วันนี้ MONO29 ขอนำเสนอแง่มุมความคิดอันทรงคุณค่าที่ถอดบทเรียนจากการสนทนากับ ดร. แชมป์ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ซึ่งเชื่อว่าจะมีประโยชน์มากในหลายๆมิติ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคนได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
- ดร. แชมป์ ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN บริษัทพลังงานชั้นนำที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท
- ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทนและการขนส่งแบบครบวงจร
- ระดับการศึกษาสูงสุด ปริญญาเอก Doctor of Engineering สาขา Energy Engineering มหาวิทยาลัย Massachusetts, Lowell, MA,สหรัฐอเมริกา
- นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับชุดความเชื่อของคนรุ่นเก่า การทรานส์ฟอร์มระบบกงสีจนข้ามผ่านช่วงรอยต่อไปได้อย่างสง่างาม
- บทบาท MD ในการปรับค่านิยมใหม่ในการทำงานเพื่อความสุขและความก้าวหน้าขององค์กร
ผมก็เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่ต้นตระกูลอพยพ
มาจากเมืองจีน ช่วงแรกคุณพ่อเริ่มต้นธุรกิจในด้านงานก่อสร้าง ชีวิตในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก ไม่ได้โตมาท่ามกลางกลางกองเงินกองทอง ครอบครัวเราอยู่ห้องแถวเก่าๆริมทางรถไฟเขตพญาไท
คุณพ่อมีปณิธานว่าลูกทุกคนต้องมีการศึกษา พอธุรกิจท่านเริ่มดีขึ้นระดับหนึ่งก็ส่งผมไปเรียนประถมศึกษา 6 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นครั้งแรกที่ได้ไปใช้ชีวิตในต่างแดน มัธยมศึกษาตอนต้นย้ายไปอาศัยอยู่กับเพื่อนร่วมงานท่านที่แคนาดา เป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตแบบอินเทนซีฟมาก ตั้งแต่เล็กจนโตได้คลุกคลีกับผู้คนทุกรูปแบบ จากระดับรากหญ้าไปจนถึงระดับท็อปคลาส สิ่งนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัว เข้าใจการอยู่ร่วมกับคนในสังคมที่มีความแตกต่าง หลากหลาย
ส่วนการเรียนอยู่ในเกณฑ์เรียนดีพอประมาณแต่ไม่ได้ที่หนึ่งตลอดแค่มีของพอตัวคนหนึ่ง เป็นคนที่มีความตั้งใจ มั่นใจว่าต้องทำได้และจะทำให้ดีด้วย เพราะต้นทุนสำคัญที่มีอย่างเดียวในตอนนั้นคือการศึกษาและก็เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด วิชาความรู้เหล่านั้นเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จจนเป็น ดร.แชมป์ ในทุกวันนี้
ปลดแอกระบบกงสีก้าวสู่บริษัทมหาชนที่ทรงพลัง
ยากที่สุดแต่ภูมิใจที่สุดในวันที่เขาต้องเดินสวนทางกับความเชื่อ กล้าเปลี่ยนแปลงขนบเดิมๆที่คุณพ่อได้สร้างไว้ ที่เขาขยายความว่ามันคือ รูปแบบฮ่องเต้ซินโดรม โคลนนิ่งโขลกบล็อคโมเดลลูกหลานให้เป็นแบบตัวเอง ผ่าน ‘ระบบกงสี’ ที่ไม่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และไม่เป็นผลดีกับธุรกิจเลยในระยะยาว
กว่าจะผ่านแรงต้านจากผู้เป็นพ่อและคนรอบข้างที่ไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ ดร. แชมป์ใช้เวลาเกือบ 5 ปี ในการพลิกโฉมปรับรื้อโครงสร้างผังองค์กรใหม่ทั้งหมด และหลุดจากระบบกงสี 100% หลังจากนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลายเป็นบริษัทมหาชนชั้นนำด้านพลังงาน
“ระบบกงสีก็มีข้อดี เรื่องความง่ายในการบริหารจัดการ เพราะทุกอย่างขึ้นตรงกับบอส ผู้คุมรีโมททุกอย่าง แต่หากเกิดความผิดพลาดเพียงนิดเดียวจะส่งผลกระทบกับบริษัททั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นบ่อยๆว่า ระบบนี้มักทำให้ Asset ที่สร้างมาสูญเปล่าใน Generation 3 เพราะรุ่นแรกทำธุรกิจในยุคที่การแข่งขันไม่รุนแรง ซับซ้อน คู่แข่งทางการค้าน้อย โอกาสสำเร็จในธุรกิจค่อนข้างง่าย รุ่นที่สอง ได้รับช่วงต่อแบบถูกตีกรอบความคิด ห้ามเปลี่ยนแปลง รุ่นสุดท้ายจึงเกิดความว่างเปล่า บางแห่งปรับตัวไม่ได้ต้องปิดกิจการลง”
Culture แบบคนยุค Baby Boomer ส่วนใหญ่ มีความยืดหยุ่นในการทำงานน้อย กลัวการเปลี่ยนแปลง ติดกรอบความคิดเดิมเดิม ซึ่งจะดึงรั้งไม่ให้เราไม่เติบโต ผมจำเป็นต้องตัดออกทั้งหมด ทุกอย่างล้วนหมุนไปตามกาลเวลา เราไม่ขยับตามโลกไม่ได้ หากเราไม่ปรับตัว โอกาสที่จะรอดก็เป็นไปได้ยากหลายๆครั้ง หลายเหตุการณ์ในชีวิตมีเดิมพันสูง เรารอไม่ได้ การมองเห็นปัญหาแล้วรีบแก้ไขให้ทันท่วงทีจึงสำคัญมาก
กุญแจพลิกธุรกิจสู่ทางรอดแบบยั่งยืน
ปรับกลยุทธ์ใหม่ วางระบบกระจายงาน ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล ฟังดูตลกร้ายและแข็งกร้าว ในช่วงนั้นผมซุ่มสร้างกำลังพลของตัวเองทั้งหมด รื้อด่านแรกตั้งแต่แผนก Human Resource ไปจนถึงทีมผู้บริหารรุ่นเก่า
จากที่ทำงานจันทร์ถึงเสาร์ ลดเหลือ 4- 5 วัน ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การพัฒนา โดยย้ายสำนักงานใหญ่จากนนทบุรีมาอยู่ใจกลางเมือง ย่นระยะเวลาการเดินทาง ใกล้แหล่งการเงิน ใกล้แหล่งทรัพยากรบุคคล ดึงคนเก่งๆระดับหัวกะทิมาร่วมงาน ปรับออฟฟิศให้น่าทำงานมากขึ้น
สวัสดิการแบบฟูลออฟชัน ปรับขึ้นเงินเดือนเงินปันผลตามความสามารถ ผลลัพธ์ดีเกินคาดในแง่ตัวเลขผลประกอบการด้วย ทำงานน้อยลง แต่ผลประกอบการกลับดีขึ้น KPI ความสุขของพนักงานที่เด่นชัดส่วนผลงานก็ออกมาได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเช่นกัน
“ผมยกตัวอย่างนิทานอีสป เรื่องกระต่ายกับเต่าให้พนักงานในองค์กรฟังบ่อยๆว่า เราจะเป็นกระต่ายที่ขี้เกียจ วิ่งไว ตื่นตัว ถึงจะแพ้ครั้งหนึ่งแต่เราจะพัฒนาตนเอง เรียนรู้ข้อผิดพลาด และลงแข่งในสนามที่เราถนัด อย่าเป็นกระต่ายที่เผลอไปแข่งว่ายน้ำกับเต่า”
ทำอะไรอย่าคำนึงถึงผลลัพธ์เป็นหลัก ควรมองวิธีการ ว่าทำอย่างไรไห้เราเติบโตขึ้น แล้วผลลัพธ์ที่ดีและคุ้มค่าจะตามมาเอง
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเมื่อต้องทำงานร่วมกันในโมเดลกงสี ควรแก้ไขหาทางออก ตั้งแต่เรื่องการสื่อสาร รับฟังความเห็น เข้าใจความต่างของคนแต่ละ Gen เพื่อลดการถูกลิดรอนอิสรภาพทางความคิดจนเกิดความขัดแย้ง ระบบการบริหารที่เป็นมืออาชีพ การจ่ายผลตอบแทนที่ชัดเจนตามตำแหน่งหน้าที่ที่แต่ละคนถนัด
วิธีคิดและมุมมองการใช้ชีวิต
การวางแผนบนเป้าหมายที่ชัดเจน ใช้ความรู้ที่มีเป็นอาวุธ อ่านเกมส์เป็น กล้าคิดต่าง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเสมอ พาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม สังคมที่ดีที่เหมาะแก่การพัฒนาตัวเอง อย่างการได้ไปเจอคู่ค้าใหม่ๆ ผู้ที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจ ทุกอย่างที่กล่าว มาล้วนเป็น Short cut ให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้เร็วขึ้น
“การดีลกับคนให้ได้ประสิทธิภาพ เหมือนเกมส์อย่างหนึ่ง รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ยังคงเอามาใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย ยิ่งในตำแหน่งที่ต้องบริหารคน เราต้องได้ใจเขาก่อน ต้องมี Logic และมีศิลปะในการสื่อสารที่ดี แล้วพนักงานจะรักเรามาก ระหว่างทางเป็นเพียงการมอนิเตอร์ เราเฝ้าดูและคุมอยู่ห่างๆเท่านั้น”
ทั้งหมดเกิดจากการฝึกบ่อยๆ รู้จักคิดวางแผนอย่างเป็นระบบ Critical thinking ทุกเรื่อง การคิดแบบเป็นวงกลม ตั้งคำถามแล้วหาคำตอบอย่างมีเหตุผลคือคีย์หลักในการใช้ชีวิตของผม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนนำไปใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็ตาม
มีช่วงหมด Passion เสียสมดุลในชีวิตบ้างไหม
เหนื่อยล้า หมดไฟเรามีโมเมนต์นั้นกันทุกคนอย่างช่วงโควิด กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ทุกอย่างชะลอตัว บริษัทเราก็ต้องปรับรัดเข็มขัด ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และคิดหาวิธีว่าทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับเงินเดือนเหมือนเดิม เป็นช่วงที่ท้าทายที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจมา
แต่ผมไม่เคยถอนคันเร่งออกจากเท้า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา จะอิมแพคเรามากน้อยแค่ไหนก็ต้องรับมือให้ได้ด้วยการวางแผน จัดการปัญหาต่างๆอย่างเป็นระบบ
สำหรับองค์กรใหญ่ต้องบริหารจัดการคน Put the right Man on the right job โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติทำให้เขาดึงศักยภาพภาพตัวเองออกมาและเกิดประสิทธิผลกับงานมากที่สุด
มุมมองพ่อบ้าน เกี่ยวกับการบริหารเวลาคุณภาพกับครอบครัว
ผมจริงจังมากเรื่องจัดลำดับความสำคัญของเวลา ถึงเวลาที่ร่างกายต้องพัก จะไม่ฝืน ไม่โหมงานจนเกินไป เสาร์อาทิตย์คือวันของภรรยาและลูกๆอย่างเต็มที่ นอกเวลางาน ผมก็คือคนธรรมดา เป็นพ่อแชมป์ที่สนุกสนาน ค่อนข้างเป็นไอดอลของลูกลูก
“ผมอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของนกที่ตื่นเช้า เพราะจากสถิติส่วนตัว ผลงานที่มีคุณภาพและ Success Deal มักจะเกิดช่วงรับประทานอาหารค่ำ เราจะมีบทสนทนาที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนได้ดีในช่วงนั้น”
มองอนาคตตัวเองในอีก 10 ปี ข้างหน้าเป็นอย่างไรบ้าง
ยังคงทำงานเต็มที่กับโปรเจ็คใหม่ๆ ชาเล้นจ์ตัวเองด้วยโจทย์ที่ยากขึ้นเสมอ และจะพยายามรักษาสุขภาพให้ดีไปจนถึงอายุ 80 Passion อาจเปลี่ยนไปแต่จะสนุกกับงานอยู่ อายุไม่ใช่อุปสรรค สำหรับผมไม่เคยมีความคิดในหัวที่ว่าจะเกษียณในวัย 45 รักและมีความสุขที่ได้ทำงานไปเรื่อยๆ อยากรู้เหมือนกันว่าเราจะพาตัวเองและบริษัทไปได้สุดที่ตรงไหน
ตอนเด็กๆ ที่ครอบครัวยังลำบากชนิดปากกัดตีนถีบ รถในฝันของผมแค่ ซีวิค 3 ประตูก็คิดว่าบุญก้นแล้ว พอโตขึ้นมาด้วยพื้นฐานการศึกษา ทุนทรัพย์ที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น และความสามารถต่อยอดขึ้นไป มันก็ขยับมาเป็นอะไรที่ไม่ได้เกินฝันมากนักและสิ่งเหล่านี้คือผลตอบแทนของพลังงานที่เราลงแรงด้วยสมอง สู้ฝ่าฟันมันมาด้วยหัวใจ นี่อาจเป็นนิยามความสุขของผม and I deserve it
สิ่งที่อยากส่งต่อให้ Next Generation
Happiness และ Asset ที่มีคุณภาพ ทุกวันนี้ในฐานะคุณพ่อ ผมพยายามเป็นตัวอย่าง สร้างรากฐานไว้ให้เขารู้จักใช้สมองคิดให้เป็น วิธีคิดจะทำให้เขาไม่ต้องเผชิญความยากลำบากในอนาคต แต่ก็ไม่ได้บังคับ ว่าต้องเป็น ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แค่ได้แสดงออกเป็นตัวเองเต็มที่ ได้ทำในสิ่งที่รักแล้วมีความสุข นั่นคือการส่งต่อความมั่งคั่งแบบยั่งยืนที่จะทำให้ชีวิตมั่นคงที่สุดแล้ว
หากคุณเป็นคนที่กำลังเผชิญหน้าต่อการเปลี่ยนแปลง MONO 29 ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้คุณผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างกล้าหาญ ใครจะรู้…ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสในชีวิตครั้งสำคัญที่คุณจะได้พบอิสรภาพ พร้อมปลดเปลื้องตัวเองจากระบบ ระบอบใดๆที่เป็นพันธนาการมาตลอดชีวิต