KEY :
- รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. 65 ในช่วงเช้า นับตั้งแต่วันนี้เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว การสู้รบยังคงเกิดขึ้น
- แนวรบถูกเปลี่ยนมาเป็นแนวด้านตะวันออก และใต้ ของยูเครน หลังรัสเซียถอนกำลังทหารออกจากแนวด้านเหนือใกล้กับเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ตั้งแต่เมื่อต้นเดือน เม.ย. 65 ที่ผ่าน
- สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น หลายคนมองว่า นั่นเป็นเพราะรัสเซียไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการบุกเคียฟได้ หลายคนมองว่า แนวรบด้านนี้เป็นเพียง “กลศึก” ของรัสเซียเท่านั้น
- แต่อย่างไรก็ตาม แนวรบที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมา รัสเซียสูญเสียอย่างมากในด้านของกำลังทหาร จนหลายคนสงสัยเกิดอะไรขึ้นกันแน่
- จากการประเมินพบว่า การเปิดการโจมตีระลอกแรก ทำให้รัสเซียครองอากาศส่วนใหญ่ได้ ส่งต่อให้มีการรุกคืบในภาคพื้นดินเข้าสู่ยูเครน
- การรุกเข้าไปนั้นเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว เหมือนหัวลูกศรที่พุ่งเข้าไปยังยูเครน แต่นั่นก่อให้เกิดปัญหา
- สายส่งกำลังบำรุง ไม่สามารถจัดส่งได้อย่างทันท่วงทีทำให้เกิดการชะงักของการรุก
- การรุกเข้าไปลึกในแดนยูเครน ทำให้ยูเครนและกองกำลังอาสาต่างชาติ สามารถจัดชุดซุ่มโจมตีขนาดเล็ก เข้าโจมตียานเกราะ รถถัง รวมถึงรถส่งกำลังบำรุง ตัดขาดแนวหน้าของรัสเซีย
- การเปิดแนวรบที่ยาวเป็นตัว C กลับด้าน ทำให้การส่งกำลังบำรุงยิ่งต้องใช้เวลา และกำลังอย่างมาก เมื่อโดนซุ่มโจมตีตัดกำลัง นั่นจึงส่งผลให้แนวหน้าของรัสเซียชะงักงัน
- ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกที่รัสเซียเผชิญในการบุกยูเครนในครั้งนี้ ทำให้รัสเซียต้องกลับมาปรับแนว ปรับแผนในปฏิบัติการทางทหารในเฟส 2 ด้านตะวันออกของยูเครนเป็นหลัก
…
เป็นเวลาราว 2 เดือนแล้ว นับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ประกาศเปิดปฏิบัติการทางทหารเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุว่า เราจะพยายามอย่างเต็มที่ในการทำให้ยูเครนปลอดทหารและกำจัดลัทธินาซีในยูเครน โดยอ้างเหตุผลถึงปัญหาความไม่สงบในภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครน จากกองพันอาซอฟ (Azov Battalion)
ซึ่งในการประกาศในวันนั้น ปูตินได้ระบุว่า ต้องการให้ยูเครนอยู่ในสภาวะ “ปลอดทหาร” และ “ไม่คิดยึดครอง” รวมถึงยังเรียกร้องให้ทหารยูเครนยอมวางอาวุธอีกด้วย และทันทีหลังจากที่ประกาศดังกล่าวสิ้นสุดลง ไม่นานนัก ขีปนาวุธหลายลูกก็เข้าโจมตีเป้าหมายสำคัญ ๆ ในเมืองต่าง ๆ ของยูเครนไม่ว่าจะเป็น เคียฟ มาริอูปอล โอเดสซา คาร์คีฟ
หลังจากนั้น กำลังพลของรัสเซียก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่ดินแดนยูเครนอย่างรวดเร็ว
เปิดฉากโจมตีเป็นไปตามแผน
ในการเปิดฉากการโจมตีในวันแรกนั้น หลายฝ่ายต่างประเมินกันว่า จากการเคลื่อนย้ายกำลังพลนับแสนนายมาประชิดพรมแดนยูเครนโดยอ้างการซ้อมรบก่อนหน้าการเปิดฉากโจมตีอยู่หลายเดือน ทั้งในรัสเซียและเบลาลุส หลายฝ่ายประเมินว่า ยูเครนน่าจะยันได้อย่างเก่งราว 10 วัน ในขณะที่ฝากฝั่งโปรรัสเซียคาดการณ์กันว่า ไม่เกินสัปดาห์
แต่…
สิ่งที่เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ เคียฟยังไม่แตก และรัสเซียต้องกลับมาปรับแนวของการปฏิบัติการใหม่ โดยกลับมาตั้งต้นที่ด้านตะวันออกของยูเครนที่รัสเซียได้เปรียบในการบุกมาโดยตลอดการตั้งแต่ช่วงแรกของการเปิดปฏิบัติการทางทหาร
เกิดอะไรขึ้นกับรัสเซียกันแน่? รัสเซียผิดพลาดตรงไหน?
ในครั้งแรกของการโจมตี รัสเซียเลือกใช้ขีปนาวุธเข้าโจมตีไปยังจุดสำคัญทางทหารหลายจุด โดยเฉพาะสนามบิน ฐานทัพอากาศ และระบบป้องกันภัยทางอากาศ จุดนี้ในบรรดาสายทหาร – ความมั่นคงหลายฝ่ายมองว่า นี่เป็นการเปิดการโจมตีที่ถูกต้อง
ย้อนกลับไปในเหตุการณ์ “สงครามหกวัน” ในปี 1967 ที่นำอิสราเอลไปสู่การควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในดินแดนปาเลสไตน์ได้ทั้งหมด รวมถึงดินแดนของอียิปต์และซีเรียบางส่วน โดยในครั้งนั้น อิสราเอลเปิดฉากการโจมตีสนามบินและที่มั่นของกองทัพอากาศอิยิปต์ ในรุ่งสางของวันที่ 5 มิ.ย. 1967 ทำให้เพียงไม่กี่ชั่วโมงกองทัพอากาศของอียิปต์ก็กลายเป็นอดีต
ซึ่งการเปิดการโจมตีในครั้งนั้น สามารถทำให้อิสราเอลสามารถ “ครองอากาศ” ได้แบบเด็ดขาด และมีมากพอที่จะเปลี่ยนผลลัพธ์ของสงครามครั้งนั้น และสงครามครั้งนั้นก็สิ้นสุดด้วยชัยชนะของอิสราเอลในเวลา 6 วัน และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ สงคราม 6 วัน นั่นเอง
…
แต่ในช่วงสัปดาห์แรก รัสเซียเลือกเป้าหมายอย่างละเอียด เน้นจุดสำคัญทางการทหาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนที่เป็นยุทธศาสตร์ อาคารและตึกจำนวนมากยังคงอยู่ ซึ่งนำไปสู่สถานะของการ “รบในเมือง” ตรงนี้ จึงกลายเป็นจุดได้เปรียบของยูเครน ที่มีความชำนาญในพื้นที่มากกว่า สามารถตั้งรับ และสร้างเขตสังหาร ไว้รอกองทัพรัสเซีย
การบุกที่รวดเร็ว
นับตั้งแต่วันแรก จนถึงในขณะนี้ เรียกได้ว่า รัสเซียยังคงสามารถครองอากาศได้เป็นส่วนใหญ่ แม้จะไม่เด็ดขาดเหมือนกับสงคราม 6 วันที่กล่าวมา แต่นั่นก็พอที่จะทำให้ยูเครนไม่สามารถโจมตีแนวหลังของรัสเซียได้เลย ส่งผลให้รัสเซียรุกคืบได้อย่างรวดเร็วในหลาย ๆ เมือง
ในช่วง 3-4 วันแรกของการบุก เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความตกตะลึงให้กับยูเครน รวมถึงคนทั่วโลกด้วย นั่นทำให้แนวรับของยูเครน ไม่สามารถตั้งแนวรับได้ดีนัก กองทัพรัสเซียพุ่งโจมตีเข้ามาราวลูกธนู
แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดอ่อนของรัสเซียเอง เนื่องจากการเข้าลึกเหมือนหัวลูกศรพุ่งเข้ามานั้น เปิดโอกาสให้ยูเครน เข้าโจมตีตัดแนวบุกของรัสเซียได้ ส่งผลให้กองกำลังรัสเซียที่เข้ามาลึกมาก ถูกโดดเดี่ยวออกจากแนวหลัง
เมื่อแนวหน้าถูกตัดขาด สิ่งที่เกิดขึ้นก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น จะเห็นภาพข่าว ขบวนกองทัพรัสเซียจอดรออยู่ตามจุดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์แรก โดยเฉพาะบริเวณแนวด้านตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณเมืองคาร์คิฟ ซูมี แนวด้านเหนืออย่างเชอร์นิฮิฟ
รวมถึงข่าวที่ปรากฏขบวนกองทัพรัสเซียยาวหลายกิโลเมตรที่เมืองอิวานคิฟ ห่างจากเคียฟราว 27 กม. เท่านั้น และก็ชะงักงั้นอยู่ตรงจุดนั้นนั่นเอง
แนวรบที่ยาวมาก
จากแนวหน้าที่เข้าลึกอย่างรวดเร็ว เมื่อถูกตัดขาดจึงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจาก รอกำลังเสริม หรือถูกตีแตก จนต้องล่าถอยออกไป ซึ่งปัญหาต่อมาของรัสเซียคือ “แนวรบที่ยาวมาก” หากสังเกตจากแผนที่จะเห็นว่า รัสเซียเปิดแนวรบตั้งแต่ด้านใต้จากไครเมีย ต่อเนื่องไปดินแดนด้านตะวันออก ยาวไปจนถึงจนทิศเหนืของยูเครน เหมือนตัว C กลับด้านเลยทีเดียว
แน่นอนว่า การตีโอบล้อมแบบนี้ มีข้อดีที่จะทำให้ยูเครน ต้องเลือกจุดที่ต้องรับมือ ไม่สามารถทุ่มกำลังไปยังจุดหนึ่งจุดใดได้ แนวรบเกิดขึ้นรอบทิศทางไปหมด แต่นั่นจะมีประสิทธิภาพมาก หากการส่งกำลังบำรุง เสบียงต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในความเป็นจริง รัสเซียประสบปัญหาในการส่งกำลังบำรุงอย่างมาก ยากแนวรบที่ยาว และลึกเข้าไปจากดินแดนรัสเซีย ทำให้การสนับสนุนต่าง ๆ ทำได้ช้ามากกว่าที่คาดไว้ ร่วมกับสภาพอากาศที่มีหิมะตก ดินเป็นโคลน
จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นข่าวรถถัง ยานเกราะ และยุทธโธปกรณ์ต่าง ๆ ของรัสเซียถูกจอดทิ้งไว้ในสภาพสมบูรณ์จำนวนมากตามที่มีข่าวนำเสนอให้เห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรก และมากสุดในช่วงสัปดาห์ที่สองของการรบ
การสื่อสารที่ถูกจำกัด-ดักฟัง
ในการบุกยูเครนในช่วงสัปดาห์แรกพบว่า มีรายงานกองกำลังรัสเซียถูกจับกุมตัวเป็นเชลยได้จำนวนไม่น้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหามาจากการสื่อสารที่มีปัญหา โดยในการบุกในระลอกแรกของรัสเซีย มีการใช้วิทยุสื่อสาร หรือ ว. ที่เป็นรุ่นปรกติที่ไม่ได้เข้ารหัส รวมถึงมีการใช้โทรศัพท์มือถือปรกติในการสื่อสารระยะไกล
นั่นทำให้กองทัพยูเครนสามารถปรับคลื่นมาอยู่บนความถี่เดียวกันเพื่อฟังความเคลื่อนไหว รวมถึงการ “ป่วน” การสื่อสารของรัสเซียได้อีกด้วย
ในขณะที่การใช้โทรศัพท์มือถือในการสื่อสารในรอบแรกพบว่า สัญญาณ “โรมมิ่ง” ที่เชื่อมต่อกับค่ายมือถือของรัสเซีย จนทำให้ในภายหลังยูเครนประกาศตัดสัญญาณโรมมิ่งของซิมรัสเซียออกจากระบบ ส่งผลการสื่อสารหยุดชะงักไปบางส่วน แต่สิ่งที่สำคัญของการใช้มือถือในระหว่างการปฏิบัติหน้านี้นั่นคือ ทำให้ “ระบุพิกัด” ของสัญญาณมือถือได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยูเครนยังสามารถดักจับสัญญาณ และนำไปสู่การจับกุมทีมสอดแนมของรัสเซีย ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบมือถือจากต้นทางในรัสเซียสู่มือถือของกองทัพรัสเซียในยูเครนได้อีกด้วย ซึ่งแม้ว่าระบบรีเลย์ที่สร้างขึ้นนี้จะช่วยให้การสื่อสารด้วยเสียง และ SMS ผ่านมือถือทำได้ง่าย สะดวก แต่ระบบที่สร้างขึ้นนี้ “ไม่ได้ปลอดภัย” สำหรับภารกิจทางทหารแต่อย่างใด
สามารถสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสารชั่วคราว ในระดับชั้นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น และระบบนี้ ก็สามารถถูกตรวจจับได้ง่าย
ซึ่งจากสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 – 3 ของการบุกมีปัญหาเรื่องการสื่อสารอย่างมาก และทำให้รัสเซียต้องมาปรับไปสู่การการวิทยุสื่อสารทางยุทธวิธีมากขึ้น เพราะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่ด้วยจำนวนอุปกรณ์จึงมีอย่างจำกัด ก็ทำให้หลายหน่วยต้องมีการวิทยุสื่อสารอื่น ๆ ร่วมด้วยในหน่วยย่อยขนาดเล็ก
ฝ่ายบุกมักเสียเปรียบ
หากมองในแง่ความพร้อมรบ ศักยภาพด้านการทหารนั้น รัสเซียเหนือกว่ายูเครนอย่างมาก ซึ่งทำให้รัสเซียค่อนข้างมั่นใจว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในระยะเวลาไม่นานนัก โดยไม่เสียหายมากนัก เห็นได้จากการตั้งขบวนรถถัง ยานเกราะ เป็นแนวยาวในดินแดนของข้าศึก หลายจุดพบว่า เป็นการตั้งแนวในจุดเปิดโล่ง ริมถนนเป็นแนวยาวอย่างเปิดเผย
และนั่น กลายเป็นช่องโหว่ให้ยูเครนและกองกำลังอาสาต่างชาติ จัดชุดโจมตีขนาดเล็กตั้งแต่ 5-10 นาย พร้อมอาวุธประทับบ่า ไม่ว่าจะเป็น จรวดต่อสู้รถถัง ทั้ง Javelin, NLAW หรือระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบประทับบ่ายิง (MANPADS) อย่างขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน Stinger
อาวุธประทับบ่าในกลุ่มนี้ มีประสิทธิภาพสูง เหมาะสำหรับชุดโจมตีขนาดเล็ก ยานเกราะ รถยนต์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั้นถูกประยุกต์ใช้ในการเข้าโจมตี กองกำลังรัสเซียที่จอดรออยู่ในจุดต่าง ๆ รวมถึงการส่งชุดซุ่มโจมตีเข้าตัดสายส่งกำลังบำรุงในแนวหลังด้วย
ในขณะที่ยูเครนอยู่ในสภาวะของการรบในบ้าน ในระลอกแรกของการโจมตี มีความสับสนวุ่นวายอย่างมาก ทั้งในการอพยพประชาชน การตัดกองกำลังในการตั้งรับ การจัดสายส่งกำลังบำรุง อย่างไรก็ตาม การรบในที่ตั้งของคนเองนั้น ยังคงทำให้ยูเครนมีความได้เปรียบในแง่ของการจัดสายส่งกำลังบำรุงที่ดีกว่า มีเส้นทางเลี่ยงได้เยอะกว่า การมาเป็นชุดโจมตีขนาดเล็กก็คล่องตัวมากกว่า ทำให้ความเสียหายของกองกำลังรัสเซียในการบุกนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูญเสียยานเกราะจำนวนมากไปในการบุกครั้งนี้
ชาติพันธมิตรเติม “ของ” ต่อเนื่อง
สิ่งหนึ่งที่สร้างจุดเปลี่ยนแปลงในช่วงนับตั้งแต่สัปดาห์ 3 – 4 ของการบุกของรัสเซีย บรรดาชาติพันธมิตรของยูเครน ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และอื่น ๆ ต่างพร้อมใจกันส่งยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าสู่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง ผ่านทางพรมแดนประเทศโปแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นปืนไรเฟิลและกระสุน เสื้อเกราะและหมวก โดยเฉพาะในกลุ่มจรวดประทับบ่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Javelin, NLAW หรือในกลุ่ม MANPADS อย่าง Stingers ที่เรียกได้ว่า มีบทบาทโดดเด่นอย่างมากในการสู้รบในครั้งนี้
ซึ่งทั้ง Javelin, NLAW และ Stingers ถูกใช้ในการสกัดกั้นขบวนรถถังและยานเกราะของรัสเซียได้เป็นอย่างดี เมื่อถูกนำไปใช้ในชุดโจมตีขนาดเล็ก 5-10 นาย เข้าปฏิบัติการซุ่มโจมตี ทั้งในการสกัดกั้นแนวรุกไม่ให้เดินหน้าต่อไปได้ ร่วมกับการใช้ตัดแนวสายส่งกำลังบำรุง หลังแนวหน้าของรัสเซีย ทำให้แนวบุกของรัสเซียชะงักงันโดยสิ้นเชิง
ก่อนที่รัสเซียจะมีการปรับใช้การโจมตีด้วยขีปนาวุธไปยังเป้าหมายสำคัญ โดยมุ่งเป้าไปที่จุดพักอาวุธ และส่งต่อตั้งแต่ต้นทางที่โกดังในเมืองลวิฟ ที่ติดกับโปแลนด์ รวมถึงในเคียฟ ด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่า การข่าวของรัสเซียในการชี้เป้าจุดพักอาวุธเหล่านี้ ยังอยู่ในระดับที่แม่นยำมากทีเดียว
แต่นั่นก็ยังมีอีกจำนวนมาก ที่ถูกส่งไปยังแนวหน้าของยูเครนในการใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยรถยนต์ขนาดเล็กเช่น รถกระบะ ลัดเลาะไปตามเส้นทางเลี่ยงต่าง ๆ กระจายไปยังจุดสำคัญได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางจุดจะถูกรัสเซียยึดอาวุธเหล่านั้นไว้ได้ก็ตาม เช่นในจุดด้านตะวันออกของยูเครน
ซึ่งล่าสุด ก็มีการจัดส่งปืนใหญ่พร้อมกระสุนเข้าไปยังยูเครนเพิ่มเติมอีก และอาจจะมองได้ว่า ปืนใหญ่เหล่านี้ เหมาะสำหรับการดันแนวรบ เพื่อยึดคืนพื้นที่ด้วยได้เช่นกัน หลังจากการที่รัสเซียได้ประกาศถอนทหารออกจากแนวรบทางตอนเหนือของเคียฟ ออกไป ก่อนไปสบทบกับกองกำลังด้านตะวันออกในภูมิภาคดอนบาส
กองกำลังอาสาต่างชาติ
หลังจากการโจมตีระลอกแรก และนาโต้ ประกาศไม่ส่งกองกำลังเข้าไปในยูเครน ทำให้รัฐบาลยูเครนประกาศรับสมัครกองกำลังอาสาชาวต่างชาติเข้าร่วมการสู้รบกับรัสเซีย ซึ่งพบว่า มี “อดีตทหาร” ในหลายประเทศเดินทางเข้าร่วมในภารกิจนี้ด้วย โดยมีรายงานอ้างว่า กองกำลังเหล่านี้ มีจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นนายจากในหลายชาติ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ผ่านสมรภูมิต่าง ๆ มาแล้ว เข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้
โดยมีตั้งแต่การเข้าร่วมเป็นครูฝึกยุทธวิธี ในค่ายฝึกของยูเครน ที่มีพลเรือนของยูเครนที่อาสาร่วมรบ ไปจนถึงการร่วมในภารกิจชุดโจมตีในแนวหน้า เพื่อตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงต่าง ๆ รวมไปถึงมีบางรายงานอ้างว่า ในบางจุดบรรดานักรบต่างชาติเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็น “ลีดเดอร์” ในการวางแผนปฏิบัติภารกิจสำคัญ ๆ หลายจุด จนทำให้กองกำลังของรัสเซียไม่สามารถรุกคืบเข้าสู่เคียฟได้ จนทำให้รัสเซียต้องมีการยิงขีปนาวุธโจมตีไปยังค่ายฝึกกองกำลังต่างชาติ เพื่อตัดกำลัง ส่งผลให้กองกำลังต่างชาติในยูเครนได้รับความเสียหาย และมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย และบางส่วนถูกจับกุมเป็นเชลย
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กองกำลังอาสาต่างชาติเหล่านี้ เป็นหนึ่งในส่วนหลักที่ส่งผลต่อการสู้รบในครั้งนี้ ทำให้มีจำนวนไม่น้อยที่มองว่า กองกำลังอาสาเหล่านี้ เป็นเพียงข้ออ้างที่ใช้เลี่ยงบาลี ของชาติพันธมิตรในการ “ส่งกำลังทหาร” ไปยังยูเครนนั่นเอง
…
ปัญหาภายในกองทัพรัสเซียเอง
ในขณะเดียวกัน ก็พบว่า มีปัญหาอีกหลายอย่างที่ถูกพูดถึงใน Telegram ทางฝั่งยูเครนเป็นหลัก เกี่ยวกับปัญหาภายในกองทัพรัสเซีย ซึ่งบางประเด็นก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน โดยเฉพาะกองกำลังที่บุกมาจากดินแดนของเบลารุส ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น
ปัญหาการคอรัปชั่น
ซึ่งในประเด็นนี้มีพูดถึงมากโดยเฉพาะแนวรบในด้านเหนือของเคียฟ ที่พบว่า ยางรถยนต์ที่ใช้สำหรับลำเลียงสิ่งของ มีปัญหา “ยางแตก-รั่ว” เป็นจำนวนมาก ทำให้การบุกต้องหยุดชะงักจากเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้
นอกจากนี้ ยังพบว่า อาวุธและยุทโธปกรณ์บางส่วนเป็นของเก่าเก็บ ไม่ได้มีของใหม่ ๆ ออกมาใช้งานมากอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้
ปัญหาทหารใหม่
กองกำลังรัสเซียในแนวด้านทิศเหนืออีกเช่นเดิม ที่มีรายงานว่า มีทหารใหม่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทหารเหล่านี้ ถูกส่งมาร่วมซ้อมรบในเบลารุสตั้งแต่เดือนม.ค. 65 ก่อนมีการเปิดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ซึ่งต่างจากแนวด้านภูมิภาคดอนบาส ที่พบว่า เป็นการส่งทหารที่มีประสบการณ์เข้าพื้นที่มากกว่า
ขวัญและกำลังใจ
ซึ่งการนำทหารใหม่เข้าสู้รบนั้น มีจุดต่างจากการใช้ทหารที่มีประสบการณ์โชกโชน การปฏิบัติงานจึงมีผลลัพธ์ที่ต่างกัน ยิ่งหากเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในแนวด้านเหนือ กับด้านตะวันออก ที่มีกองกำลังที่มีประสบการรบ มีกำลังหนุนจากกองกำลังเชเชน ที่แม้ว่าจะดูเป็นสายบันเทิง แต่ความเก๋าทำให้สามารถรุกคืบ ยึดที่มั่น ได้เป็นระยะ ๆ
ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ทำให้รัสเซียต้องมีการแนวรบใหม่อีกครั้ง โดยถอนทหารออกจากแนวด้านทิศเหนือ ของเคียฟออกมา และกลับมาเสริมแนวด้านตะวันออกทางภูมิภาคดอนบาส และตอนใต้ของยูเครนแทน นี่ยังไม่ถึงแนวรบบนโลกออนไลน์ที่ไม่อาจจะเอาชนะสงครามข่าวสารของตะวันตกได้เลย
แม้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การที่แนวรบด้านเหนือของเคียฟ “อาจจะ” เป็นการกลยุทธ์ที่ให้ยูเครน ไม่สามารถเทกำลังมาทางตะวันออกและด้านใต้ได้ ต้องแบ่งกำลังหลักไว้รักษาเมืองหลวง แต่หากประเมินความสูญเสียที่เกิดขึ้น ถือว่า “หนักหนา” เกินไปหรือไม่สำหรับการเดินหมากตัวนี้
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จากสิ่งที่เกิดขึ้นนำมาสู่การที่เครมลิน ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.อ.อเล็กซานเดอร์ ดวอร์นิคอฟ ขึ้นมาบัญชาการในปฏิบัติการทหารในครั้งนี้แทน และเน้นแนวรบด้านตะวันออก และด้านใต้ของยูเครนมากขึ้น
และหากประเมินในขณะนี้ เป้าหมายของการรุกคืบของรัสเซียในขณะนี้คือ ทำให้ยูเครนกลายเป็น “Landlocked” หรือกลายเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล ด้วยการยึดเมืองในแนวด้านที่ติดกับทะเลอาซอฟ และทะเลดำ ซึ่งสิ่งนี้จะสร้างปัญหาในระยะยาวแก่ยูเครนได้มาก รวมถึงกระทบต่อ “ยุทธศาสตร์ของนาโต้” ได้อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน ด้านตะวันออกของยูเครน เป็นพื้นที่ที่กองทัพรัสเซียได้เปรียบทั้งในแง่ของการจัดส่งกำลังบำรุง การร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองของโดเนสค์ และลูกันค์ ที่ทำให้รัสเซียลดปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้
ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ ก็ยังคงมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งพื้นที่ที่รัสเซียได้เปรียบ และรุกคืบได้อย่างในภูมิภาคดอนบาส และบริเวณที่ยูเครนกำลังได้เปรียบอยู่ในแนวด้านเมืองเคอร์สัน
ในขณะที่การสู้รบก็คาดว่า ยังคงจะยืดเยื้อไปอีกพักใหญ่ ทั้งจากการเจรจาที่ไม่มีแววจะได้ข้อยุติระหว่างกัน แนวการรบที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มชาตินาโต้ ก็ยังคงเติม “ไอเทม” ให้กับยูเครนเรื่อย ๆ ดังนั้น การสู้รบในครั้งนี้ “ยืดเยื้อ” และ “เจ็บด้วยกัน” ไปทั่วโลกอย่างแน่นอน