โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign paroxysmal positional vertigo: BPPV) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเป็น ๆ หาย ๆ โดยมีความผิดปกติอยู่ที่หูชั้นใน มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ
ข้อมูลจาก นพ.สุเมธ เฟื่องกำลูน แพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา ศูนย์ หู คอ จมูก ( Ear Nose & Throat Center) โรงพยาบาลนวเวช อธิบายถึงสาเหตุ อาการ การรักษา รวมถึงคำแนะนำในการปฎิบัติตัวเพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรค สามารถนำไปใช้สังเกตตนเองและคนรอบข้าง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
โอกาสในการเกิดโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด
- พบได้ในคนอายุ 30 – 70 ปี มักพบในคนอายุเกิน 60 ปี
- พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วน 1.5-2 : 1
- สามารถเกิดในหูทั้งสองข้างได้ประมาณร้อยละ 15
- โรคนี้มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้
อาการของโรค
- เวียนศีรษะบ้านหมุน เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะอย่างรวดเร็ว เช่น ล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน, ก้มหยิบของ, เงยหน้า, หันศีรษะ บ้านหมุนมักมีอาการไม่นาน (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 นาที)
- ขณะเวียนศีรษะบ้านหมุนอาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
- ไม่มีหูอื้อหรือเสียงดังในหู
- ไม่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางอื่น
กลไกการเกิดโรค
โดยปกติแล้วภายในหูชั้นในของมนุษย์ มีอวัยวะควบคุมการทรงตัว (Utricle, Saccule, Semicircular canal) ซึ่งใน Utricle มีตะกอนหินปูน (Otoconia) ที่เคลื่อนไปมาโดยไม่หลุด เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ หากมีสาเหตุที่ทำให้ตะกอนหินปูนหลุด จะทำให้ตะกอนหินปูนดังกล่าวเคลื่อนที่ไปมาใน Semicircular canal และส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้
สาเหตุของการเกิดโรค
- ความเสื่อมตามวัย เมื่ออายุมากขึ้นตะกอนหินปูนจะเปราะง่าย ทำให้ตะกอนหินปูนหลุดได้ง่ายขึ้น
- อุบัติเหตุบริเวณศีรษะ
- โรคของหูชั้นใน
- การผ่าตัดหูชั้นกลางหรือหูชั้นใน
- การเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำ ๆ การก้มเงยศีรษะบ่อย ๆ
- ไม่ทราบสาเหตุ (พบประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้)
การรักษาโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด
โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดสามารถวินิจฉัยได้จากประวัติและตรวจร่างกายที่จำเพาะ การตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยโรคอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีบ้านหมุนขณะตรวจได้
- รักษาด้วยยา ได้แก่ ยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
- ทำกายภาพบำบัดโดยแพทย์ เป็นการขยับศีรษะและคอโดยใช้แรงดึงดูดของโลกเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนให้กลับเข้าที่ (Canalith repositioning procedure)
- บริหารและฝึกระบบประสาททรงตัว (Vestibular rehabilitation) เพื่อให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้น
คำแนะนำในการปฏิบัติตัว เพื่อช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรค
- เวลานอนควรหนุนหมอนสูง (หนุนหมอน 2 ใบ) หรือใช้เตียงนอนปรับระดับให้ศีรษะสูง
- หลีกเลี่ยงการนอนราบ
- หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงด้านที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
- ควรลุกขึ้นจากเตียงนอนซ้ำ ๆ ลุกจากเก้าอี้ซ้ำ ๆ
- หลีกเลี่ยงการก้ม, เงย หรือหันศีรษะ
- ไม่ควรออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของศีรษะหรือลำตัวมาก