้ง เพราะมีหลายประเภท เช่น นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน
ทั้งนี้ ในรายละเอียดของการจัดเก็บภาษีขายหุ้น จะจัดเก็บในอัตราครึ่งหนึ่ง หรือ 0.055% รวมกับภาษีท้องถิ่นในปีแรก หลังจากนั้นในปีต่อ ๆ ไป จะจัดเก็บในอัตรา 0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้ว ซึ่งการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในครั้งนี้ จะทำให้รายได้ภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นในปีแรกของการจัดเก็บ 8,000 ล้านบาท และในปีต่อ ๆ ไป ของการจัดเก็บปีละ 16,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามให้คงการยกเว้นภาษีให้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง กองทุนบำนาญซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด โดยกองทุนบำนาญ คือ กองทุนที่ผู้จ่ายเงินสมทบหรือเงินสะสมเข้ากองทุน สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าว ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ และกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนแก่กองทุนบำนาญ เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ใน ตลท. รวมทั้งการออมเพื่อการเกษียณอายุ
นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเพิ่มเติมคือ จะเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ใน ตลท. และการออมเพื่อการเกษียณอายุ แต่ยอมรับว่า อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมใน ตลท. ของไทย สูงขึ้นจาก 0.17% เป็น 0.22% แต่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกง ที่อยู่ที่ 0.38%
การวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญกรณี ‘ภาษีขายหุ้น’
ฝ่ายวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด คาดการณ์ว่าการเดินจัดเก็บภาษีขายหุ้น ที่เตรียมบังคับใช้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 นั้น คาดว่ารายได้รัฐบาลจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยอ้างอิงจากข้อมูลการซื้อขายปี 2565F ต่อปี 17.4 ล้านล้านบาท
โดยมองว่าความน่าสนใจในการลงทุนอาจลดลง เนื่องจาก Transaction cost ที่สูงขึ้น อาจไม่สอดรับกับ Market Cap. ตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของหุ้นใหม่ ๆ ได้ และน่าจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดโลกลดลง นอกจากนี้คาดว่ามูลค่าการซื้อขายจะหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยะยาวมีโอกาสลดลงด้วยเช่นกัน
ในส่วนของหุ้นที่ได้รับผลกระทบจาก ‘ภาษีขายหุ้น’ 1.หุ้น Broker 2.หุ้นขนาดเล็ก Valuation แพง มีการวื้อขายหนาแน่น และ 3.หุ้นที่มีสัดส่วนการใช้ Margin สูง
เกี่ยวกับเรื่องนี้
ประธาน FETCO ย้ำไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมของ ‘ภาษีขายหุ้น’
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุว่า ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เคยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และได้ทักท้วงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
โดยในช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่ง ในสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่ เช่น เงินคริปโต ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ
นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นถึงเค้าลางในบางประเทศ และสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า พร้อมยืนยันว่าช่วงนี้จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับเรื่องดังกล่าว