โรคตื่นตระหนก หรือแพนิค (Panic Disorder) เกิดได้จากหลายสาเหตุ และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกวิธี ไปทำความเข้าใจและเช็คอาการเบื้องต้นกันว่าคุณหรืคนใกล้ตัวเสี่ยงอยู่ในภาวะนี้หรือไม่?
ภาวะตื่นตระหนก คืออะไร?
“อาการตื่นตระหนก” หรือเรียกว่าอาการ “แพนิค” คืออาการที่ร่างกายตอบสนองต่อความกลัวที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบเหตุแน่ชัด เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผู้ป่วยรู้สึกสูญเสียการควบคุม รู้สึกหัวใจจะวายหรือในบางครั้งรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่าอาการกังวลทั่วไป ที่โดยปกติหลังจากสถานการณ์ตึงเครียดจบลงภาวะวิตกกังวลมักหายไป
แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตื่นตระหนกความรู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงมักจะย้อนกลับมาอย่างต่อเนื่องไม่หายไป อาการตื่นตระหนกนี้อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว หรือในบางกรณีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยจะใช้เวลา 20-30 นาทีในแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกรับมือไม่ได้ อ่อนล้าและหมดแรงหลังอาการสงบลง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาจะดีที่สุด
เช็คอาการ เข้าข่ายภาวะ ตื่นตระหนก
- รู้สึกตกอยู่ในอันตรายตลอดเวลา
- กลัวสูญเสียการควบคุมหรือเสียชีวิต
- ใจเต้นเร็ว
- เหงื่อออก ตัวสั่น
- หายใจลำบาก แน่นคอ
- หนาวสั่น ตัวชา
- คลื่นไส้ ปวดบิดในท้อง
- เจ็บหน้าอก
- ปวดศีรษะ วิงเวียนหน้ามืด
- แยกแยะความจริงไม่ออก
สาเหตุเกิดจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยโรคตื่นตระหนก มักเริ่มต้นในวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งโรคตื่นตระหนกอาจเกิดจากหลายสาเหตุ และปัจจัยต่อไปนี้มีส่วนทำให้เกิดโรคได้
- พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตื่นตระหนก
- ความเครียดสะสม ผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจ เช่น การสูญเสียคนในครอบครัว หรือบุคคลอันเป็นที่รัก
- อ่อนไหวต่อความเครียดหรืออารมณ์ที่เป็นลบ
- แอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติด
- สมองและระบบประสาททำงานผิดปกติ
- สถานการณ์บางอย่างก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะตื่นตระหนกได้ เช่น อาจเคยมีประวัติการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ ปัญหาด้านความสัมพันธ์
ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้น
อาการตื่นตระหนกมัก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและปล่อยให้เรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- โรคกลัว (phobia) เช่น กลัวการขับรถหรือกลัวการออกจากบ้าน
- แยกตัวเองออกจากสังคม
- ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบตัว
- อาการซึมเศร้าโรคจิตตกและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
- ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
- ติดสุราและสารเสพติด
วิธีป้องกัน
ปัจจุบัน โรควิตกกังวล หรือ ภาวะตื่นตระหนก มีตัวเลือกในการรักษาด้วยกันหลัก ๆ อยู่ 2 วิธีคือ การใช้จิตบำบัดและการใช้ยาบำบัด ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรควิตกกังวลได้ 100% แต่สามารถลดโอกาสการกำเริบของโรคได้ ดังนี้
- พบแพทย์เพื่อรักษาทันที ช่วยไม่ให้อาการแย่ลง ป้องกันการเกิดซ้ำบ่อย ๆ
- ทำตามแผนการรักษาของแพทย์ เช่น ฝึกใช้เทคนิคการจัดการกับความเครียด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยควบคุมความเครียด
ขอบคุณที่มา : medparkhospital, praram9