คุณพ่อ คุณแม่ หรือหลายๆ ครอบครัว อาจจะคิดว่า “ลูกอ้วน” คือเด็กน่ารัก น่ากอด แต่รู้ไหมว่าความน่ารักที่มาจากความอ้วนนั้นอาจไม่เป็นผลดี และหากปล่อยให้เด็กอ้วนต่อไปเรื่อย ๆ ในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมามากมาย
แพทย์หญิงรังรักษ์ สวนดอก กุมารเวชศาสตร์ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช เล่าถึงสาเหตุของโรคอ้วนในเด็กและอันตรายที่เกิดจากโรคอ้วน พร้อมให้คำแนะนำที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเพื่อไม่ให้ลูกรักต้องเผชิญกับภาวะอ้วน
สถิติเด็กทั่วโลกมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น
โดยผู้ป่วยโรคอ้วนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกายไปจนถึงสุขภาพจิต ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเองและกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลอาหารการกินของเด็ก รวมถึงส่งเสริมให้เด็กใส่ใจสุขภาพและเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำหนักเกินจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพได้
สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก
มีอยู่หลายปัจจัย เช่น
การบริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยอาหารฟาสต์ฟู้ด มีพลังงานสูง
พฤติกรรมการออกกำลังกายไม่สมดุลกับพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ลูกของคุณห่างไกลจากโรคอ้วนในเด็ก ด้วยการดูแลอาหารการกินของลูกให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
ภาวะอันตรายจากโรคอ้วนในเด็ก
- โรคอ้วนในเด็กมีผลเสียต่อสุขภาพหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่น
- โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจว่านี่คือโรคที่พบในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วโรคเหล่านี้สามารถพบได้ในคนอายุน้อย ๆ
- ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ ภาวะนี้จะส่งผลเสียถึงการนอนที่ไม่เพียงพอและส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กด้วยเช่นกัน ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
- ผลกระทบทางด้านจิตใจ เช่น การถูกเพื่อนล้อ ถูกบูลลี่เรื่องรูปร่าง จนทำให้เกิดความเครียดและอาจเป็นโรคทางจิตเวชได้
- เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อบางอย่าง เช่น โรคโควิด
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำเพื่อลูก
- ควบคุมปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อลูกในแต่ละวัน
- ให้รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารทอด เช่น อาหารฟ้าสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์
- งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน ชานมไข่มุก เป็นต้น
- ไม่ควรปล่อยให้อยู่หน้าจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ทีวี และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุ 2 – 5 ขวบ ไม่ควรให้ดูเกินครึ่งชั่วโมงต่อวัน
- ให้ลูกออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่มีการขยับร่างกาย อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
- หากิจกรรมประจำวันที่ให้ลูกมีการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดินบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินเล่นในบ้าน สนามเด็กเล่น หรือสวนสาธารณะ
- พาลูกเข้านอนให้เป็นเวลาและนอนให้เพียงพอ เด็ก ๆ ควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม เพราะ Growth Hormone จะหลั่งได้ดีหลัง 4 ทุ่ม และการนอนดึกหรือนอนน้อยนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของความอ้วนจะมีฮอร์โมนคอร์ติซอลกระตุ้นให้เกิดภาวะหิวบ่อย