คัดลอก URL แล้ว
ตุ๋ม ธนะพงศ์ ทัพหน้าแห่ง Royal Porcelain ในงานแฟร์นานาชาติ Ambiente Messe Germany

ตุ๋ม ธนะพงศ์ ทัพหน้าแห่ง Royal Porcelain ในงานแฟร์นานาชาติ Ambiente Messe Germany

เราเดินทางมาที่ Frankfurt Germany ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คืองาน “Ambiente Messe ”
มีบริษัทจากประเทศไทยมาร่วมหลายต่อหลายบริษัทและหนึ่งในนั้นคือ รอยัล ปอร์ซเลน บริษัทผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Tableware เซรามิกมากว่า 40 ปี แบรนด์ที่เป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ

จึงพลาดไม่ได้เลยที่จะขอคุยกับ “ คุณตุ๋ม
ธนะพงศ์ วามานนท์” ในฐานะผู้บริหาร นักการตลาด และทัพหน้าของบริษัท Royal Porcelain
ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงเซรามิกแทบจะเกินครึ่งชีวิตการทำงานของเขา ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องการันตีความเก๋าเกมของผู้บริหารวัยต้น 50 ท่านนี้ได้เป็นอย่างดี เขาพาทีมอีกกว่า12 ชีวิตและสินค้าหลายร้อยชิ้นมาโชว์ที่ Exhibitionในครั้งนี้ด้วย

ที่มาที่ไปก่อนจะมาถึงวันนี้คุณตุ๋มเล่าว่า
หลังจบปริญญาตรีในสาขาเซรามิก ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Business Management ทั้งในและต่างประเทศ พอกลับมาทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนสักพักก็ลงขันทำธุรกิจเซรามิกขนาดเล็กกับเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน

“สมัยก่อนไม่มีโชว์รูม มีเพียงแค่หน้าร้านเล็กๆแถวซีคอนสแควร์ แล้วก็ออกมาทำขายส่งห้างสรรพสินค้า จนไปเจอเพื่อนที่ Royal Porcelain เขาแนะนำให้รู้จักกับผู้บริหารปูนซีเมนต์ นครหลวง (ชื่อในสมัยนั้น ) บริษัทกลุ่มนี้ใหญ่มากที่ทำธุรกิจเซรามิก พี่เลยสนใจอยากมาร่วมงานด้วยเพราะตรงกับที่เราเรียนจบมา

ตอนแรกเขาชวนมาอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพแล้วไม่ค่อยชอบเลยขอไปประจำอยู่โรงงานที่สระบุรี เป็นฝ่ายผลิต เกือบ 6 ปี ดูตั้งแต่เริ่มต้นโปรดักส์ จนจบกระบวนการ แล้วค่อยย้ายมาประจำการที่กรุงเทพในเวลาต่อมา

งานนี้มีความพิเศษอย่างไร

Ambiente มีความสำคัญต่อธุรกิจที่ผลิตเพื่อขายต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดยุโรป มันคืองานกำหนด Trend ของสินค้าในแต่ละปี ลูกค้ามองว่าเป็น Exhibition ที่พลาดไม่ได้ เป็นเหมือนตัวแทนงานแฟร์ที่ยิ่งใหญ่และประสบผลสำเร็จมากที่สุดของยุโรป

บูทข้างๆเรามีทั้ง จีน ฮ่องกง ส่วนจากไทยก็มีเจ้าใหญ่จากลำปาง กลุ่ม Ocean Glass ส่วนบูทอิสระเจ้าเล็กๆจะติดต่อผ่านหอการค้าไทย เค้าจัดไปรวมที่เดียวกัน

“จุดประสงค์หลักๆคือโชว์ผลิตภัณฑ์ใหม่ มาเจอเอเย่นต์และลูกค้า อัพเดทเทรนด์สินค้า ดีไซน์ นวัตกรรมใหม่ๆ วางแผนงานเกี่ยวกับ HoReCa project สำหรับไตรมาสต่อไป

ก่อนมามีหลากหลายอารมณ์มาก เต็มไปด้วยความหวัง ความกังวล ว่าจะไปอิท่าไหน ยังไง จะมีนักธุรกิจมางานหรือไม่ แล้ว Agent distributor จะมามั้ย ในภาคธุรกิจทั้งหลายก็ยังไม่ฟื้นตัวเท่าไหร่ ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ให้โรงแรมหรือร้านอาหารหน้าใหม่ๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย จึงเป็นความท้าทายหลังแฟร์ถูกพักช่วงโควิดไปถึง 2 ปีเต็ม”

ในครั้งนี้มีการเตรียมความพร้อมยากง่ายอย่างไรบ้าง

จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพียงแต่รายละเอียดมันค่อนข้างเยอะ ไล่ไปตั้งแต่เรื่องสถานที่ จองพื้นที่ การส่งสินค้าเพื่อมาจัดแสดง
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทีมที่มาด้วยต้องประสานงานกันอย่างดี ทั้งทีมการตลาด ทีม Display และ ทีมขายต้องวางแผน จัดทำตัวอย่างตั้งแต่ต้นปีเพื่อกำหนดแนวทางการออกแบบให้เป็นไปตามกลยุทธ์

พอวิเคราะห์สถานการณ์แล้ว ทีมก็ตีโจทย์ว่าจะตกแต่งบูทของเราออกมาแบบไหนต้องคุยกับทีมออแกไนซ์ที่มาช่วยเราเรื่องนี้ รวมถึงการจัดแสง ทำอย่างไรให้ออกมาแล้วมีความรู้สึกสบาย อบอุ่น เน้นเรียบง่าย คลีน สบายตา ให้พื้นที่กว้างๆ เหมือนเดินชิลล์อยู่ที่บ้าน

โทนสีโปรดักส์ให้เป็นไปตาม Trend อย่างปีนี้สีที่เด่นๆมี Indigo, Zinc, Plum , Olive

ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือการรีดีไซน์ ได้ Collab Project โดยดึงตัว Rene Ozorio
ที่เป็น Tableware Designer ชื่อดังมาร่วมออกแบบในครั้งนี้ด้วย เพื่อทำให้สินค้าเราดูพิเศษและโดดเด่น ใช้ New Image New Brand, New design

สมัยก่อนภาพลักษณ์เราที่มาแบบโรงงานเปลี่ยนเป็นภาพลักษณ์ของดีไซน์ที่พลิกโฉมใหม่ ใช้แนวคิด น้อยแต่มากและโฟกัสให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยดีไซน์จะแตกเป็น 3 แบบตามช่วงอายุ คือ Traditional เหมือนคนในยุคก่อนก็ชอบอะไรที่ย้อนยุคหน่อย Occasional ทำลายตามเทศกาล และแบบสุดท้ายคือ Modern ทันสมัย

“ลูกค้าเก่าจะรู้จักเราดีในฐานะบูทผู้ผลิต ที่มาให้เลือกถึงที่ หลายลาย หลากสี คละแบบ
แต่ทุกวันนี้ตลาดมันเปลี่ยนไปหมด วิธีที่จะชนะได้ คือ ต้องเดินหมากแบบใหม่ ต้องทำอะไรที่แปลกกว่าเดิม นั่นคือพื้นฐานในการคิดงานครั้งนี้

ที่เราคาดการณ์ตลาดไว้ว่าลูกค้าจะยังไม่มี Big Volume project แล้วก็ไม่ผิดคาด เรามาถูกทางแล้ว พอฟังฟีดแบ็กจากทั้งทาง Agents และลูกค้าที่เห็นตรงกันว่า เค้าประทับใจและรู้สึกว้าวมากทุกอย่างกับการเปลี่ยนแปลงลุคของ Royal Porcelain ทีนี้ก็ต้องมาดูกันยาวๆว่าลูกค้าจะโอเคกับแนวทางการทำตลาดแบบใหม่ของเราหรือไม่”

ความท้าทายอีกอย่างในการทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลายกลุ่มในหลายทวีป คือ ตลาดต่างกันกลุ่มเป้าหมายก็ต่างกัน เราจึงพยายามขายไปยังกลุ่มเป้าหมายเรามากขึ้นด้วยตัวเราเองแทนการพึ่งพาเอเยนต์ ซึ่งเราควบคุมได้ลำบาก การกระตุ้นตัวแทนบริษัท Agent และ Distributor ก็ค่อนข้างยาก ตามงานไม่ได้ บางทีเค้าไม่วิ่งงานให้ แต่จะให้ส่งทีมเราไปประจำในแต่ละทวีปเลยค่าใช้จ่ายก็สูงเกินไป

ทำไมต้องเป็นประเทศเยอรมนี

เขามี Know How เกี่ยวกับการผลิต ก่อนตั้งโรงงานเราได้ส่งทีมผู้บริหารระดับสูงไปเรียนต่อ เพื่อศึกษาวิธีการผลิตเซรามิคที่นั่นถึง 2 ปี แล้วจึงนำความรู้กลับมาพัฒนาต่อเป็นโปรดักส์ที่มีลักษณะเด่นของเราเอง

คุณตุ๋มอธิบายต่อถึงลักษณะของเซรามิกให้เห็นภาพง่าย ๆว่า คือ พวกสุขภัณฑ์ที่เราเห็นนั่นแหละ แต่ที่เขาเคลือบสีขาวเพราะวัสดุด้านในสีมันไม่สวยและมาจากแหล่งที่ไม่ต้องสะอาดมากเลยต้องพ่นสีขาวทับปกปิดไว้

เซรามิก มีดิน หิน แร่ธาตุ ประกอบกันจากนั้นก็เอามาขึ้นรูปแล้วเผาในอุณหภูมิที่สูง ที่เราเห็นชินตา เป็นพวกกระถางต้นไม้ เรียกว่า Earthen Ware ใช้อุณหภูมิต่ำ มีการดูดซึมและระบายน้ำได้ดี Stone ware ตัวอย่างเช่น พวกชามตามร้านก๋วยเตี๋ยว สีสันสวยงามแต่มีข้อเสียตรงที่มันบิ่นง่าย

ส่วนที่เราเชี่ยวชาญคือ Table Ware จะมีความปราณีตกว่า อย่างพวกจานชามเซรามิกนี้ที่ใช้งานในอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ ได้มาตรฐานระดับสากล FDA (Food and Drug Administration ) ซึ่งมีความเคร่งครัดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆเป็นอย่างมาก เป็นเครื่องหมายที่ยอมรับและเป็นที่เชื่อถือจากทั่วโลก

ที่เห็นว่าเป็นสีเนี่ย จานมันเคลือบใส ชุบและควบคุมคุณภาพ ถ้าเนื้อจานยิ่งขาวมากเท่าไหร่ แสดงว่าวัตถุดิบยิ่งดี

Porcelain ก็คือหนึ่งใน Table Ware หลังจากขายมาได้เป็นร้อยปี อังกฤษได้ผลิตแบบพิเศษพรีเมียมท็อปคลาสขึ้นมาอีก เรียกว่าเป็นปอร์เช่ เฟอร์รารีในสายเซรามิกเลย มีชื่อว่า Bone China ลักษณะเด่นของเค้าโปร่งแสง แบน บาง เบา วัตถุดิบที่ใช้หลักๆคือกระดูกวัว อาจเป็นเพราะคนอังกฤษชอบทานเนื้อเป็นหลัก แล้วไม่รู้จะเอากระดูกไปทิ้งที่ไหนจึงนำไปฝังกลบ หลังจากนั้นมีการทดลองนำกระดูกไปแปลงสภาพกลายเป็นขี้เถ้า ทำให้สะอาดแล้วผสมดินขาว การเผาให้ได้รูปทรงสวยงาม บาง แต่ทนทาน ใช้ต้นทุนสูงและยากมากราคาจึงสูงกว่าประเภทอื่น

อะไรคือปรัชญาหลักในการทำงานในฐานะนักการตลาด

พี่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักการตลาดเท่าไหร่
พี่ออกแนวนักเจรจา ชอบเล่าเรื่อง ชอบถ่ายทอดความรู้ ซัพพอร์ตน้องๆในทีมให้เก่งขึ้นมากกว่า และที่ทำมาอย่างต่อเนื่องคือ Training Programm ให้ทางทีมขายทั้งในและต่างประเทศ เพราะเรียนจบมาในสาขาเซรามิกโดยตรง เลยมีข้อได้เปรียบเรื่องทักษะเชิงลึก เทคนิคกับการขายไปยันวัตถุดิบและพื้นฐานของสินค้า

สำหรับพี่ช่วงชีวิตในสายงาน มีความท้าทายและสิ่งใหม่ๆให้ทำตลอด ตอนแรกที่เข้าโรงงาน เป็นช่วงที่เค้า Re-engineering ก็มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์เตรียมพร้อมก่อนเข้าตลาดหุ้น พัฒนาบุคลากร จากนั้นก็มารับตำแหน่งProject manager ติดต่อกับเอเจนซี่ ลูกค้าต่างชาติ ดูแลการพัฒนาธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็นมาแทบจะทุกตำแหน่งให้เธอแล้ว

“งานบริหารทำให้เรารู้จักความเป็นมนุษย์มากขึ้น รู้จักประนีประนอม บางทีถ้าเราแคร์แต่ Outcome สักแต่จะขาย ขายให้ได้แบบไม่สนวิธีหรือผลที่ตามมา มันก็เป็นความเหี้ยมอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน ”

ระหว่างมางานมีช่วงพักผ่อนหรือได้เที่ยวบ้างมั้ยคะ
มีแค่ช่วงเช้ากับหลังปิดบูท 6 โมงเย็น ก็ไปทานข้าวที่ร้านอาหารไทยกับน้องๆในทีม ดื่มเบียร์กันบ้าง แต่ที่ต้องทำประจำทุกทริปคือการออกไปวิ่ง

Routine พี่เลยนะ ตื่นตี 5 ใส่ชุดพร้อมวิ่งทุกวัน ผ่านป่าคอนกรีต มุ่งหน้าสู่ริมแม่น้ำไรน์ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมแค่ 15 นาทีเท่านั้น ได้ยืดเส้นยืดสาย ชาร์จแบตตัวเอง ไม่ได้เน้นวิ่งไวเอาจริงเอาจังนะ แค่ชอบวิ่งดื่มด่ำบรรยากาศ วิถีชีวิตข้างทาง เห็นผู้คนในแต่ละที่ที่ได้ไป บางวันก็เจอคนเมาวิ่งไล่ ตลกดีแต่ชินซะแล้ว

อากาศหนาวเย็นไม่เป็นอุปสรรค จะว่าไปวิ่งได้สบายกว่าเมืองร้อนเสียอีก แถมถนนหนทางก็ปลอดภัย มีเลนจักรยาน ถนนคนเดิน แบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจน

สองปีก่อนที่มาวิ่งอากาศติดลบได้เจอหิมะ ปีนี้มาเจอแต่ฝน ขอแค่มี Thermo fleece กับเสื้อกันฝนตัวเดียวพอละ แต่ที่ขาดไม่ได้คือถุงมือ ไม่งั้นมือจะแข็งและเจ็บมาก หลังจากนั้นก็พร้อมลุยได้ วิ่งสัก 5 นาทีก็อุ่นแล้วไปกลับราวๆ 8 โล วิ่งเสร็จ โล่งสบายตัว ชุ่มปอด รู้สึกสดชื่นมาก พอกลับมาประมาณ 7 โมงทานอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จก็เตรียมตัวนั่ง Tram รถไฟใต้ดินไปประจำการที่บูทเรา

ทำไมถึงมาเริ่มวิ่ง

ชีวิตช่วง 7 ปีที่ผ่านมาต้อง ต่อสู้กับปัญหาสุขภาพ มัวทำแต่งานตามสไตล์มนุษย์เงินเดือนแหละ ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง มีโรครุมเร้า น้ำหนักแตะเกือบร้อยกิโล ป่วยบ่อยชนิดที่เข้าออกโรงพยาบาลจนประกันที่บริษัททำให้ไม่ Cover ค่าใช้จ่ายในการรักษา เดินทางไปต่างประเทศทีต้องพกยาไปเป็นสิบๆชนิด คำถามหนึ่งที่ผุดมาคือเราจะแก้ปัญหายังไง เพราะจะอยู่ไปแบบนี้ก็ไม่ไหวแล้ว พอได้คำตอบที่ชัดก็ค่อยๆปรับพฤติกรรมตัวเอง

“ก่อนจะวิ่งพี่เริ่มจากปั่นจักรยานก่อน อินมาก ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็พกจักรยานไปปั่นด้วย มันดีตรงช่วยถนอมข้อเท้าเนื่องจากน้ำหนักตัวมาก ควบคู่ไปกับการเลือกทานอาหาร พอเรามีวินัย สุขภาพมันก็เริ่มดีมาเรื่อยๆ น้ำหนักลดลงตามอัตโนมัติ ทำจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเลย ปีปีนึงพี่วิ่งไม่ต่ำกว่า 1200 กิโล”

เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังอยากเริ่มดูแลตัวเอง โดยเฉพาะโรคประจำของชาวมนุษย์เงินเดือน พวกกรดไหลย้อน นอนไม่หลับ ถ้าเราตั้งใจสู้กับมันสักตั้ง มันทำได้จริง ๆ พี่เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว

Living Legacy

อยากเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องตื่นมาทำงานแล้วรู้สึกอยากมาเจอ มาคุยงานสนุกๆกัน ถ้าเป็นอีกแบบก็คงเดินมาผิดทางแล้ว วันหน้าที่ต้องเกษียณไปเราคงไม่อยากเจอคนพูดไล่หลังว่า “เออออกซะได้ก็ดี” ถ้าเป็นไปได้อยากเดินไปพร้อมความทรงจำที่ดีและคำขอบคุณมากกว่า

ในความเป็นลูกจ้างพอหมดเวลางานคำว่าเจ้านายลูกน้องก็แค่หัวโขน เราทุกคนก็เพื่อนๆพี่น้องกันหมด

เหมือนที่เราเคยได้ยินคำว่า Life is short ชีวิตมันสั้นนะ เราแค่ต้องเลือกว่าเราอยากสร้างความทรงจำแบบไหน ก่อนถึงวันที่ต้องลาจากกัน พี่ตุ๋มกล่าวทิ้งท้ายด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มอย่างเป็นมิตร


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง