คัดลอก URL แล้ว
[THE OPINION] รัสเซีย-ยูเครน ยึดเยื้อ กระทบศก. “แพงทั้งโลก” เป็นลูกโซ่

[THE OPINION] รัสเซีย-ยูเครน ยึดเยื้อ กระทบศก. “แพงทั้งโลก” เป็นลูกโซ่

KEY :

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน จากการเปิดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียนั้น ส่อแววว่าจะยืดเยื้อออกไป และยังไม่มีวี่แววที่จะจบในเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าหลายฝ่ายต่างฝากความหวังไว้จากการเจรจาสันติภาพในหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีท่าที่จะบรรลุข้อตกลงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในการปรับแผนระยะที่ 2 ของรัสเซียที่หันไปเน้นในพื้นที่ทางด้านตะวันออก และใต้ของยูเครน ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เป้าหมายในระยะที่สองนี้ เพื่อต้องการยึดพื้นที่ด้านตะวันออกและใต้ ของยูเครน เพื่อทำให้ยูเครนกลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล หรือ Land locked ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อยูเครน และยุทธศาสตร์ทางทหารของชาตินาโต้ด้วย

ในขณะที่ชาติพันธมิตรของยูเครน ก็เดินหน้าสนับสนุนอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากประเมินจากบัญชีอาวุธต่าง ๆ ที่ยูเครนร้องขอไปนั้น ก็สามารถมองเป้าหมายของยูเครนได้ว่า มีเป้าหมายเพื่อทวงคืนพื้นที่ในถูกรัสเซียยึดไปก่อนหน้านี้กลับคืนมา โดยคาดว่า หลังการฝึกของชาติพันธมิตรของยูเครนแล้ว ก็น่าจะเปิดการบุกทวงคืนดินแดนด้านตะวันออกกลับคืน ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของเดือนพ.ค. 65 นี้

และนั่น ก็ชัดเจนว่า การสู้รบจะยังคงยืดเยื้อออกไปอีก เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเสริมกำลังเข้าในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และนั่นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องไปอีกเป็นโดมิโน และโลกจะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ ซ้ำเติมเข้าไปอีกหลังที่วิกฤติโควิด-19 กำลังจะเริ่มผ่อนคลาย กลายเป็นปัญหาในวงกว้างมากขึ้น แม้ว่า ผลกระทบหลักจะอยู่ที่ยุโรป แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ร่วมถึงไทยด้วย

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ยุโรป ปรับตัวสูงขึ้นทันทีที่มีการประกาศ “คว่ำบาตร” รัสเซีย

วิกฤติพลังงาน

สิ่งแรกที่ต้องเผชิญคือ ปัญหาวิกฤติด้านพลังงงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซ ซึ่งอย่างแรกดูจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดโลก เนื่องจากรัสเซียเอง ถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เช่นกัน การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกส่งผลให้มีการจัดหาซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่น ทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมากขึ้น

ในขณะที่น้ำมันจากรัสเซียแม้ว่ายังคงมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่การส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งทำให้น้ำมันในตลาดจะยังคงมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การที่หลายชาติหันมาระงับการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ทำให้บางอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนจากการใช้แก๊ส มาสู่การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแทน ก็ยิ่งกระตุ้นความต้องการเพิ่มขึ้นมาขึ้นไปอีก

ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จะกลายเป็นผลกระทบหลักในภาคเศรษฐกิจทุกระดับ เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแฝงอยู่ในสินค้าทุกประเภทอย่างเลี่ยงไม่ได้ และจะเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

ราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น กระทบภาคเกษตร

รัสเซียถือเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกปุ๋ยของโลก คิดเป็น 21.1% ของปริมาณการส่งออกปุ๋ยทั่วโลก ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศอยู่ทั้งหมด 5.6 ล้านตัน แม้ว่าสัดส่วนการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียอยู่เพียง 7.7% และนำเข้าจากเบลารุส 5.48% ของปริมาณปุ๋ยนำเข้าทั้งหมด

แต่ต้องไม่ลืมว่า การคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก ทำให้การสั่งซื้อปุ๋ยจากผู้ผลิตรายอื่นเพิ่มขึ้นแทน เช่น จีน ซึ่งเป้นหนึ่งในแหล่งนำเข้าปุ๋ยของไทย และความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ราคาปุ๋ยพุ่งสูงขึ้นไปอีก และในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นไปแล้วมากกว่าเท่าตัว หากเทียบกับราคาปุ๋ยในเดือนมี.ค. 2564

และเมื่อปุ๋ยที่สูงขึ้น ต้นทุนทางการเกษตรที่แพงขึ้น ก็จะส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อรวมราคาค่าขนส่งก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นไปอีก ทบกันไปเป็นลูกโซ่

ความมั่นคงด้านอาหารที่สั่นคลอน

สินค้าเกษตรที่มีการจำหน่ายกันอยู่ในประเทศไทยนั้น คาดการณ์ว่า 35% ของต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ดังนั้นราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรแพงขึ้น ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทบขึ้นไปอีก

ทุ่งข้าวสาลี บริเวณชานเมืองเคียฟ, ยูเครน
(ภาพ – Dmytro Kovalenko)

นอกจากนี้ อาหารบางอย่างเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง หรืออาหารอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบหลักเป็นข้าวสาลี จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาข้าวสาลีที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการสู้รบในยูเครน ทำให้ยูเครนไม่สามารถปลูกข้าวสาลีในรอบของฤดูนี้ได้ ในขณะที่ข้าวสาลีจากรัสเซียก็เผชิญกับการคว่ำบาตร นอกจากนี้ อินเดียเองเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด และผลผลิตข้าวสาลีได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ข้าวสาลีน่าจะมีราคาพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกพักใหญ่

เพราะปริมาณการส่งออกข้าวสาลีของทั้งยูเครน และรัสเซีย รวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวสาลีที่ส่งออกทั่วโลก ซึ่งในขณะนี้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นราคาขยับขึ้นไปกว่า 80% ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ข้าสาลีที่ไม่ได้ปลูกวันนี้ นั่นหมายถึงข้าวในอีกราว 3 เดือนข้างหน้าที่จะหายไป

นอกจากนี้ ข้าวโพดที่เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกหลักของยูเครน ก็คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบจากราคาที่แพงขึ้นด้วย และจะส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์แพงตามขึ้นไปอีกด้วย

ส่วนน้ำมันดอกทานตะวัน นั้นในประเทศไทย ไม่ค่อยมีการใช้งานมากนัก จึงทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มากนัก

เหมืองแร่ ในเมือง Novorossiysk ของรัสเซีย
(ภาพ – Pavel Neznanov)

เหล็กราคาแพงขึ้น

ทั้งรัสเซียและยูเครน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งออกเหล็กเป็นอันดันต้น ๆ ของโลก ซึ่งปริมาณการส่งออกเหล็กของรัสเซียและยูเครนนั้น มากกว่า 35% ของการส่งออกเหล็กทั้งโลก รัสเซียเผชิญการคว่ำบาตรจากหลายชาติ และยูเครน ก็ไม่สามารถผลิตเหล็กในการส่งออกได้เลย จึงทำให้เหล็กจำนวนมากหายไปจากตลาด หลายชาติมองหาเหล็กจากแหล่งอื่น แทน ซึ่งจีน และญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ก็จะเข้ามารับคำสั่งซื้อแทนทั้งสองประเทศ

ซึ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จีนได้มีการหยุดการผลิตเหล็ก จากการล็อกดาวน์ก่อนกลับมาเริ่มเปิดการผลิตใหม่อีกครั้ง หลังสถานการณ์ดีขึ้น และการหยุดการผลิตในช่วงที่ผ่านมา ผลักดันให้ราคาเหล็กขยับเพิ่มสูงขึ้นไปแล้ว และเมื่อปัญหาระหว่างยูเครน-รัสเซียเข้ามา ก็ยิ่งทำให้ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย จากความกังวลว่า เหล็กจะขาดแคลน

ราคาเหล็กที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้างแล้วในขณะนี้ และกำลังเป็นปัญหากับภาคอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ต้องใช้เหล็ก และสถานการณ์ยังคงเป็นไปอีกพักใหญ่ ถึงแม้ว่า พรุ่งนี้การสู้รบจะหยุด แต่สภาพของโรงงานเหล็กในยูเครน ไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมเดินสายพานการผลิต และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสร้างกลับมาได้เหมือนเดิม

นอกจากนี้แร่อื่น ๆ อย่าง พาลาเดียม, นิกเกิล ที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ก็มีราคาปรับตัวพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ ถือเป็นแร่ที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น ยานยนต์, อิเลคทรอนิก หรือแม้แต่ จิวเวลรี่ ก็มีราคาเพิ่มสูงขึ้น และนั่น ก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้ พุ่งสูงขึ้นไปด้วย

ท่าเรือในเมืองมาริอูปอล ใกล้กับโรงงานเหล็กและเหล็กกล้าอาซอฟสตัล
(ภาพ – Viktor Hesse)

ยืดเยื้อฉุดปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก

สถานการณ์ในขณะนี้ ส่อแววว่า จะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก เนื่องจากรัสเซียน่าจะมีเป้าหมายใหม่คือการทำให้ยูเครนกลายเป็นดินแดนที่เป็น Land Locked ไม่มีทางออกทะเล ซึ่งรัสเซียต้องยึดเมืองโอเดสซา ที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครนให้ได้ แต่เมืองนั้น มีการป้องกันของกองทัพยูเครนอยากแน่นหนา รวมถึงเส้นทางสนับสนุนจากกลุ่มชาตินาโต ที่ส่งอาวุธ ยุทโธปกรณ์ผ่านทางโรมาเนียเข้ามา

และจากรายการอาวุธที่ทางยูเครน ร้องขอไป และได้รับมาในขณะนี้ คือ ปืนใหญ่ และปืนใหญ่อัตราจร ที่เหมาะกับการยันแนวการสู้รบ และทวงคืนพื้นที่ที่ถูกรัสเซียยึดครองไปกลับมาอีกครั้ง ซึ่งนั่นจะทำให้สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย จะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกนาน

จากการสู้รบยืดเยื้อ แน่นอนว่า ผลจากราคาน้ำมัน สินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น จะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย การลงทุนต่าง ๆ ก็จะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น จากความกังวลต่อนโยบายของแต่ละประเทศ และการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น

ซึ่งจากสถานการณ์ในขณะนี้ ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะยืดเยื้อออกไปอีก และไทยก็จะได้รับผลพวงที่เกิดขึ้น จากราคาน้ำมัน ปุ๋ย เหล็ก และนั่นก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ผลพวงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่น่ากังวลมากที่สุดคือ เกษตรกรไทย ที่จะต้องเผชิญกับราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ควบคู่กับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น อย่างเลี่ยงไม่ได้

ตามด้วยราคาอาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ต้องเผชิญกับราคาอาหาร และค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่จะเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกอย่าง เนื่องจากราคาค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นตามมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง