KEY :
- เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. ….
- ที่ประชุมสภาฯ ตีตก ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ด้วยคะแนน เห็นชอบ 194 เสียง / ไม่เห็นชอบ 196 เสียง / งดออกเสียง 15 เสียง
- พรรคก้าวไกล ยืนยัน การผลักดันที่ผ่านมา มุ่งเน้นการเพิ่มผู้ผลิต จากการผูกขาดเพียงไม่กี่ราย
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมจับตามองอย่างมาก ภายหลังเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอน วิธีการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตผลิตสุราให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุรา ในปัจจุบันให้มากขึ้น
ซึ่งการอนุมัติหลักการดังกล่าว เกิดขึ้นเพียง 1 วัน ก่อนที่จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล เสนอในวาระที่ 2 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565
โดยหลายฝ่ายมองว่าการเห็นชอบ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว อาจเป็นการส่งสัญญาณให้กับฝั่งผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ให้ทราบเป็นนัย ๆ ว่า อาจจะมีการคว่ำร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายคิดย่อมไม่พลิกโผ เมื่อที่ประชุมสภาฯ ตีตกร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ด้วยคะแนน เห็นชอบ 194 เสียง / ไม่เห็นชอบ 196 เสียง / งดออกเสียง 15 เสียง ซึ่งเป็นอันว่าร่างดังกล่าวที่ตีตกไปโดยทันที
เปิดสาระสำคัญในกฎกระทรวงอนุญาตผลิตสุราฯ
กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ส่งผลทำให้ยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ทันที โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิต “กรณีสุราแช่” เช่น น้ำตาลเมา อุ เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิ้งไวน์ และสุราแช่พี้นเมือง โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ยังต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฏหมายไทยและมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในส่วนของ “กรณีสุรากลั่น” เช่น สุราขาว ยังเพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดกลาง ที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 50 จากเดิมที่มีขนาดเครื่องจักร ไม่เกิน 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือโรงงานไซร์ “S” ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยจะทำให้กำลังการผลิตและคุณภาพดีขึ้น
2.ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ ชนิดเบียร์ จากที่กำหนดกำลังต้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร/ปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตร/ปี โดยให้เป็นโรงงานตามกฏหมายว่าด้วยโรงงาน หรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ ชนิดเบียร์ที่มีมาตรฐานตามที่ อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศ แต่ยังให้คงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำลังการผลิตขั้นต่ำตามเดิม ในส่วนโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่น ชนิดสุราพิเศษ เช่น วิสกี้ บรั่นดี และยิน ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตร/วัน และโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดอื่นๆ เช่น สุรากลั่นชนิดสุราขาวและองค์การสุรา ไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตร/วัน รวมทั้งให้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยโรงงาน
ทั้งนี้ ยังเพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการขออนุญาต โดยให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้
อีกทั้ง เป็นการผ่อนคลายความเข้มข้นของ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการหารือหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการผ่อนคลายหลักเกฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุรา ให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในเชิงธุรกิจ และธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราในปัจจุบัน
ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญในเชิงประโยชน์ของรัฐ ในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสินค้าสุราที่ผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและความปลอดภัยต่อการบริโภค ครอบคลุมการดูแลทั้ง 3 ด้าน คือ การดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน การดูแลสังคม ป้องกันอุบัติเหตุที่มาจากการดื่มสุรา รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตสุราด้วย
‘พรรคก้าวไกล’ ออกแถลงการณ์ หลังสภา คว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
แม้ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล จะไม่ผ่านสภา ด้วยคะแนน เห็นด้วย 194 ไม่เห็นด้วย 196 โดยแถลงการณ์ของทางพรรค ระบุว่า เรื่องนี้ได้มีการรณรงค์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก
ซึ่งการผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ผ่านนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่การส่งเสริม หรือ เพิ่มจำนวนนักดื่มให้มากขึ้น แต่มุ่งเน้นการเพิ่มผู้ผลิต จากการผูกขาดเพียงไม่กี่รายในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการปลดล็อกให้มีผู้ผลิตรายย่อยและรายใหญ่เพิ่มมากขึ้น เป็นการกระจายรายได้ให้เข้าถึงประชาชนที่สนใจ มากกว่าสร้างรายได้เพียงกลุ่มผู้ประกอบรายใหญ่แค่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น
พร้อมกันนี้มองว่า กฎกระทรวงที่ออกมานั้น ไม่ได้เอื้อประโยชนแก่ประชาชนอย่างแท้จริง เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ยังคงไม่สามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับรายใหญ่ได้เช่นเดิม
โดยทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนจะมอบให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นเสียงแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ได้ใช้อำนาจสูงสุดของประชาชน และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
เปรียบเทียบ กฎกระทรวง – พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
ข้อมูลจากบล็อกสุราไทย (Sura Thai) เปรียบเทียบสาระสำคัญระหว่างร่างกฎกระทรวงปี 2560 กับปี 2565 และร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไว้ดังนี้
กฎกระทรวง 2560 | พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า | กฎกระทรวง 2565 |
บริวผับ (บรรจุขวดขายไม่ได้) ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท | ห้ามกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ | ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน |
บริวผับ (บรรจุขวดขายไม่ได้) ต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 100,000 ลิตร ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี | ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ และการกีดกันอื่นใด | ไม่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ แต่ต้องมีเครื่องจักรที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และปฏิบัติตาม กม. สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข |
โรงเบียร์ ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท | ห้ามกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ | ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ |
โรงเบียร์ ต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปี | ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ และการกีดกันอื่นใด | ไม่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ แต่ต้องมีสายการผลิตที่ติดตั้งระบบพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษี และผ่านความเห็นชอบ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม |
สุรากลั่นชุมชน มีเครื่องจักรไม่เกิน 5 แรงม้า คนงานน้อยกว่า 7 คน ผลิตได้แต่สุราขาวเท่านั้น | ห้ามกำหนดแรงม้า จำนวนคนงาน และการกีดกันอื่นใด | สุราชุมชนประเภท 5 แรงม้ายังคงเดิม แต่เพิ่มประเภทไม่เกิน 50 แรงม้า โดยมีข้อกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข แต่ยังผลิตได้แต่สุราขาวเท่านั้น |
โรงงานผลิตสุราขาว กำลังผลิตขั้นต่ำ 28 ดีกรี 90,000 ลิตรต่อวัน | ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ | โรงงานผลิตสุราขาว ยังคงต้องมีกำลังผลิตขั้นต่ำ 90,000 ลิตรต่อวัน |
โรงงานผลิตวิสกี้ บรั่นดี ยิน กำลังผลิตขั้นต่ำ 28 ดีกรี 30,000 ลิตรต่อวัน | ห้ามกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ | โรงงานผลิตวิสกี้ บรั่นดี ยิน ยังคงต้องมีกำลังผลิต 30,000 ลิตรต่อวัน |
ห้ามผลิตสุราเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน | ให้ผู้ประสงค์จะผลิตที่ไม่เป็นการค้า ขออนุญาตต่ออธิบดี ตามปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง | ให้ผู้ประสงค์จะผลิตที่ไม่เป็นการค้า ขออนุญาตต่ออธิบดี แต่อนุญาตเพียง 200 ลิตรต่อปี ทั้งสุราแช่และสุรากลั่น |
รัฐบาลแจงประโยชน์ 9 ประการ ของการออกกฎกระทรวงฯ
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ประกาศกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 มีประโยชน์กับประชาชน 9 ประการ ดังนี้
- 1. กฎกระทรวงบังคับใช้ได้ทันเหตุการณ์ ทันที เหมาะกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราที่เปลี่ยนไป
- 2. สอดคล้องกับสภาพการณ์ในเชิงธุรกิจ และการขออนุญาตจะทำได้ง่ายขึ้น
- 3. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้มากขึ้น เกิดความเท่าเทียมในการเข้าสู่ตลาด ไม่กีดกันทางการค้า
- 4. สุราได้คุณภาพมาตรฐาน และเกิดการแข่งขันด้านกลไกตลาดที่เป็นธรรม
- 5. คุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคให้ปลอดภัยได้มากกว่า
- 6. ดูแลสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ด้วยมีกฎหมายควบคุมไว้แล้ว
- 7. รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน
- 8. จัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เพิ่มรายได้เข้ารัฐที่จะส่งต่อให้สังคม
- 9. อุดช่องโหว่เรื่องไม่ควบคุมการผลิตสุรา ที่มิใช่เพื่อการค้า
ส่วนในฝ่ายบริหาร ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ตามที่ผู้เกี่ยวข้องเสนอ และ ครม. มีมติประกาศกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 การอนุญาตให้ผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ ต้องมีมาตรการควบคุมคุณภาพและสุขอนามัยในการผลิต สถานที่ผลิตต้องไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่นในชุมชน และสุราที่ผลิตจะต้องปลอดภัยมีคุณภาพได้มาตรฐาน
นอกจากนี้มาตรการต่าง ๆ ในกฎกระทรวง ยังมีการคำนึงถึงการป้องกันและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต เป็นกฎหมายที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้บริโภค อีกทั้งยังคำนึงถึงความปลอดภัยในสังคม มุ่งหวังที่จะส่งเสริมภูมิปัญาท้องถิ่น ผู้ผลิตสุรารายใหม่สามารถเข้าสู่ธุรกิจสุราได้ง่ายขึ้น และผู้ผลิตสุราขนาดเล็กรายเดิมสามารถเติบโตได้ภายใต้การกำกับดูแลเรื่องคุณภาพสุราและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของผู้บริโภคเป็นสำคัญด้วย
กรมสรรพามิตร ย้ำ เปิดโอกาส พร้อมส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
การออกกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. เน้นให้ความสําคัญ กับเรื่องคุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อการบริโภคและผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
เปิดโอกาสสําหรับผู้ผลิตสุราชุมชนขนาดเล็ก สามารถขยายกําลังการผลิต และยกระดับเป็นสุราชุมชนขนาดกลางได้
- ต้องเป็นผู้ผลิตสุราชุมชนขนาดเล็กมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ปี
- ไม่เคยกระทําความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยทําแต่พ้นโทษมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ปี
(เดิม : ไม่เคยมีสุราชุมชนขนาดกลางมาก่อน)
เปิดโอกาสสําหรับผู้ผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ โดยยกเลิกการ กําหนดทุนจดทะเบียนและกําลังการผลิตขั้นต่ำ
เดิม : มีการกําหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท และการผลิตขั้นต่ำสําหรับการผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต 100,000 – 1,000,000 ลิตรต่อปี และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ 10 ล้านลิตรต่อปี
เปิดโอกาสสําหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อขายได้
- บุคคลธรรมดา มีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคล
- มีปริมาณการผลิตสุรา ไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี
- สถานที่ผลิตต้องไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อน หรือความเสียหายต่อผู้อื่น
(เดิม : ไม่เคยมีการอนุญาตบุคคลธรรมดาสามารถผลิตได้มาก่อน)
ข้อมูล :
- ราชกิจจานุเบกษา
- กระทรวงการคลัง
- Sura Thai
- พรรคก้าวไกล