ประเพณี วันลอยกระทง ของไทยในปีนี้ ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีอีก 5 ประเทศต่อไปนี้ ที่มีการจัดงานลอยกระทงเช่นกัน จะเหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน ไปอัปเดตพร้อมๆ กันเลย
1.ประเทศอินเดีย
วันลอยกระทงของที่นั่น นิยมใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใบบัว หรืออะไรก็ได้ที่สามารถทำกระทงให้ออกมาลักษณะเป็นรูปชาม และใส่น้ำมันลงไปภายในได้ นอกจากนี้ยังนิยมวางเชือกฝ้ายไว้ในน้ำมัน เพิ่มสีสันความสวยงามด้วยการประดับกลีบดอกไม้ลงไป ซึ่งประเทศเค้าจะคึกคักกันสุดๆ เมื่อวันลอยกระทงมาถึง
2.ประเทศจีน
ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของชนเผ่าฮั่น มองโกล ไป๋ และเหมียว การลอยกระทง ของที่นี่มีความหมายว่า การไว้อาลัยผู้เสียชีวิต เริ่มมีขึ้นในมณฑลจี๋หลิน เนื่องจากมณฑลนี้มีแม่น้ำซงฮวาไหลผ่าน ถือเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำตั้งแต่โบราณกาล ในสมัยราชวงศ์หมิง และชิง เรือที่ผลิตในมณฑลจี๋หลินแล่นไปทางตอนใต้เพื่อลาดตระเวนเขตชายแดน และขนส่งธัญญาหารให้ทหารประจำเขตชายแดน การตัดไม้ ต่อเรือ และเดินเรือล้วนเป็นงานหนักและเสี่ยงภัย ผู้คนที่ประกอบงานด้านนี้มักได้รับบาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิตมากมายนับไม่ถ้วน แม่น้ำสายนี้จึงเปรียบเป็นสมุดบันทึกความโศกเศร้า ความสุข การเกิด การตาย และชะตากรรมของชาวจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง เมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆ ชาวจี๋หลินก็จะพากันลอยกระทงตามแม่น้ำซงฮวาเพื่อเป็นการรำลึกถึง
ทั้งนี้ การลอยกระทงในประเทศจีน ไม่ได้จำกัดว่าต้องลอยในเทศกาลใด คือในเทศกาลต่างๆ ที่สำคัญจะนิยมมีประเพณีลอยกระทง และในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความหมายในการลอยกระทงที่แตกต่างกันออกไปด้วย เช่น การลอยกระทงในเขตเจียงหนาน กระทงที่ลอยไปตามน้ำหมายความว่าให้โรคภัยไข้เจ็บหายลอยไปกับน้ำ ส่วนในเขตติดชายฝั่งทะเล การลอยกระทงหมายความว่าขอพรให้เทพเจ้าแห่งทะเลช่วยปกป้องคุ้มครองให้มีแต่ความสันติสุข
3.ประเทศพม่า
ลอยเพื่อบูชาพระอุปคุตที่อยู่กลางสะดือทะเลประเทศเมียนมาร์ มีตำนานว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงสร้างพระเจดีย์ให้ครบ ๘๔.๐๐๐ แต่ถูกพระยามารขัดขวางคุกคามทำลายพระเจดีย์เหล่านั้น พระเจ้าธรรมาโศกราชจึงทรงขอร้องพระอุปคุต พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาค ให้ช่วยจับพระยามารด้วย พระอุปคุตจึงจัดการปราบปราบพระยามารจนสำเร็จ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 ราษฎรจึงทำพิธีลอยกระทงเพื่อขอบคุณพระยานาคสืบมาทุกๆ ปี
4.ประเทศกัมพูชา
มีการจัด เทศกาลน้ำ เป็นเทศกาลที่คล้ายกับลอยกระทงในประเทศไทย จัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ จนถึงแรม 1 ค่ำ เดือนพฤศจิกายน จุดประสงค์ เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณ และแสดงความขอบคุณต่อแม่น้ำโขง และทะเลสาบโตนเลสาบ ชาวกัมพูชาจะร่วมกันลอยทุ่นที่ประดับด้วยดวงไฟ ไปตามแม่น้ำโขง
5.ประเทศลาว
เรียกว่า งานไหลเฮือไฟ ซึ่งตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มีการจัดแข่งเรือที่ริมแม่น้ำโขง บูชาแม่นํ้าด้วยการลอยประทีป และไหลเรือไฟ ทั้งนี้ชาวหลวงพระบางมีความเชื่อว่าว่า เป็นการบูชาคุณแห่งแม่นํ้าโขงที่เลี้ยงดูมา และเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จกลับมาจากการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วย ก็ถือว่ามีความเชื่อที่คล้ายๆ กันกับประเทศไทย
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ วันลอยกระทง ที่นำมาฝากกัน สุขสันต์วันลอยกระทง