วันนี้ ( 22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารผลการประชุมฯ คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย ในกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ ๑) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ ๒) ร่วมกันกระทําการ อันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 5 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ ๑
ผู้ถูกร้องที่ ๑ สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาล ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ ๑ ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตํารวจ ในระหว่างรับโทษ จําคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจํา ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต
ประเด็นที่ ๒
ผู้ถูกร้องที่ ๑ สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา
ให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
ประเด็นที่ ๓
ผู้ถูกร้องที่ ๑ สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเดิมที่ต้องคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประเด็นที่ ๔
ผู้ถูกร้องที่ ๑ สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ ๒ โดยเจรจากับแกนนําของพรรคการเมืองอื่น ที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ ๑
ประเด็นที่ ๕
ผู้ถูกร้องที่ ๑ สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ประเด็นที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ ๑ สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ นํานโยบายของผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ ไปดําเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา
ผู้ร้องยื่นคําร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๗ ขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทํา แต่อัยการสูงสุดมิได้ดําเนินการภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ เลิกกระทําการ ดังกล่าวและให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ ใช้เป็นเครื่องมือกระทําการดังกล่าว
เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๗ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้มีหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอทราบ ว่าได้ดําเนินการตามคําร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อ ศาลรัฐธรรมนูญภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งอัยการสูงสุดได้รับหนังสือเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๗ ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน ๒๕๖๗ และวันจันทร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ สํานักงาน ศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือสํานักงานอัยการสูงสุด ลับ ด่วนที่สุด ที่ อส ๐๐๓๓.๓/๑๘๙๘๐ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ และหนังสือสํานักงานอัยการสูงสุด ลับ ด่วนที่สุด ที่ อส ๐๐๓๓.๓/๑๙๑๐๐ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ส่งเอกสารตามหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญ ตามลําดับ
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคําร้องต่ออัยการ สูงสุดแล้วและอัยการสูงสุดไม่ดําเนินการภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ อันทําให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคําร้อง โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏ ข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่าน่าจะทําให้ เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทํานั้นจะต้องกําลังดําเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
ข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ ๑ และประเด็นที่ ๓ ถึงประเด็นที่ 5 ยังไม่มีน้ําหนักพยานหลักฐาน เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทําให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง ดังนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ ๑ และประเด็นที่ ๓ ถึงประเด็นที่ ๖
สำหรับประเด็นที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (๗ ต่อ ๒) มีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จํานวน ๗ คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ยังไม่มีน้ําหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทําให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จํานวน ๒ คน คือ นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์ เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทําให้เกิดผล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้