จากกรณีที่เด็กนักเรียน ลืมไม้แบดมินตันไปโรงเรียน แล้วโดนครูทำโทษให้ลุกนั่ง 100 ส่งผลให้เกิด ภาวะกล้ามเนื้อสลาย ซึ่งพี่ชายของเด็กได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Ramin Singtep” เรียกร้องให้หยุดลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ในที่นี่ขอหยิบประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง ภาวะกล้ามเนื้อสลาย มาให้ได้รู้กันว่าคืออะไร แล้วอันตรายอย่างไร
การลุกนั่งซ้ำๆ ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเกิดการเสียดสีกับกระดูก
การลุกนั่ง คือ การยืนตัวตรงแล้วย่อเข่าลงนั่งยองๆ แล้วยืดขายืนตัวตรงขึ้นไปอีกครั้ง ทำซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ ครั้ง ซึ่งการเคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำๆ นั้น จะทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเกิดการเสียดสีกับกระดูกที่อยู่ใกล้ๆ อย่างสม่ำเสมอ หรือเกิดการเสียดสีเป็นเวลานาน จนทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดตามมาได้ พบได้ในกล้ามเนื้อขามากกว่ากล้ามเนื้อแขน ทั้งนี้การออกกำลังกายหนักมากเกินไปก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อฉีกขาดด้วยเช่นกัน หากไม่วอร์มร่างกายก่อนแล้วมีการเคลื่อนไหวแบบเฉียบพลันในระหว่างที่กล้ามเนื้อยังตึงอยู่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาตามมาได้ สำหรับการเล่นกีฬามากเกิน เช่น การวิ่งมาราธอน ส่งผลให่เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายได้
ภาวะกล้ามเนื้อสลาย
คือ การสลายตัวของเซลล์กล้ามเนื้อลายที่มีการเสียหาย ทำให้สารต่างๆที่เกิดจากการแตกสลายของกล้ามเนื้อถูกปล่อยเข้าไปยังกระแสเลือดทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของระบบต่างๆ โดยเฉพาะไต นำไปสู่ภาวะไตวายฉับพลันได้
ปัจจัยเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อสลาย
- ขาดน้ำ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ
- อุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติ อากาศร้อนมาก
- การออกกำลังกายมากเกินไปโดยที่ไม่ได้เตรียมร่างกายให้พร้อม ออกต่อเนื่องระยะเวลานาน
- การระบายเหงื่อที่ผิดปกติ การใส่ชุดออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม
- การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากอุบัติเหตุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างและความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสแตติน ยาลดน้ำหนัก
- การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด เช่น แอมเฟตามีน
สัญญาณเตือน ภาวะกล้ามเนื้อสลาย
- ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง
- ปัสสาวะลดลง หรือปัสสาวะมีสีโค้ก
มีอาการอื่นๆ อาจแสดงออกหลังออกกำลังกาย นานถึง 24 – 48 ชั่วโมง เช่น
- อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ปวดข้อ
- สับสน
- อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ภาวะขาดน้ำ
- ปวดท้อง
- เอนไซม์ซีเค เพิ่มขึ้น 5-10 เท่าจากระดับปกติ (สามารถวัดได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น)
การรักษาภาวะกล้ามเนื้อสลาย
- จากการบาดเจ็บ ควรเริ่มต้นด้วยการให้น้ำเกลือโดยเร็วที่สุด ถ้าช้าอาจอาจทำให้ช็อกจากการขาดน้ำ ควรให้ของเหลวในปริมาณมากถึง 10 – 20 ลิตร เพื่อรักษาน้ำภายในหลอดเลือดและช่วยขับสารพิษออกทางปัสสาวะ
- ตรวจติดตามปริมาณปัสสาวะอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการตรวจสอบระดับ CK แบบต่อเนื่องทุกวัน
- ภาวะกล้ามเนื้อสลายยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของไต ภาวะขาดสมดุลของโพแทสเซียม แคลเซียม กรดยูริก และฟอสเฟต จึงจำเป็นต้องรักษาระดับเกลือแร่ให้สมดุล
ที่มา : samitivejhospitals, kdmshospital, รพ.สินแพทย์