คัดลอก URL แล้ว

ปี 2566 “จุดเปลี่ยนการเมืองไทย”

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำโค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ได้ตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. บริหารประเทศเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะยอมให้มีการจัดการเลือกตั้ง ในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนอันดับ1 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐที่มีคะแนนอันดับ2 จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมาเป็นระยะเวลาถึง 9 ปี การเลือกตั้งในเดือนพ.ค. 2566 จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย

ที่สุดแห่งปี 2023 ในประเด็นต่าง ๆ

เลือกตั้งครั้งใหญ่ 2566 ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

ความเข้มข้นของการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปีนี้ ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังพรรคก้าวไกลกวาดคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 151 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคร่วม ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีร่วมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรมและพรรคพลังสังคมใหม่

แต่ไม่สามารถผ่านด่านสมาชิกวุฒิสภาได้ ที่มีข้อคลางแคลงใจในประเด็นมาตรา112 เมื่อคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภา คือ 375 เสียง ทั้ง 2 ครั้ง ทำให้พรรคก้าวไกลประกาศถอนตัว

พิธาโดนสอยหลุดหัวหน้าพรรค

วิบากกรรมพิธา หลังถูกร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีดังกล่าว ทำให้พิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.เดินออกจากสภา

จนเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 66 นายพิธา ประกาศลาออกจาก “หน.พรรคก้าวไกล” เปิดทางคนที่เป็น สส. ขึ้นมารับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” เป็นหัวเรือกำกับทิศทางในสภาฯ เจ้าตัวย้ำไม่ได้หายหน้าไปไหน แต่จะทำงานเบื้องหลังอย่างสุดกำลังแทน

โดยคนที่ขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนคือ ชัยธวัช ตุลาธน ผู้ที่เคยรับหน้าที่เป็น รับหน้าที่รองเลขาธิการพรรคมาตั้งแต่สมัยยังคงเป็นพรรคอนาคตใหม่

เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ได้นายกฯ เศรษฐา

หลังที่ประชุมรัฐสภา ปิดสวิตซ์ เสนอชื่อ ‘พิธา’ โหวตนายกฯ รอบสอง ไม่ได้ โดยขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ด้วยมติ 395 เสียง ต่อ 312 เสียง ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 2 เดินหน้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ซึ่งได้ประกาศแยกทางกับพรรคก้าวไกล ต่อมา “เพื่อไทย” และพรรคร่วมรวม 11 พรรค 314 เสียง แถลงจัดตั้งรัฐบาลที่รัฐสภา

การโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 3 ในวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมตรี โดยมติที่ประชุมรัฐสภาโหวตนายเศรษฐาให้นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ฉลุย ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง

ทักษิณกลับไทย รอวันพ้นโทษ

อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ออกมาโพสต์ข้อความ “ขออนุญาตกลับบ้าน” เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ในช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา การทวิตข้อความในครั้งนั้น นับเป็นการแสดงถึงความปรารถนาที่ชัดเจนที่สุด ถึงความหวังที่จะกลับสู่แผ่นดินเกิดครั้งแรกในรอบ 15 ปี

จนเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ทักษิณเหยียบแผ่นดินไทย ก่อนเข้าสู่กระบวนการมอบตัวรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ส่งตัวเขาไปรับการรักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ ในเวลาประมาน 0.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค.

ต่อมา นายทักษิณได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชาย (น.ช.) ทักษิณ ชินวัตร จากจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี

โดยปัจจุบันนายทักษิณยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

ประยุทธ์ ” รับตำแหน่ง “องคมนตรี” – บิ๊กป้อม นั่งหน. พปชร. คุมเบื้องหลัง

ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ได้พาครอบครัวพักผ่อน เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง “องคมนตรี” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566

ขณะที่ด้านของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เดินทางเข้ามาประชุมพรรค เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ระบุว่าสบายดี หลังสื่อมวลชนแซวว่าไม่เห็นหน้ากันนาน

ประชาธิปัตย์” ร้าวศึกในพรรค

หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการ พรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนได้เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 88.5% หลัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถอนตัวและลาออกจากสมาชิกพรรค ส่วน วทันยา บุนนาค คุณสมบัติไม่ครบ

ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์ประชุมล่มมาแล้ว 2 ครั้ง คือวันที่ 9 ก.ค.66 และ 6 ส.ค.66 สำหรับการประชุมเพื่อหาหัวหน้าพรรคใหม่นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งวันภายหลังผลการตั้งทั่วไปออกมาไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมาย โดยได้ที่นั่ง ส.ส.เพียง 25 ที่นั่งเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุการณ์สำคัญภายในพรรคคือ 16 สส.พรรคประชาธิปัตย์ โหวต “เห็นชอบ” เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการโหวตสวนมติพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าจะ “งดออกเสียง” อีกด้วย

จับตาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อปีหน้า

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ที่เสนอโดย ชัยธวัช ตุลาธน สส. ก้าวไกลกับคณะนั้น ยังคงต้องจับตา

โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา นาย สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกบกับ ร่างของพรรคก้าวไกล ซึ่งตอนนี้ คณะทำงานด้านกฎหมาย ของพรรคกำลังร่างอยู่ เมื่อเราเสนอเข้าสภาฯแล้ว ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขึ้นมาเพื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว

ส่วนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล นั้น ทางพรรคเพื่อไทย จะพิจารณาในเรื่องของตัวเนื้อหาอีกครั้ง ว่า มีส่วนไหนที่เห็นตรงกันบ้าง ในส่วนที่เห็นตรงกัน ก็พร้อมสนับสนุน

อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของก้าวไกลนั้น หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยคณะได้ยื่นต่อประธานสภาไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา โดยล่าสุดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ ระหว่างวันที่ 9 พ.ย. ถึง 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระยะเวลา 1 เดือน ผลปรากฏว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนจำนวน 631 คน โดยมีผู้เห็นด้วย ให้การรับรองเพียง 28.37% ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วย ไม่ให้การรับรองมีสูงถึง 71.32% โดยกระบวนการหลังจากนี้สภาจะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง