KEY :
- การสู้รบในยูเครนยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง หลังผ่านพ้นมาถึง 4 เดือนแล้ว
- ยูเครนยังคงสามารถยันแนวรุกสำคัญ ๆ ได้ในบางจุด แต่ท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ทำให้เป้าหมายที่จะทวงคืนพื้นที่จากรัสเซียเป็นไปได้ยาก
- ยูเครนเผชิญปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อาวุธที่ได้รับยังคงมีปัญหาทั้งในแง่ของจำนวน การส่งกำลังบำรุง รวมถึงกำลังทหารที่จะใช้ในการสู้รบด้วย
- ในขณะที่รัสเซียเอง แม้ว่าจะได้เปรียบในการที่มีอาวุธระยะไกลอย่างขีปนาวุธต่าง ๆ แต่การรุกคืบก็ทำได้ไม่มากนัก
- ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัสเซียจะมีการปรับแผนปฏิบัติการที่รัดกุมมากขึ้นจากในระยะแรก เพื่อลดความสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการส่งกำลังบำรุง
- นอกจากนี้ แผนการปิดล้อมฐานที่มั่นสำคัญ ๆ ทำให้รัสเซียต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการยืดพื้นที่ เช่นที่เกิดขึ้นในมาริอูปอล และกำลังซ้ำรอยอีกครั้งที่โรงงานเคมี Azot ในเซเวโรโดเนตสค์
- ผลกระทบจากสงครามที่ส่อแววยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาน้ำมัน และสินค้าต่าง ๆ ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
…
หลังจากที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตียูเครน ในเช้าตรู่ของวันที่ 24 ก.พ. 2565 ซึ่งผ่านมาแล้ว 120 วันหลังการเปิดการโจมตี สถานการณ์ในยูเครนยังคงมีการสู้รบกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และชาติพันธมิตรของยูเครน ยังคงทยอยส่งอาวุธต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ รัสเซียมีการปรับแผนเข้าสู่ระยะที่ 2 โดยถอนกำลังออกมาจากการปิดล้อมกรุงเคียฟ และเน้นมาปรับแนวการรุกทางด้านตะวันออกของยูเครน ในภูมิภาคดอนบาสอย่างจริงจังมากขึ้น นำไปสู่การยึดฐานที่มั่นของกองกำลัง Azov ในมาริอูปอลได้ในที่สุด
แต่.. สถานการณ์ในขณะนี้ ทั้งสองว่า ยังอยู่ในสภาวะ “ติดหล่ม” ที่ต่างฝ่ายต่างยังไม่สามารถรุกคืบได้มากนัก สถานการณ์ในบางจุดยูเครนได้เปรียบในการรุกไล่ทวงคืนพื้นที่ ในขณะที่บางจุด รัสเซียก็รุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่เพิ่มได้เช่นกัน
เกิดอะไรขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ที่ทำให้การสู้รบอยู่ในภาวะติดหล่ม ส่อแววยืดเยื้อต่อเนื่อง?
…
สถานการณ์ติดหล่มของยูเครน
แม้ว่ายูเครนจะได้รับการสนับสนุนต่าง ๆ จากชาติในกลุ่มนาโต้อย่างมาก โดยเฉพาะในด้านของอาวุธ-ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่า ยูเครนเอง ก็เผชิญปัญหาต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย และมีปัญหาที่ค่อนข้างหลากหลายทีเดียว นั่นทำให้การบุกทางคืนพื้นที่ในบางจุดของยูเครนทำได้ไม่ดีนัก
เริ่มขาดกำลังพล
จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ปธน. โวโลดีมีร์ เซเลนสกีขอยูเครนได้กล่าวถึงความสูญเสียของกำลังพล โดยระบุว่า มีทหารยูเครนเสียชีวิตจากการสู้รบราว 60-100 นายต่อวัน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในขณะที่ นาย Oleksiy Arestovych ที่ปรึกษาของปธน.ยูเครน ระบุกับสำนักข่าว The Guardian ว่า ยูเครนสูญเสียกำลังทหารทั้งจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บราว 600 – 1000 คนต่อวัน ซึ่งในสัปดาห์นี้ ตัวเลขความสูญเสียอยู่ที่ 150 คน และบาดเจ็บอีกราว 800 คน/วัน ส่วนนาย Mykhaylo Podolyak ระบุว่า มีทหารยูเครนเสียชีวิตราว 100-200 คน/วัน
จากสถานการณ์นี้ ทำให้ยูเครนขาดแคลนกำลังพลบางส่วนในการต่อต้านแนวบุกของรัสเซีย และกำลังต้องเร่งในการเกณฑ์ทหารเพิ่ม ทำให้ใน Telegram ของหลายแหล่งเผยแผ่คลิปและภาพ ที่ทหารยูเครน นำหมายไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อส่งหมายเรียกประจำการมากขึ้น
นานาปัญหากับทหารใหม่
ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทำให้ยูเครนต้องเร่งในการฝึกทหารใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพลเรือนมาฝึกใช้อาวุธเพื่อเป็นทหารออกไปสู้รบกับกองทัพรัสเซียดูจะเป็นปัญหากับกองทัพยูเครนไม่น้อย ซึ่งในรายงานขณะนี้พบปัญหาบางอย่างเช่น
การฝึกที่สั้นเกินไป
ในการฝึกทหารใหม่ รวมถึงการฝึกการใช้อาวุธสมัยใหม่จากชาติพันธมิตรในขณะนี้ล้วนแล้วแต่เป็น “หลักสูตรเร่งรัด” เพื่อส่งทหารออกไปยันแนวการบุกของรัสเซียให้ทัน ทหารบางส่วนพร้อมรบ บางส่วนยังไม่พร้อมเต็มที่ และถูกส่งออกไปสู้รบ
เช่นเดียวกับการฝึกใช้อาวุธบางอย่างที่ทันสมัยเช่น Javelin, NLAW จำเป็นต้องใช้ทักษะบางอย่าง ทำให้ทหารที่มีเกินวัย 40 ปีไปแล้ว เริ่มมีปัญหากับความเข้าใจในระบบต่าง ๆ เหล่านี้ รวมถึงระยะเวลาฝึกที่สั้น บางครั้งฝึกเพียงครึ่งวัน โดยไม่ได้มีการทดลองใช้งานจริง เนื่องจากจำนวนไม่มากพอ ทำให้เมื่อออกไปปฏิบัติงานแล้ว ไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่
ทหารใหม่ โดยเฉพาะทหารที่อายุน้อย มักจะติดการเล่นโซเซียล รวมถึงการโทรศัพท์ – ส่งผลให้กองทัพรัสเซียใช้ข้อมูลที่โพสต์ลงใน IG, Telegram หรือดังสัญญาณมือถือ ก่อนที่จะใช้ปืนใหญ่ ปืนใหญ่อัตราจร หรือแม้กระทั่งขีปนาวุธโจมตีไปยังเป้าหมายที่ได้ข้อมูลมา
ขวัญและกำลังใจในการสู้รบ – มีรายงานใน Telegram ของกลุ่มทหารชาวยูเครน ซึ่งเป็นทหารที่มีประสบการณ์รบ มักจะพูดถึงปัญหาที่ทหารใหม่ มักจะละทิ้งที่ตั้ง – สนามเพลาะออกไปโดยเร็ว หากรัสเซียเปิดการโจมตีด้วยปืนใหญ่ปูพรมเข้ามา ส่งผลให้รัสเซียสามารถยึดพื้นที่ รวมถึงอาวุธต่าง ๆ ได้โดยง่าย
ขาดยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ
ในช่วงระยะหลังนี้ จะมีอาวุธในบางชนิดที่ยูเครนประสบปัญหาไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เช่น Javelin ที่เริ่มร่อยหรอลงไปจากในช่วงแรก ด้วยเหตุผลจากการที่บางส่วนถูกรัสเซียถล่มด้วยขีปนาวุธไปยังสถานที่เก็บอาวุธเหล่านี้ บางส่วนถูกยึดได้ บางส่วนใช้งานไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาในเรื่องของแบตเตอรี ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมใช้เฉพาะหน้าด้วยการพ่วงแบตเตอรีอย่างอื่นแทนเพื่อจ่ายไฟให้ระบบทำงานได้ ทำให้ในส่วนนี้ ไม่สามารถใช้จัดการยานเกราะ, รถถังของรัสเซียได้มากเหมือนก่อน ไม่นับการที่รัสเซียปรับแผนการโจมตีด้วย
ทำให้บางหน่วยที่อยู่ในแนวหน้า ไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอออกมาแถลงการณ์ผ่าน Telegram ประกาศยอมจำนนอยู่เช่นกัน
กระสุนปืนใหญ่ขาดแคลน แม้ว่าในช่วงหลังชาติต่าง ๆ ได้สนับสนุนปืนใหญ่ขนาดต่าง ๆ เช่น ปืนใหญ่ขนาด 155 มม. อย่าง M777 howitzers ให้ยูเครนได้ใช้งาน แต่กระสุนปืนใหญ่ ที่จะต้องใช้งานนั้น กลับไม่เพียงพอตามความต้องการ ทำให้ในบางพื้นที่ ยูเครนไม่สามารถใช้ตอบโต้กระสุนปืนใหญ่ของรัสเซียได้มาก เหมือนช่วงแรก
รัสเซียยิงถล่มคลังอาวุธ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ยูเครนประสบปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งรัสเซียยังคงได้เปรียบในการใช้ขีปนาวุธถล่มไปยังแนวหลังของยูเครน ในพื้นที่เป้าหมายที่ถูกระบุว่า เป็นจุดเก็บอาวุธและเครื่องกระสุนต่าง ๆ ทำให้แม้ว่าจะมีสนับสนุนเข้ามา แต่ก็ถูกระเบิดเสียหายไปนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีบางจุดที่ประสบปัญหาการจัดส่งกำลังบำรุงที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ จากหลาย ๆ สาเหตุ ยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนอาวุธในแนวหน้าบางจุดของยูเครนค่อนข้างมาก ส่งผลให้กองกำลังอาสาบางส่วน ประกาศถอนตัวออกจากแนวรบ เนื่องจากปัญหาดังกล่าว
…
ภาวะติดหล่มของกองทัพรัสเซีย
หลังจากที่รัสเซียได้มีการปรับแผนในปฏิบัติการทางทหารมาเป็นระยะที่ 2 โดยมาเน้นแนวด้านตะวันออกทางภูมิภาคดอนบาส เป็นหลัก ทำให้รัสเซียสามารถแก้ไขปัญหาหลักที่พบในระยะที่ 1 นั่นคือ “สายส่งกำลังบำรุง” ที่สามารถจัดส่งได้ต่อเนื่องมากกว่าในระยะที่ 1 ที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งกำลังคนและยุทโธปกรณ์จำนวนมาก
แต่ขณะนี้ แนวการปฏิบัติการของรัสเซีย ก็อยู่ในสภาวะติดหล่มไม่ต่างกัน แม้จะดูสถานการณ์เป็นต่อทางด้านของยูเครนอยู่ก็ตาม
การรุกคืบที่ล่าช้า
ในแผนระยะที่ 2 รัสเซียเลือกที่จะค่อย ๆ บุกโจมตีในจุดสำคัญ ๆ เพื่อขีดวงพื้นที่ในการ “ปิดล้อม” ทหารยูเครน แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นที่เมืองมาริอูปอล ซึ่งรัสเซียใช้วิธีให้ปืนใหญ่ขนาดต่าง ๆ ยิงโจมตีไปยังพื้นที่เป้าหมาย ก่อนส่งทหารเข้าเคลียร์พื้นที่ หากเคลียร์ได้ ก็จะยืดครองพื้นที่นั้นต่อไป
แต่หากไม่สามารถเคลียร์ได้ ก็จะถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ แล้วให้ปืนใหญ่ยิงสนับสนุนอีกครั้ง และส่งทหารเข้าเคลียร์พื้นที่ตามมา หากยังไม่ได้ ก็จะวนกลับมาตั้งหลักใหม่และหาแนวทางปฏิบัติการเพิ่มเติม
“Artillery conquers, infantry occupies”
ปืนใหญพิชิต, ทหารราบเข้ายึดครอง
แนวทางนี้ เป็นยุทธวิธีที่มีใช้กันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก แน่นอนว่า การรุกคืบที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้รวดเร็วเหมือนช่วงก่อนหน้า ที่ใช้รถถัง ยานเกราะเคลื่อนที่เร็วเข้าโจมตี ซึ่งในระลอกแรกประสบปัญหาถูกโจมตีด้วย Javelin, NLAW อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความสูญเสียค่อนข้างมาก
แนวต้านที่หนักหน่วง
การที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่าง ๆ ส่งปืนใหญ่ รุ่นต่าง ๆ เช่น M777 howitzer เข้าไปหลายระบบ ทำให้การตอบโต้ของยูเครนมีความแม่นยำค่อนข้างสูง เมื่อโดรนสามารถตรวจจับพิกัดที่ตั้งปืนใหญ่ของรัสเซีย ก็จะมีการยิงตอบโต้กลับมาอย่างรวดเร็ว และแม่นยำ สร้างความสูญเสียให้กับรัสเซียได้ในหลายจุด
นั่นส่งผลให้รัสเซียกลับมาทำการบ้านใหม่ก่อนที่จะเปิดฉากโจมตีอีกครั้ง
ในขณะที่เคอร์สัน สถานการณ์นั้นยูเครนย้ายกำลังบางส่วนมาเพื่อต้องการทวงคืนพื้นที่ และยันแนวของรัสเซียไม่ให้รุกคืบไปได้ ทำให้ในจุดนี้ สถานการณ์จึงยังคงผลัดกันรุก-รับอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างชัดเจน
ยูเครนจำเป็นที่จะต้องยันแนวในด้านนี้ไว้ เพื่อไม่ให้รัสเซียผ่านไปสู่เมืองโอเดสซา เมืองท่าแห่งสุดท้ายของยูเครนได้นั่นเอง
ด้านของคาร์คิฟ ยูเครนสามารถดันแนวทางคืนพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รัสเซียดูจะเสียเปรียบและต้องถอยกำลังกลับมา
ยูเครนได้ยังได้เปรียบในการตั้งรับ
หลังจากรัสเซียปรับแผนปฏิบัติการระยะที่ 2 จุดที่กองกำลังรัสเซียใช้เวลามากที่สุด เห็นจะเป็นที่เมืองมาริอูปอล บริเวณโรงงานผลิตเหล็กกล้าอาซอฟสตัล (Azovstal) ที่มีการปักหลักต่อสู้ และทำให้รัสเซียต้องใช้เวลาในการปิดล้อมค่อนข้างนาน
และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ก็เหมือนจะเป็นหนังม้วนเดียวกันกับ โรงงานเคมีอาซ็อต (Azot) ในเซเวโรโดเนตสก์ ที่ยังคงมีกองกำลังของยูเครนปักหลังอยู่ในโรงงาน พร้อมกับพลเรือนบางส่วน ซึ่งรัสเซียได้ประกาศเปิดเส้นทางอพยพ สำหรับพลเรือนแล้ว เหมือนกับที่โรงงานเหล็กอาซอฟสตัล
นอกจากนี้ การโจมตีของยูเครนนั้น มีประสิทธิภาพและความแม่นยำค่อนข้างสูง จากอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ดังนั้นแม้ว่า มีกระสุนที่น้อยกว่า แต่ความสูงกว่า ทำให้ในจุดที่มั่นสำคัญ ๆ ยูเครนยังคงสกัดแนวรุกของรัสเซียได้ดี เช่นทางด้านของ Kherson เป็นต้น
กองหนุนที่ยังมีปัญหา
ในการสู้รบในครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัสเซียก็เผชิญกับความสูญเสียไม่น้อยเช่นกัน ทำให้ในบางจุด มีการรับสมัครอาสาพลเรือนในพื้นที่เข้ามาร่วมปฏิบัติการด้วย โดยเฉพาะในภูมิภาคดอนบาส อย่างไรก็ตามกำลังอาสาเหล่านี้ ก็มีปัญหาไม่ต่างกับที่ยูเครนประสบอยู่จากการเกณฑ์กำลังพลรุ่นใหม่ ๆ เพียงแต่รัสเซียยังสามารถจัดการปัญหาได้ดีกว่า และการโจมตีในแผนใหม่นี้ ลดความสูญเสียได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการปฏิบัติการในระยะที่ 1
แต่กองกำลังอาสาก็ไม่ได้ราบรื่น เนื่องจากมีบางส่วนเข้าร่วมเพื่อต้องการเพียงเพื่อปกป้องบ้านเรือน หมู่บ้านของตนเองเท่านั้น ไม่ได้ต้องการไปเป็นแนวหน้าในการสู้รบกับทหารยูเครน ทำให้มีบางส่วนที่ประกาศ-แถลงการณ์แสดงเจตนารมย์ผ่าน Telegram อยู่เป็นระยะ ๆ เช่นกัน
…
ประชากรโลก จะได้รับผลกระทบจากการติดหล่ม
การสู้รบของทั้งสองฝ่ายที่ยังคงอยู่ในภาวะ “ติดหล่ม” กันอยู่ในขณะนี้ ก็จะยิ่งส่งผลให้การสู้รบยืดเยื้อออกไปอีก และยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดของการสู้รบในครั้งนี้ และแนวโน้มของการเจรจาเพื่อยุติศึกก็ยังคงไม่มีวี่แววที่จะเกิดขึ้นได้แต่อย่างใด
นั่นย่อมหมายความว่า การคว่ำบาตรต่าง ๆ ของชาติตะวันตกก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลต่อราคาสินค้าหลายอย่างเช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ ปุ๋ย และอาหารอีกหลายชนิดจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นราคาต้นทุน ซึ่งในขณะนี้ สถานการณ์เงินเฟ้อกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก
ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไป นั่นย่อมหมายถึงวิกฤติเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกก็จะยังคงเผชิญปัญหาต่อเนื่องไปอีก และนั่นหมายถึงคนอีกหลายสิบล้านคนทั่วโลก ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยและยาวนานมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และอาหารมีราคาแพงขึั้น