วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย หลังประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่กระทรวงกาาคลังวันนี้ ซึ่งประชุมกันนานเกือบ 3 ชม. เพื่อทบทวนรายละเอียด และเกณฑ์การลงทะเบียนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมธรรมดาไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ก็มีการพิจารณาหลายอย่าง แต่หลักๆคือรับทราบในเรื่องของรายงานและ การดำเนินการในปีที่ผ่านมา และการประมาณการในปีนี้ ซึ่งได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม ส่วนในเรื่องของกระบวนการ ครม. สั่งมาว่าให้ทบทวนทุก 2 ปี และให้ดำเนินการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ โดยจะเริ่มกระบวนการตั้งแต่ 31 มี.ค. เป็นต้นไป ซึ่งวันนี้ก็มีการอนุมัติงบประมาณบางส่วน ที่จะนำไปใช้ในการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมีประมาณ 14.5 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ผ่านกระบวนการแล้ว หรือกลุ่มเดิม แต่กลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านคน ที่ไม่ผ่านกระบวนการ E-KYC หรือการยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ผ่านมาตั้งแต่ต้น เป็นคนผ่านเกณฑ์มาลงทะเบียน แต่ไม่ผ่านกระบวนการจนเสร็จสิ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ให้เข้าไปตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ welfare.mof.go.th ซึ่งหากพบว่าตนเองมีสิทธิ์แต่ยังไม่ผ่านกระบวนการ E-KYC ให้ไปยืนยันตัวตนที่ธนาคารกรุงไทยเท่านั้นเพื่อให้ขั้นตอนสมบูรณ์ ซึ่งหากไม่ไปยืนยันตัวตนภายใน 26 ธันวาคมก็จะถือว่าสละสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ซึ่งคนจำนวน 14.5 ล้านคนที่ผ่านสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจะมีการตรวจสอบสิทธิ์อีกครั้งว่าอยู่ในกลุ่มคนที่ได้สิทธิ์หรือไม่ ซึ่งหากไม่อยู่ในเกณฑ์ก็จะหลุดออกไป นอกจากนี้จะมีการเปิดให้คนกลุ่มใหม่ประมาณการไว้ 10 ล้านคน ลงทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์ว่าจะได้สิทธิ์หรือไม่ ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการในช่วงสองปีที่ผ่านมา ที่รวมถึงกลุ่มคนที่ลงทะเบียนไว้แต่ยังไม่ได้สิทธิ์ด้วย
ประเด็นต่อมา ได้มีการเสนอในเรื่องหลักเกณฑ์ที่จะเข้าสู่สิทธิ์มีอะไรบ้าง โดยดูทั้งหลักเกณฑ์เก่าและหลักเกณฑ์ใหม่เปรียบเทียบกัน หลักเกณฑ์เก่าใช้มาประมาณ 2 ปีแล้ว ซึ่งก็มีความคิดว่าจะต้องทบทวนหลักเกณฑ์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะมีเกณฑ์หลายประเภท เช่น ดูเกณฑ์ในเรื่องของครอบครัว มีลูกหรือไม่ ,เกณฑ์ของรายได้ ,ที่ดิน , สินทรัพย์ที่ถือ รวมไปถึงสลากและพันธบัตร ซึ่งจะมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านนโยบายที่นำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ไปทบทวนเรื่องดังกล่าวและนำกลับมาเสนอเพื่อให้ทางคณะกรรมการมีทางเลือก คือจะใช้เกณฑ์เก่า หรือจะเป็นเกณฑ์ใหม่ หากใช้จะมีการเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้ดีขึ้น มีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร ซึ่งก็มีข้อเสนอจากกรรมการหลายคน เช่น ต้องดูเรื่องของภาระงบประมาณ รวมไปถึงดูมาตรการรัฐอื่นๆ รวมไปถึงเรื่องของการแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่ต้องรอดูการประเมินผลของ สศค. ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน