ว่ากันว่า ศัตรูตลอดกาลของฮอลลีวูดนั้น ส่วนใหญ่แล้วหนีไม่พ้นเหล่าสัตว์โลกน่ารักอย่าง งู, จระเข้ และ ฉลาม อาจจะด้วยการที่พวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อและล่าสัตว์อื่นเป็นอาหารทำให้ไม่ยากหากจะดัดแปลงให้พวกมันหันมาล่าตัวละครมนุษย์ จนความน่ากลัวของพวกมันเริ่ม ‘ไปไกล’ ตั้งแต่ Anaconda (1997, ลูอิส โลซา) เล่าเรื่องงูยักษ์จอมเดือด แต่คงไม่มีหนังเรื่องไหนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสัตว์ประหลาดนักล่าได้มากเท่า Jaws (1975, สตีเวน สปีลเบิร์ก) อีกแล้ว จนมันกลายเป็นต้นตำรับหนังธริลเลอร์สยองขวัญที่มีฉลามยักษ์ไล่กัดมนุษย์! ซึ่งอันที่จริง ตามที่นิตยสาร National Geographic บอกไว้นั้น ฉลามค่อนข้างขี้อาย รักสงบและไม่ค่อยนิยมโจมตีใครนัก แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะเป็นสัตว์ประเภทกินไม่เลือกก็ตามที (เอ่อ…) และพวกมันนั้น ต่อให้โตเต็มที่ก็มีขนาดใหญ่สุดเพียง 6 เมตรเท่านั้น (มีน้อยมากที่เติบโตตัวใหญ่ได้ถึง 7 เมตร)
และก็ตามประสาฮอลลีวูด ที่เชื่อว่าหากขยายไซส์ของนักล่าให้บิ๊กเบิ้มขึ้นจะหมายถึงการทวีความน่ากลัวของพวกมันด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ฉลามนักล่าในภาพยนตร์ ถึงได้มีขนาดตัวใหญ่กว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว แต่จะมากขึ้นแค่ไหนนั้น เรานำมาเทียบให้คร่าวๆ ดังนี้
Bait (2012, คิมเบิล เรนดัลล์) ขนาด 3.6 เมตร
หนังแอ็กชั่น/ทริลเลอร์ ผลงานการสร้างเรื่องแรกระหว่างออสเตรเลียและสิงคโปร์ เล่าถึงกลุ่มคนที่ดวงซวยสุดขีดเพราะไม่เพียงแต่ต้องเผชิญหน้ากับคลื่นสึนามิหนักหนาอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องเจอกับสิ่งที่มาพร้อมคลื่นมฤติยูนั้นอย่าง ‘ฉลามขาวยักษ์’ ผู้กราดเกรี้ยวและกัดกินทุกสิ่งอย่างที่ขวางหน้า โดยเจ้าฉลามขาวนี้ฤทธิ์เดชไม่ใช่น้อยๆ เพราะนอกจากจะว่ายน้ำฝ่าสารพัดสิ่งของเพื่อบุกประชิดตัวเหยื่อ (ซึ่งคือมนุษย์นี่แหละ!) แล้ว มันยังมีเรี่ยวแรงมากพอจะคว่ำรถ และพุ่งชนกับอาวุธมากมายประดามีที่เหล่าเหยื่อสองขาของมันมีแรงพอจะขว้างปาใส่มันได้ด้วย ที่สำคัญคือมันเป็นฉลามที่อ้างอิงจากขนาดฉลามจริง ซึ่งความโหดเหี้ยมของมันที่ปรากฏในหนังนั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราสยดสยองโดยไม่ต้องไปเพิ่มขนาดให้ใหญ่โตไปกว่านี้
47 Meters Down (2017, โยฮันเนส โรเบิร์ตส์) ขนาด 5 เมตร
สองศรีพี่น้องตัดสินใจดำดิ่งลงไปใต้ทะเลในกรงเหล็กเพื่อดูโลกใต้น้ำ หากแต่ความซวยไม่เข้าใครออกใครเมื่อกรงของทั้งสองติดชะงักอยู่กลางน้ำลึก 47 เมตร ท่ามกลางความกังวลว่าอ็อกซิเจนในถังอากาศใกล้จะหมดหรือยังนั้น ทั้งสองก็ยังต้องพบกับความจริงชวนเหวอว่า นอกกรงนั้นมีฉลามขาววนเวียนป้วนเปี้ยนเพื่อจะงาบพวกเธอเป็นอาหารเย็นอีกต่างหาก! และเพื่ออาหารมื้อนี้ มันจึงพยายามทำทุกทางเพื่อแหกกรงคาบเอาทั้งสองมากินให้ได้
แน่ล่ะว่านี่เป็นเรื่องไกลความจริงไปโข เพราะฉลามไม่ได้นิยมเนื้อมนุษย์ขนาดนั้น มากที่สุดมันมักวนเวียนอยู่รอบกรงหรือสิ่งที่มันเห็นว่าหน้าตาประหลาดกว่าปลาตัวเล็กตัวน้อยที่มันเคยเห็นทุกวัน แล้วจึงว่ายน้ำจากไปอย่างสงบ… เว้นเสียแต่ว่ามันหิวจัดและจนตรอกจริงๆ น่ะนะถึงจะจู่โจมคนในกรงเหล็กได้
Jaws (1975, สปีลเบิร์ก) ขนาด – 7.6 เมตร
เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของตำนานฉลามนักล่าแห่งโลกภาพยนตร์อย่างแท้จริง ใครจะไปลืมฉากจำชวนสยองเมื่อฉลามขาว -ผู้ถูกตั้งชื่ออย่างน่ารักน่าชังว่า บรูซ- ไซส์ยักษ์ขนาด 7 เมตร บุกพังเรือไปทั้งลำและฆ่าคนเป็นว่าเล่นตลอดความยาวหนังสองชั่วโมง ทั้งเรื่องเต็มไปด้วยความสยดสยองเมื่อสปีลเบิร์กเนรมิตให้น้องบรูซเป็นฉลามขี้หงุดหงิด อ้าปากกว้างเห็นฟันคมกริบนับร้อยซี่ไล่งับคน ขณะที่เพื่อนร่วมสายพันธุ์อาจจะเอ็นจอยกับการกินเนื้อปลาทูน่าในทะเลมากกว่า แต่น้องบรูซยืนกรานว่าเนื้อมนุษย์เป็นของโอชะสำหรับมันและตั้งต้นไล่กัดคนอย่างสยดสยอง
อย่างไรก็ตาม บรูซได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของฉลามในโลกภาพยนตร์ไปแล้วจนได้ เมื่อตัวหนังประสบความสำเร็จสุดขีดด้วยการทำรายได้ไปถึง 470 ล้านเหรียญฯ ซึ่งนับว่ามหาศาลทีเดียวในยุคสมัยนั้น ก่อนจะงอกภาคต่อตามมาโดยผู้กำกับคนอื่นๆ และน้องฉลามหน้าใหม่ที่มาสืบทอดเจตนารมณ์เดือดของบรูซ
Deep Blue Sea (1999, เร็นนี ฮาร์ลิน) ขนาด : 7.9 เมตร
หากจะมีเหตุผลที่รองรับขนาดใหญ่ยักษ์ของเจ้าฉลามจอมกราดเกรี้ยวในหนังเรื่องนี้ คือการที่มันเป็นสัตว์ที่ถูกนักวิทยาศาสตร์ดัดแปลงจนมีขนาดใหญ่โตกว่าฉลามปกติ แถมยังกระหายเลือดตลอดเวลาซึ่งก็เป็นผลจากการทดลองเช่นกัน เรื่องราววายป่วงเมื่อพายุซัดตึกของเหล่านักวิทยาศาสตร์ถล่มจนกรงที่ขังฉลามไว้เปิดออก สัตว์ยักษ์จึงว่ายปะปนไปกับน้ำที่ท่วมขังตึก และออกล่าเหล่ามนุษย์ที่เป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและผู้ทดลองกับร่างกายมันอย่างไม่ไว้หน้าใคร
นักวิจารณ์หลายคนถึงขั้นยกย่องว่า Deep Blue Sea คือหนังฉลามที่ดีที่สุดต่อจาก Jaws ของสปีลเบิร์กเลยทีเดียว แม้ว่าที่จริงแล้วมันจะเป็นหนังที่มีกลิ่นอายต่างกันมากก็ตามที เพราะขณะที่หนังของสปีลเบิร์กเน้นไปที่ความสยดสยอง Deep Blue Sea ของฮาร์ลินกลับเน้นไปที่ฉากแอ็กชั่นลุ้นระทึกระหว่างคนกับสัตว์… สมแล้วที่เขาเคยกำกับหนังแอ็กชั่นคลั่งๆ อย่าง Die Hard 2 (1990) มาก่อน!
Megalodon (2004, แพ็ต คอร์บิตต์) ขนาด – 17 เมตร
เม็กกาโลดอน คือฉลามนักล่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีชีวิตอยู่เมื่อหลายล้านปีก่อน (แน่นอนว่าในตอนนี้พวกมันก็ได้สูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว) ร่างกายของมันใหญ่ยักษ์ไปได้ถึง 20-22 เมตร! และมีการขุดพบว่ามันอาจเป็นนักล่าวาฬตัวฉกาจก็เป็นได้
และ Megalodon คือหนังที่ออกฉายทางโทรทัศน์ที่ปลุกเม็กกาโลดอนให้กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้งในฐานะนักล่าขนาดยักษ์ที่มนุษย์ไม่รู้จะรับมือกับมันอย่างไร ในหนังนั้น พวกมันคล่องแคล่ว ปราดเปรียวและบ้าพลังจนทำลายข้าวของพังราบเป็นหน้ากลองไปครึ่งเรื่อง หากแต่ชีวิตจริงนั้นเจ้าสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้ค่อนข้างน่าสงสาร ด้วยขนาดตัวมโหฬารทำให้มันจำเป็นต้องออกล่าอาหารจำนวนมากเพื่อยังชีพ และเป้าหมายของมันหนีไม่พ้นวาฬ ซึ่งในเวลาต่อมาอพยพไปอยู่ในทะเลเขตน้ำเย็นกันหมดเนื่องจากปรับตัวได้ ส่วนพี่เม็กกาโลดอนของเรานั้น เนื่องจากปรับตัวในกระแสน้ำเย็นไม่ได้จึงยังต้องอยู่ในเขตน้ำอุ่นที่ไม่มีวาฬต่อไป และเมื่ออาหารให้ล่าเหลือน้อยลง ก็ไม่แปลกหากพวกมันจะสูญพันธุ์ในที่สุด
The Meg (2018, จอน เทอร์เทลโทบ) ขนาด – 27.4 เมตร
และแล้วเม็กกาโลดอนก็ถูกปลุกให้อาละวาดอีกครั้ง ในขนาดตัวที่ใหญ่กว่าเดิม… และใหญ่กว่าขนาดที่ควรจะเป็นหลายเมตรตามประสาหนังฟอร์มยักษ์ที่เน้นความอลังการ โดยหนังเล่าถึงกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่ดำน้ำลึกและพบสิ่งมีชีวิตที่ควรจะสูญพันธุ์ไปนานแล้วอย่างฉลามเม็กกาโลดอน ที่ทักทายพวกเขาด้วยฟันหลายพันซี่และน้ำหนักตัวอีก 40 ตันจนพวกเขากลับขึ้นฝั่งไม่ได้ ร้อนถึงต้องไปว่าจ้างอดีตนาวิกโยธินหัวร้อน (เจสัน สเตแธม) ให้ช่วยเหล่านักวิทยาศาสตร์กลับขึ้นมาและจัดการเจ้าฉลามยักษ์ -ผู้ดำรงตำแหน่งโคตรนักล่าที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกอดีต- ให้พวกเขาที
ติดตามรับชม
Bait 3D โคตรฉลามคลั่ง
วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม เวลา 18.00 น. ทางช่อง MONO29
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://movie.mthai.com