KEY :
- หลายฝ่ายในประเทศเกาหลีใต้กำลังพูดถึง “วัฒนธรรมการเบียดเสียด” ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่อิแทวอน
- วัฒนธรรมการเบียดเสียด ของเกาหลีใต้พบเห็นได้ทุกวันในการเข้าใช้บริการรถไฟใต้ดินในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่หลายคนต่างเบียดและดันกัน เพื่อให้แทรกตัวขึ้นขบวนรถไฟที่ต้องการ
- จากสถิติพบว่า ในหลายขบวนมีจำนวนผู้โดยสารสูงกว่า 250% ของความจุตู้โดยสาร และนักวิชาการก็ประเมินว่า “นั่นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่อิแทวอน”
- ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐหามาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยที่อิแทวอนอีกในอนาคต
…
จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในย่านอิแทวอนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 156 ราย และกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกทำให้นักวิชาการบางส่วนในเกาหลีใต้ เริ่มตั้งข้อสังเกตกับ “วัฒนธรรมเบียดเสียด” และความคุ้นเคยกับความแออัดกันในสถานที่ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่พบได้ทั่วไปในเกาหลีใต้อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุสลดในครั้งนี้
นักวิชาการในประเทศเกาหลีใต้ได้ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า ปัจจัยหนึ่งมาจากคนจำนวนมากที่ไปรวมตัวกันในย่านอิแทวอน เพื่อเที่ยวในเทศกาลวันฮาโลวีนที่จัดขึ้น โดยในปีนี้ ถือว่า เป็นปีแรกที่มีการจัดงานโดยได้รับการยกเว้นมาตรการการรักษาระยะห่าง ๆ ต่าง หลังจากที่มีโควิด-19 ระบาด ในประเทศเกาหลีใต้
เมื่อผู้คนต่างหลั่งไหลกันไปในย่านอิแทวอน ต่างก็ต้องการเข้าบรรยากาศดังกล่าว โดยต่าง “เบียดเสียด” กันเข้าไปในซอยที่มีสถานบันเทิง ผับ บาร์ เรียงรายกันสองฝั่งของซอยแคบ ๆ ต่างคนก็ต่างเบียด ผลัก ดันกันตาม ๆ กันไป ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุ้นชินกับวัฒนธรรมของชาวเกาหลีใต้
…
อะไรขึ้นวัฒนธรรมการเบียดเสียดอะไรขึ้นวัฒนธรรมการเบียดเสียด
โดยในแต่ละวันในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รถไฟใต้ดิน จะมีผู้คนจำนวนมากต่างไปรอที่จะขึ้นรถไฟใต้ดินในกรุงโซลเพื่อเดินทางไปทำงาน เมื่อรถไฟมาถึง ผู้คนก็จะเบียดเสียดกันเข้าไปในรถไฟเพื่อให้ตัวเองสามารถขึ้นไปอยู่บนขบวนรถไฟ เพื่อเดินทางไปยังปลายทางที่ตั้งใจไว้ได้
สำหรับคนไทย อาจจะคุ้นตากับภาพของการเบียดเสียดกันในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนของญี่ปุ่นที่มีผู้คนแออัดกันในรถไฟ ซึ่งเกาหลีใต้ ก็ไม่ต่างกัน ผู้คนต่างเบียดเสียด ผลัก-ดันกัน
และนั่น ถือเป็น “เรื่องปรกติ” ที่พบได้ทั่วไปในประเทศเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับการไปร่วมงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น คอนเสิร์ต งานเทศกาล สถานที่ต่าง ๆ ที่มีผู้คนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
การเดินชนกัน กระแทกกัน เบียดกัน ถือเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป สำหรับคนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยในวิถีชีวิตในลักษณะนั้นเท่าไหร่ ด้วยความรู้สึกที่ไม่ชอบการที่จะต้องให้ใครมาเบียด หรือแตะเนื้อต้องตัวกัน
…
ความเคยชินทำให้ไม่ตระหนักถึงอันตรายนั้น
ในทางกลับกัน ชาวเกาหลีใต้ที่อยู่ในประเทศไทย กลับรู้สึกแปลกใจเมื่อเห็นคนไทย “ยืนรอรถไฟฟ้าขบวนถัดไป” เพื่อคนเต็ม ซึ่งชาวเกาหลีใต้หลายคนระบุว่า ในรถไฟฟ้านั้น ยังคงเบียดกันเข้าไปได้อยู่ และไม่เข้าใจว่า “ทำไมต้องรอ” ดังนั้นการที่จะดันตัวเองเข้าไปในขบวนรถไฟจึง “เป็นเรื่องปรกติ” สำหรับชาวเกาหลีใต้
การดันและเบียดเสียดกันเข้าไปในขบวนรถไฟจึงกลายเป็น “ความคุ้นชิน” กับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งนักวิชาการชาวเกาหลีใต้ระบุว่า “นั่นทำให้เราไม่ได้ตระหนักถึงอันตราย” จากการเบียดกันแต่อย่างใด
ข้อมูลจาก Seoul Metro webzine ระบุว่า รถไฟใต้ดินในกรุงโซลนั้น มีความจุอยู่ที่ 160 คน/ตู้โดยสาร ซึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนพบว่า ความแออัดของผู้โดยสารโดยเฉพาะที่สถานีกูโร นั้นสูงถึง 403 คน หรือคิดเป็นจำนวนผู้โดยสาร 252% ของความจุ
หรือที่สถานีทงจัก อยู่ที่ราว 380 คน/ตู้ หรือคิดเป็น 238% ของความจุผู้โดยสาร
จำนวนผู้โดยสารกว่า 400 คนในพื้นที่ในตู้โดยสารขนาด 60.84 ตร.ม. คิดเป็น 6.6 คนต่อตารางเมตร และเมื่อคำนวณความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในเหตุการณ์ที่อิแทวอนพบว่า “อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน”
…
ทางลาดเอียงของจุดเกิดเหตุสลด
และความคุ้นชินกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ นักวิชาการของเกาหลีใต้คาดว่า นักท่องเที่ยวหลายคนไม่ได้ตระหนักต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอิแทวอน และยังคงเบียดและดันกันเข้าไปในตรอกแคบ ๆ
เมื่อไปเจอกับทางลาดในซอยข้างโรงแรมแฮมิลตัน ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ผู้คนบางส่วนล้มลงและคนที่อยู่ด้านหลังล้มทับตามกันลงมาจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในที่สุด
หลายฝ่ายจึงเริ่มจับตามองไปยังงานเทศกาลหรือกิจกรรมอื่น ๆ อีกเช่น งานเทศกาลดอกไม้ไฟที่เมืองปูซาน ที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 1 ล้านคน, การแข่งขันกีฬา, งานคอนเสิร์ต, จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นยอดนิยมที่คังวอนโด ซึ่งมักจะมีคนจำนวนมากไปร่วมงานกันอย่างแออัด
ซึ่งความคุ้นเคยกับ “วัฒนธรรมเบียดเสียด” การผลัก-ดันกันในสถานที่ต่าง ๆ อาจจะก่อให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมซ้ำรอยกับที่อิแทวอนได้ในอนาคต
…
หลายฝ่ายเริ่มเรียกร้องให้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อิแทวอน จึงทำให้ฝ่ายบริหารของเกาหลีใต้ เริ่มกลับมามองต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานีรถไฟใต้ดินของเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งมีจำนวนคนมากมายใช้เดินทางในแต่ละวัน
และอาจจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับที่เกิดขึ้นที่อิแทวอนได้เช่นกัน โดยนักกฏหมายในท้องถิ่นได้เรียกร้องให้ รัฐหามาตรการจัดการในการลดความแออัดในสถานีรถไฟใต้ดิน โดยเฉพาะรถไฟใต้ดินจากเมืองกิมโปโด ที่ถูกขนานนามว่า “นรกเหล็ก” เนื่องจากความแออัดของผู้ใช้บริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนสูงถึง 285% ของความจุผู้โดยสาร
ซึ่งรถไฟในเมืองกิมโบแห่งนี้ มีระยะทางรวม 23.67 กม. จากสถานีสนามบินกิมโปไปยังกรุงโซล โดยมีผู้โดยสารเฉลี่ยราว 68,000 คนต่อวัน ในขณะที่จำนวนพนักงานที่ดูแลมีจำนวนเพียง 212 คน จึงเป็นเรื่องยากที่จะรับมือกับจำนวนผู้โดยสารที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการหลายรายได้มีการร้องเรียนว่า จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟใต้ดินมีจำนวนมาก หลายคนระบุว่า หลายครั้งที่มีอาการหายใจไม่ออกจากการเบียดเสียดกันในขบวน
…
อ้างอิง :
- https://www.yna.co.kr/view/AKR20221102143500017
- https://www.yna.co.kr/view/AKR20221103092800065