ครบ 1 ปีแล้ว สำหรับการบริหารงานราชการของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากย้อนไปเมื่อช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2565 ‘ชัชชาติ’ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างถล่มทลายสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์การเลือกตั้งพ่อเมืองกรุงเทพฯ ด้วยคะแนนเสียงกว่า 1.3 ล้านคะแนน ด้วยวิสัยทัศน์ บุคคลิก และนโยบายที่น่าสนใจ ทำให้คนกรุงส่วนใหญ่โหวตลงคะแนนเสียงให้อย่างท่วมท้น เรียกได้ว่าเอาชนะคู่แข่งรายอื่น ๆ ไปอย่างขาดลอย
ที่ผ่านมาเราคงได้เห็นแอคชั่นต่าง ๆ ของผู้ว่าฯ กทม. อยู่ตลอดในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปี ในการเข้ามาบริหารงาน รวมถึงการทำงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ด้วยเช่นกัน
ซึ่ง ‘ผลงาน’ จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญในการบริหารงาน ว่าแต่ละนโยบายที่เคยประกาศไว้นั้น มีความสำเร็จ หรือ ความคืบหน้าไปมากน้อยเช่นไร ทั้งปัญหารถติด น้ำท่วม โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นปัญหาหลักที่ชาวกรุงอย่างเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
“365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน กรุงเทพฯ”
โดยเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้มีการแถลงชี้แจงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย รวมถึงทิศทางการการพัฒนากรุงเทพมหานครในระยะต่อไป ซึ่งเริ่มการใช้งบประมาณเพื่อนโยบายอย่างจริงจังคืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 66 กว่า 9,000 ล้านบาท
สำหรับช่วงแรกมี Key Driver 5 เรื่องหลักที่ได้ทำ คือ
- 1.การให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย โดยไม่ได้ละเลยเส้นเลือดใหญ่ที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นว่ากรุงเทพฯ อ่อนแอที่เส้นเลือดฝอย หากทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงและประสานกับเส้นเลือดใหญ่ให้เข้มแข็งได้ จะทำให้ทั้ง 2 ส่วนทำงานไปด้วยกันได้
- 2.การเปลี่ยน Mind set ข้าราชการ โดยใช้ People Centric คือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง หันหน้าหาประชาชน ตอบสนองประชาชนตลอดเวลา ทำให้เป็นหัวใจหลักในการทำงานและผู้บริหารต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่ลูกน้อง
- 3.Technology Driver คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยน เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เช่น Open Data การเปิดเผยข้อมูล การให้ใบอนุญาตออนไลน์ การให้บริการ Telemedicine เป็นต้น ซึ่งเห็นผลชัดเจน อนาคตต่อไปจะไม่หวนกลับไปในรูปแบบเดิมแล้ว เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนและจะถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ประชาชน
- 4.เรื่องของความโปร่งใส เป็นโจทย์ที่ประชาชนฝากให้ตั้งแต่เริ่มแรก การเปลี่ยน Mind set ผู้บริหารในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ไม่เก็บส่วย เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยความโปร่งใส
- 5.สร้างภาคีเครือข่าย เพราะปีแรกเราไม่มีงบประมาณอะไรเลย มีเพียงความร่วมมือจากชุมชน หอการค้า หน่วยงานภาครัฐ เอกชน กิจกรรมที่เกิดขึ้นได้จึงเกิดจากภาคีเครือข่ายทำให้เมืองขับเคลื่อน และคาดว่าภาคีเครือข่ายจะร่วมขับเคลื่อนกทม.ต่อไปในปีที่ 2-4 ด้วย 9 ด้าน 9 ดี
สำหรับนโยบายของกรุงเทพมหานคร จาก 9 ด้าน 9 ดี เดิม ได้แก่ เดินทางดี ปลอดภัยดี โครงสร้างดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี เรียนดี และบริหารจัดการดี ซึ่งประกอบด้วย 216 นโยบาย ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้าใจง่าย สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานจริง และตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขื้น เป็น 9 ด้าน 9 ดี ใหม่
ได้แก่ เดินทางดี ปลอดภัยดี โปร่งใสดี (ใหม่) สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เรียนดี เศรษฐกิจดี สังคมดี (ใหม่) และบริหารจัดการดี รวม 226 นโยบาย โดยเริ่มดำเนินการไปแล้ว 211 นโยบาย ส่วน 11 นโยบายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เป็นนโยบายที่ต้องมีการประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานอื่น
และมี 4 นโยบายยุติการดำเนินการ เช่น นโยบายห้องให้นมเด็ก ซึ่งไม่ค่อยมีผู้ใช้บริการเนื่องจากประชาชนไม่นิยมมีบุตร นโยบายรถห้องสมุดเคลื่อนที่ลงไปถึงชุมชน เนื่องจากชุมชนมีพื้นที่ถนนเล็ก จึงเห็นควรปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดออนไลน์ เป็นต้น
เป้าหมาย 9 ดี ในอีก 3 ปีข้างหน้า
เป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้า “ด้านเดินทางดี” คือ กทม.มีทางเท้าดี 1000 กม. ทางเดินริมแม่น้ำ 153 กม. Adaptive Signaling 200 แห่ง ศาลาที่พักผู้โดยสาร 476 หลัง CCTV ตรวจจับ Traffic Violation 500 แห่ง แก้ไขจุดฝืด 100 จุด ลดจุดเสี่ยงจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 83 จุด
“ด้านปลอดภัยดี”
- คือ มี CCTV ป้องกันภัยด้านอาชญากรรม 65,440 กล้อง เปลี่ยนไฟ LED 100,000 หลอด แก้ไขจุดเสี่ยง 100 จุด จัดหาเครื่องดับเพลิง พร้อมระบุตำแหน่งและซ้อมแผนชุมชน 30,000 แห่ง ปรับปรุงสถานีดับเพลิง 9 แห่ง และสร้างเพิ่ม 11 แห่ง
“ด้านโปร่งใสดี”
- คือ มีการปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารลดดุลพินิจในการตัดสินใจ การบริการ กทม.ออนไลน์ 100% ผ่าน OSS เปิดเผยข้อมูล Open Bangkok อย่างน้อย 1,500 ชุดข้อมูล
“ด้านสิ่งแวดล้อมดี”
- คือ มีความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ปลูกต้นไม้ 1,000,000 ต้น สวน 15 นาที รวม 500 แห่ง คัดแยกขยะต้นทาง 3,000 ตัน/วัน ระบบติดตามแจ้งเตือนฝุ่นระดับแขวง 1,000 จุด ร่วมกับรัฐบาลออกข้อบังคับ Low Emission Zone ให้รถทุกคันที่วิ่งเข้า กทม. จ่ายค่าธรรมเนียมมลพิษทางอากาศ
“ด้านสุขภาพดี”
- คือ มีศูนย์บริการสาธารณสุข ปรับปรุง 30 แห่ง สร้างใหม่ 38 แห่ง ผ้าอนามัยฟรี 100% ในโรงเรียน ศึกษาออกแบบโรงพยาบาล 2 แห่ง และก่อสร้าง 3 แห่ง
“ด้านเรียนดี”
- คือ ทุกโรงเรียนมีอาหารถูกหลัก คุณภาพดีทั้งมื้อเช้าและเย็น ปรับปรุง 274 ศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน และขยายการดูแลศูนย์เด็กเล็กให้ครอบคลุมทุกชุมชน คะแนน ONET นักเรียนในสังกัดกทม.สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ (ปัจจุบันยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ) นักเรียน กทม.สื่อสารภาษาไทย ต่างประเทศ และภาษาดิจิทัล (Coding) ได้ ลดภาระงานเอกสาร 100% Transform หลักสูตรและห้องเรียนดิจิทัลครบทุกโรงเรียน พัฒนาหลักสูตรสู่ฐานสมรรถนะและมุ่งสู่การเรียนรู้สู่อาชีพ
“ด้านเศรษฐกิจดี”
- ในอนาคตจะพัฒนาเมืองในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ส่งเสริมการลงทุน Investment Promotion Zone แก้พ.ร.บ. 2528 ให้ กทม. มีอำนาจจัดเก็บภาษี เช่น ภาษีโรงแรม ค่าธรรมเนียมยาสูบ ภาษีน้ำมัน พัฒนาย่าน 3 คลองในเขตเมืองชั้นใน ได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองคูเมืองเดิม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี สร้าง Branding ทั้ง 50 ย่าน ส่งเสริม Local Economy ร่วมกับผู้ประกอบการเอกชนพัฒนาหลักสูตร์ฝึกอาชีพ ผลิตแรงงานสู่ตลาดอย่างน้อย 1,000 ตำแหน่งต่อปี
“ด้านสังคมดี”
- จะมีการสร้างศูนย์เยาวชน ศูนย์กีฬา หอศิลป์ เพิ่มอย่างน้อย 5 แห่ง มีฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน เพิ่ม อสท. ครอบคลุม 2,017 ชุมชน มีแพลตฟอร์มรวบรวมพื้นที่สาธารณะของ กทม. และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง 50 เขต ครบทุกพื้นที่ จ้างคนพิการใน กทม. มากกว่า 660 ตำแหน่ง (1% ของข้าราชการและลูกจ้างประจำ) และจัดสรรงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมทุกชุมชนทุกปีอย่างต่อเนื่อง
“ด้านบริหารจัดการดี”
- คือ การขอเอกสารราชการออนไลน์ 109 กระบวนงาน ผังเมืองรวมใหม่ตามแนวคิด “บ้านใกล้งาน” สวัสดิการใหม่แก่พนักงานกวาดและเก็บขยะ 19,844 คน และแผนลงทุน Capital Improvement Program เครื่องมือบริหารจัดการเมือง
ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน-ความโปร่งใส
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงเรื่องที่ยากที่สุดในการทำงานว่าคือเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องความโปร่งใสเป็นหัวใจหลัก หากไม่มี ประชาชนก็จะไม่ไว้ใจ แต่แนวโน้มของเรื่องนี้ดีขึ้น ที่ผ่านมาพบว่าข้าราชการและลูกจ้างกทม.ส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ประชาชนอาจไม่ยอมรับเรื่องความโปร่งใส หากผู้บริหารกทม.สามารถเริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งที่เป็นธรรม จะทำให้ประชาชนไว้ใจ
ในส่วนของเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue ที่มีมากถึง 3 แสนเรื่อง ไม่ได้แสดงว่าเราอ่อนแอ แต่แสดงว่าประชาชนเริ่มไว้ใจเรา เชื่อว่าเราเอาจริงเอาจัง ซึ่งเห็นว่าเรื่องของ “ความไว้ใจ” มีค่ามากกว่างบประมาณ อย่างเช่น โครงการที่มีคนกังวลมาก เรื่องของการนำเงิน 200,000 บาทเข้าสู่ชุมชน กทม.ก็ทำให้โปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้นโดยเอาประชาชนมาเป็นแนวร่วม อบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่และชาวชุมชนเพื่อให้ความรู้และป้องกัน
ซึ่งดีกว่าการไปจับผิดทีหลัง และทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
ปัญหาน้ำท่วม-การจราจร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นน้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้น เชื่อว่าจะดีขึ้นแน่นอน โดยในกทม.มีจุดเสี่ยงกว่า 700 แห่ง เมื่อระบุในแผนที่ดิจิทัลและเร่งแก้ในแต่ละจุดจะเห็นว่าแก้ไปได้มากกว่าครึ่ง ในขณะเดียวกันก็ทำเส้นเลือดใหญ่คืออุโมงค์เพิ่ม และเหตุฝนตกหลายครั้งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าน้ำระบายได้ดีขึ้น แต่ผลกระทบจาก Climate Change ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักในบางจุดเป็นสิ่งที่ยังกังวล เพราะต้องใช้เวลาในการระบายน้ำมากขึ้น แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้เห็นว่าจุดแข็งของกทม.คือเราเป็นหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่และทรัพยากรอยู่ในทุกส่วนทุกพื้นที่ หากเราเอาใจใส่และจริงจังจะสามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้จริง ๆ ที่ผ่านมา 1 ปี เราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว หัวใจสำคัญไม่ใช่การประชาสัมพันธ์ผลงาน แต่อยากให้ประชาชนรู้สึกเองว่าชีวิตดีขึ้นจากงานที่กทม.ทำ แต่เรื่อง Mega Project อาจจะยังจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอยู่
เรื่อง Mega Project เรื่องหนึ่งที่กทม.ทำ คือ เอาเทคโนโลยีมาควบคุมเรื่องการจราจร น่าจะเริ่มเห็นผลในปีหน้า ซึ่งเห็นว่าปัญหาจราจรที่สำคัญคือการควบคุมไฟจราจร และพบว่ายังไม่มีการทำงานแบบ Area Base หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูล และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตัดสินใจ เปิดไฟจราจรให้สอดคล้องกับสภาพจริงจะทำให้ปัญหาดีขึ้น ซึ่งต้องประสานกับตำรวจเพื่อทำให้เกิดขึ้นจริง โดยกำหนดพื้นที่เป็น Zoning เริ่มจากถนนพหลโยธิน
“ปัญหาของกรุงเทพไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องเล็กที่ไม่มีคนสนใจ แต่กลับเป็นเรื่องที่แตะกับชีวิตคน ฉะนั้น เรื่องเล็กที่กทม.ทำจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่เป็นการตอบโจทย์ประชาชนได้ตรงจุด ซึ่งต้องทำทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่คู่ขนานกันไป”
Mega Project ของกรุงเทพฯ
Mega Project ในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงโรงพยาบาลของกทม. ว่า โรงพยาบาลกทม.ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงในขณะนี้ คือ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ นอกจากนี้ยังมีการหาพื้นที่เพื่อทำสถานพยาบาลในโซนกรุงเทพเหนือและกรุงเทพตะวันออก ในเขตคลองสามวา ภาษีเจริญ และบางนา ด้วยเช่นกัน
ปัญหาคนไร้บ้านในกทม.ว่า มี 4 นโยบายตรง และ 5 นโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนไร้บ้านเป็นปลายทางของสวัสดิการทุกอย่าง กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง แก้ไขอย่างต่อเนื่อง
ปรับปรุงจุดเสี่ยงจราจร การเพิ่มจำนวนทางม้าลาย ในขณะนี้ได้ดำเนินการทาสีให้ชัดเจนขึ้น และบางส่วนดำเนินการไปพร้อมกับการปรับปรุงจุดเสี่ยง ในส่วนของจัดเก็บค่าจอดรถ กทม.จะประสานกับตำรวจจราจรเพื่อกำหนดเส้นทางที่สามารถจัดเก็บได้และเพิ่มเส้นทางที่จะจัดเก็บใหม่ต่อไป โดยการจัดเก็บค่าจอดรถตามถนนต่าง ๆ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการจัดเก็บค่าที่จอดรถจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการหมุนเวียน ร้านค้าจะขายของได้มากขึ้น แต่ต้องมาดูเรื่องของอำนาจการจับปรับหากฝ่าฝืน
ประเด็นเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุว่า หากมองในอนาคต หลังปี 72 จะมีรายได้ คงต้องดูอีกที หากต้องจ่ายหนี้อาจต้องทยอยจ่าย แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือรัฐบาลช่วยจ่ายให้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถบริหารได้แต่ต้องรอบคอบมากขึ้น ส่วนเรื่องของผลกระทบคงมี เพราะเป็นหนี้ที่เพิ่มเข้ามา
ข้อมูล – กรุงเทพมหานคร