นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ได้ตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. บริหารประเทศเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะยอมให้มีการจัดการเลือกตั้ง ในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนอันดับ1 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐที่มีคะแนนอันดับ2 จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมาเป็นระยะเวลาถึง 9 ปี การเลือกตั้งในเดือนพ.ค. 2566 จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย
…
ที่สุดแห่งปี 2023 ในประเด็นต่าง ๆ
…
เลือกตั้งครั้งใหญ่ 2566 ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล
ความเข้มข้นของการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปีนี้ ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังพรรคก้าวไกลกวาดคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 151 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคร่วม ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีร่วมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรมและพรรคพลังสังคมใหม่
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/12/345611111_3466284116926025_2974211802307915060_n-1-1024x683.jpg)
แต่ไม่สามารถผ่านด่านสมาชิกวุฒิสภาได้ ที่มีข้อคลางแคลงใจในประเด็นมาตรา112 เมื่อคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภา คือ 375 เสียง ทั้ง 2 ครั้ง ทำให้พรรคก้าวไกลประกาศถอนตัว
พิธาโดนสอยหลุดหัวหน้าพรรค
วิบากกรรมพิธา หลังถูกร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีดังกล่าว ทำให้พิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.เดินออกจากสภา
จนเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 66 นายพิธา ประกาศลาออกจาก “หน.พรรคก้าวไกล” เปิดทางคนที่เป็น สส. ขึ้นมารับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” เป็นหัวเรือกำกับทิศทางในสภาฯ เจ้าตัวย้ำไม่ได้หายหน้าไปไหน แต่จะทำงานเบื้องหลังอย่างสุดกำลังแทน
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/12/361922547_561364452870587_1554191481144142843_n-1-1024x682.jpg)
โดยคนที่ขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนคือ ชัยธวัช ตุลาธน ผู้ที่เคยรับหน้าที่เป็น รับหน้าที่รองเลขาธิการพรรคมาตั้งแต่สมัยยังคงเป็นพรรคอนาคตใหม่
…
เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ได้นายกฯ เศรษฐา
หลังที่ประชุมรัฐสภา ปิดสวิตซ์ เสนอชื่อ ‘พิธา’ โหวตนายกฯ รอบสอง ไม่ได้ โดยขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ด้วยมติ 395 เสียง ต่อ 312 เสียง ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 2 เดินหน้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ซึ่งได้ประกาศแยกทางกับพรรคก้าวไกล ต่อมา “เพื่อไทย” และพรรคร่วมรวม 11 พรรค 314 เสียง แถลงจัดตั้งรัฐบาลที่รัฐสภา
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/12/373302840_586980870308945_2251116476644124361_n-1-1024x682.jpg)
การโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 3 ในวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมตรี โดยมติที่ประชุมรัฐสภาโหวตนายเศรษฐาให้นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ฉลุย ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง
ทักษิณกลับไทย รอวันพ้นโทษ
อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ออกมาโพสต์ข้อความ “ขออนุญาตกลับบ้าน” เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ในช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา การทวิตข้อความในครั้งนั้น นับเป็นการแสดงถึงความปรารถนาที่ชัดเจนที่สุด ถึงความหวังที่จะกลับสู่แผ่นดินเกิดครั้งแรกในรอบ 15 ปี
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/12/369250929_579402731066759_4362537059951912362_n-1024x683.jpg)
จนเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ทักษิณเหยียบแผ่นดินไทย ก่อนเข้าสู่กระบวนการมอบตัวรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ส่งตัวเขาไปรับการรักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ ในเวลาประมาน 0.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค.
ต่อมา นายทักษิณได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชาย (น.ช.) ทักษิณ ชินวัตร จากจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี
โดยปัจจุบันนายทักษิณยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
…
ประยุทธ์ ” รับตำแหน่ง “องคมนตรี” – บิ๊กป้อม นั่งหน. พปชร. คุมเบื้องหลัง
ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ได้พาครอบครัวพักผ่อน เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง “องคมนตรี” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/12/345915198_1273746059896140_3058982959869007392_n-1-1024x682.jpg)
ขณะที่ด้านของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เดินทางเข้ามาประชุมพรรค เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ระบุว่าสบายดี หลังสื่อมวลชนแซวว่าไม่เห็นหน้ากันนาน
…
“ประชาธิปัตย์” ร้าวศึกในพรรค
หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการ พรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนได้เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 88.5% หลัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถอนตัวและลาออกจากสมาชิกพรรค ส่วน วทันยา บุนนาค คุณสมบัติไม่ครบ
ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์ประชุมล่มมาแล้ว 2 ครั้ง คือวันที่ 9 ก.ค.66 และ 6 ส.ค.66 สำหรับการประชุมเพื่อหาหัวหน้าพรรคใหม่นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งวันภายหลังผลการตั้งทั่วไปออกมาไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมาย โดยได้ที่นั่ง ส.ส.เพียง 25 ที่นั่งเท่านั้น
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/12/348932350_2872303106237937_9190226042716580279_n-1024x682.jpg)
นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุการณ์สำคัญภายในพรรคคือ 16 สส.พรรคประชาธิปัตย์ โหวต “เห็นชอบ” เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการโหวตสวนมติพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าจะ “งดออกเสียง” อีกด้วย
…
จับตาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อปีหน้า
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ที่เสนอโดย ชัยธวัช ตุลาธน สส. ก้าวไกลกับคณะนั้น ยังคงต้องจับตา
โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา นาย สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกบกับ ร่างของพรรคก้าวไกล ซึ่งตอนนี้ คณะทำงานด้านกฎหมาย ของพรรคกำลังร่างอยู่ เมื่อเราเสนอเข้าสภาฯแล้ว ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/12/1-PAP_6796-1024x682.jpg)
ส่วนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล นั้น ทางพรรคเพื่อไทย จะพิจารณาในเรื่องของตัวเนื้อหาอีกครั้ง ว่า มีส่วนไหนที่เห็นตรงกันบ้าง ในส่วนที่เห็นตรงกัน ก็พร้อมสนับสนุน
อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของก้าวไกลนั้น หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยคณะได้ยื่นต่อประธานสภาไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา โดยล่าสุดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ ระหว่างวันที่ 9 พ.ย. ถึง 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระยะเวลา 1 เดือน ผลปรากฏว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนจำนวน 631 คน โดยมีผู้เห็นด้วย ให้การรับรองเพียง 28.37% ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วย ไม่ให้การรับรองมีสูงถึง 71.32% โดยกระบวนการหลังจากนี้สภาจะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป