คัดลอก URL แล้ว
ศึกษาพบเหตุ ‘ปล่อยคาร์บอน’ เมื่อ 300 ล้านปีก่อน กระทบความหลากหลายทางชีวภาพ

ศึกษาพบเหตุ ‘ปล่อยคาร์บอน’ เมื่อ 300 ล้านปีก่อน กระทบความหลากหลายทางชีวภาพ

KEY :

คณะนักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ศึกษาสถานการณ์เมื่อ 300 ล้านปีก่อน และพบสถานการณ์ที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมภาวะโลกร้อนอาจทำให้โลกของเราตกอยู่ในอันตรายในอนาคตอันใกล้นี้

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารโพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ เนชันนัล อคาเดมี ออฟ ไซเอนส์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ชี้ว่าภาวะโลกร้อนฉับพลันที่เชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณมากเมื่อ 304 ล้านปีก่อน ทำให้เกิดพื้นที่ที่ขาดออกซิเจนเทียบเท่ากับประมาณร้อยละ 20 ของพื้นทะเล

มหายุคพาลีโอโซอิกตอนปลาย (Late Paleozoic Ice Age) หรือช่วง 360-280 ล้านปีก่อน เป็นช่วงที่มีภูมิอากาศแบบโรงน้ำแข็ง (icehouse climate) ยาวนานที่สุด และเป็นยุคเดียวที่มีการเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศโรงน้ำแข็งสู่ภูมิอากาศเรือนกระจก (greenhouse climate) นับตั้งแต่พืชชั้นสูงและระบบนิเวศบนบกปรากฎขึ้น

เหล่านักวิทยาศาสตร์จากจีน สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ ได้เก็บตัวอย่างในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และวัดค่าไอโซโทปของคาร์บอนและยูเรเนียมในตัวอย่างนั้น ๆ เพื่อศึกษาวัฏจักรคาร์บอนและภาวะขาดออกซิเจนในทะเลทั่วโลก

ผลการศึกษาพบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้นประมาณ 4 องศาเซลเซียส โดยแบบจำลองยังแสดงให้เห็นการเพิ่มขึ้นของพื้นทะเลที่ขาดออกซิเจน จากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 22 ซึ่งส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคดึกดำบรรพ์ข้างต้น อาจมอบบทเรียนอันล้ำค่าเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมบนโลก เนื่องจากปัจจุบันโลกกำลังประสบกับภูมิอากาศแบบโรงน้ำแข็งที่เริ่มขึ้นเมื่อ 34 ล้านปีก่อน และอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา


ที่มา – Xinhua


ข่าวที่เกี่ยวข้อง