คัดลอก URL แล้ว
วิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกา มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

วิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกา มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

KEY :

สถานการณ์การประท้วงในศรีลังกาเริ่มหนักมากขึ้น หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลให้ประเทศขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งส่งให้รัฐบาลไม่สามารถนำเงินไปซื้อสินค้าจำเป็นต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงน้ำมันเชื้อเพลง และกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อเนื่องไปสู่การระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นระยะเวลาที่นานขึ้น จนล่าสุด มีการระงับการจ่ายไฟฟ้านานถึง 13 ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินมากพอที่จะสั่งสินค้าจากต่างประเทศส่งผลให้ราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นโดมิโน่น และอัตราเงินเฟ้อก็พุ่งตามหลังมาติด ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีที่มาอย่างไร จนนำศรีลังกามาสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 70 ปีของประเทศ

ต้นตอ – หนี้ประเทศสะสม

ปัญหาหลัก ๆ มาจากหนี้สาธารณะของประเทศมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลังปี 2009 เนื่องจากเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในศรีลังกา และฝ่ายรัฐบาลศรีลังกาได้รับชัยชนะ จึงมีการคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัว มีการกู้เงินจากหลายแหล่งด้วยกัน ทั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศ, ประเทศและสถาบันการเงินอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สะสมมา

ลดภาษีซ้ำเติมวิกฤติ

จากยอดหนี้ที่ยังคงมีอยู่มากโข และรายได้หลักหดหายจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว นั่นยังไม่เพียงพอ เมื่อรัฐบาลประกาศ “ลดภาษี” ตามที่เคยได้สัญญาไว้เมื่อตอนหาเสียงในช่วงเลือกตั้งปี 2019 เช่น

จากการลดภาษีต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงเกือบ 1/3 และนั่นคิดเป็นเกือบ 2% ของ GDP ในประเทศ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก่อนการมาของโควิด-19 ในช่วงปลายปีนั่นเอง

โควิด-19 ซ้ำ

ในขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2020 ในประเทศศรีลังกาทำให้ภาคการท่องเที่ยวก็ทรุดหนักอย่างมาก จากการเดินทางที่หายไปของนักท่องเที่ยว และการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ล้วนแล้วแต่ซ้ำเติมปัญหาให้กับศรีลังกาอย่างมาก

ซึ่งที่ผ่านมาถือว่า รายได้หลักของศรีลังกามาจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านของการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศ ยังรวมไปถึงรายได้จากในคาสิโนอีกจำนวนมหาศาลที่หายไปด้วย

สถานการณ์ในช่วงปี 2020 จึงถูกฝากความหวังไว้ที่ปี 2021 แต่สุดท้ายในปีที่ผ่านมาสถานการณ์การท่องเที่ยวในศรีลังกา ก็ยังคงไม่ได้กลับเหมือนเดิม นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวในกลุ่มใหม่ที่เดินทางมายังศรีลังกานั้น พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมากขึ้นในช่วงหลัง ก็เกิดปัญหาซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถชำระเงินค่าเดินทาง ค่าที่พักต่าง ๆ ได้ ทำให้มีการยกเลิกการจองไปอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังทำให้กระทบต่อสินค้าส่งออกหลัก ของศรีลังกาไม่ว่าจะเป็น ยางพารา เครื่องเทศ และเสื้อผ้า กระทบไปอีกด้วย ทำให้รายได้ที่จะไหลเข้าประเทศมาลดลง นอกจากนี้ เม็ดเงินจากแรงงานชาวศรีลังกาที่ไปทำงานต่างประเทศ ก็ส่งเงินกลับประเทศน้อยลงอีกจากการระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศและมีการล็อกดาวน์

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของศรีลังกาจากเดิม ในปี 2020 อยู่ที่ 94% ต่อ GDP พุ่งขึ้นไปเป็น 119% ในปี 2021

หากพูดง่าย ๆ นั่นคือสภาวะที่เรียกว่า “หนี้ท่วมหัว” เพราะหนี้ที่มีอยู่สูงเกินกว่ารายรับที่เกิดขึ้นแล้ว

พิมพ์แบงค์ – เงินเฟ้อ

ปัญหาของศรีลังกา ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อรัฐบาลเผชิญปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ และรายจ่ายที่ยังคงเกิดขึ้นในประเทศจากโควิด-19 ทำให้ธนาคารกลางของศรีลังกา ได้พิมพ์เงินเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และเลี่ยงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บรรดาเจ้าหนี้ของศรีลังกา ไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ และมีการส่งสัญญาณเตือนไปยังศรีลังกา

แต่ปัญหาเกิดไปแล้ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศศรีลังกาพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2021 รวมถึงทำให้ค่าเงินรูปีศรีลังการ่วงดิ่งเหวลงไปอีก จากเดิมที่อัตราการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ราว 200 รูปีศรีลังกาต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ กลายเป็น 300 กว่ารูปีฯ ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

นั่นหมายความว่า ราคาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็จะมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และเมื่อราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ก็กระตุ้นให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ที่มา – Central Bank of Sri Lanka

และเมื่อเม็ดเงินรูปีศรีลังกาไหลออกนอกประเทศเป็นสายเลือด รัฐบาลศรีลังกาก็ได้ออกมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่นั่นไม่ได้ช่วยอะไรมาก ไปกว่า การส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าขาดแคลน และราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง

อีกทั้งสินค้ากว่า 350 รายการ ถูกจำกัดการนำเข้าก็สร้างปัญหาใหม่ไม่หยุดหย่อน เช่น การสั่งห้ามนำเข้าปุ๋ยและสารเคมีกำจัดแมลง ส่งผลให้สินค้าเกษตรในศรีลังกาได้รับผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในประเทศหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง และตอกย้ำปัญหาการขาดแคลนอาหารให้เพิ่มมากขึ้น

หนำซ้ำ สถานการณ์ในยูเครน-รัสเซีย ไม่ใช่แค่ผลกระทบโดยตรงจากการขาดรายได้ในภาคท่องเที่ยว แต่ยังส่งผลให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้น, ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น จนนำมาสู่วิกฤติอย่างหนักหน่วงในศรีลังกา

ภาคการประมง การขนส่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อการขนส่งสินค้าไม่เป็นไปตามปรกติ การขาดแคลนก็เกิดขึ้นหนักขึ้นไปอีก และยิ่งดันอัตราเงินเฟ้อพุ่งทะลุเพดาน

นอกจากนี้การระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงจากการขาดเชื้อเพลิงในการผลิต ส่งผลต่อทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบต่อกันไปเป็นโดมิโน่ แม้กระทั่งการสอบของนักเรียน ยังต้องถูกเลื่อนออกไป เนื่องจาก “ไม่มีกระดาษ”

ความอดทนถึงที่สุด

วิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการใช้ชีวิตของประชาชนชาวศรีลังกา นำไปสู่การลุกฮือออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและลุกลามมากขึ้นไปอีก เมื่อตำรวจเข้าสลายการชุมนุมด้วยการใช้แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำ

ทำให้ผู้ชุมนุมได้เผารถของเจ้าหน้าที่ และเหตุการณ์ก็เริ่มบานปลายมากขึ้น รัฐบาลศรีลังกาต้องประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การประท้วงก็ยังคงมีอยู่ ผ่านการแสดงออกในช่วงทางต่าง ๆ แทน

วิกฤติที่ยังไม่มีทางออก

ปัญหาในศรีลังกานั้นหนักหนาเกินกว่าที่ศรีลังกาจะแก้ได้ด้วยตัวเอง โดยในขณะนี้หลายชาติกำลังพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของศรีลังกาไว้ โดยเฉพาะอินเดีย ที่ได้ช่วยเหลือในการเจรจาเรื่องการชำระหนี้และปัญหาเงินสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา

เนื่องจากในขณะนี้ ศรีลังกามีเงินสำรองเหลืออยู่ราว 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หนี้ต่างประเทศที่จะต้องชำระอยู่ที่ราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่มีกำหนดชำระในช่วงเดือนกรกฏาคมที่จะถึงนี้

อินเดีย ได้บรรลุข้อตกลงสำหรับวงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลงจากอินเดีย และอีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับจัดหาสิ่งจำเป็นเช่น อาหารและยา เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอาหารและสิ่งจำเป็นในชีวิต


ข้อมูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง