คัดลอก URL แล้ว
พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น

พื้นที่ปลอดภัยจาก PM 2.5 ไม่ถึง 1% และผู้ที่หายใจในอากาศที่ปลอดภัยมีเพียง 0.001% เท่านั้น

KEY :

นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานผลการศึกษาการกระจายของฝุ่น PM 2.5 ทั่วโลก ภายหลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มของฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเซียใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ละตินอเมริกาและแถบทะเลคาริบเบี้ยน ในตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงปี 2019

โดยในปี 2019 มีจำนวนวันมากกว่า 70% ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และหาดูในภูมิภาพของเอเชียใต้ และ เอเชียตะวันออก มีจำนวนวันมากกว่า 90% ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกิน 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ซึ่งนั่นหมายความว่า ในหนึ่งปี ประชากรในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะต้องหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 328 วัน ในเกณฑ์ที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

นักวิจัยพบว่า ความเข้มข้นสูงสุดเกิดขึ้นของฝุ่น PM 2.5 นั้น พบมากที่สุดคือ ในเอเชียตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามด้วยเอเชียใต้ 37 ไมโครกรัม และแอฟริกาเหนือ 30 ไมโครกรัม โดยทั่วโลกในช่วงปี 2000 ถึง 2019 มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ที่ 32.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต่อปี 

ในขณะที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือลดลง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เข้มงวดต่อการปล่อยฝุ่นควันต่าง ๆ สู่อากาศ โดยฝุ่น PM 2.5 ที่พบนั้นเกิดขึ้นจากทั้งควันจากยานพาหนะต่าง ๆ , ควันและเถ้าถ่านที่เกิดขึ้นจากไฟป่าและการเผา ร่วมกับฝุ่นละอองซัลเฟตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าและฝุ่นในทะเลทราย

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า พื้นที่มากกว่า 99.82% ของโลกจะเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ( 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) และนั่นหมายความว่า มีพื้นที่บนโลกเพียง 0.18% เท่านั้นที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 และมีประชากรโลกเพียง 0.001% เท่านั้นที่สามารถหายใจในอากาศที่อยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากนี้ ในช่วงของฤดูกาลที่แตกต่างกันไป ส่งผลต่อปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น ในช่วงฤดูหนาว (ธ.ค. – ก.พ.) จะพบว่า พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และทางตอนเหนือของอินเดีย จะมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น ในขณะที่ทางด้านตะวันออกของแถบอเมริกาเหนือ จะมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน ( มิ.ย. – ส.ค.) ในขณะเดียวกันบริเวณแถบอเมริกาใต้ เช่นบราซิล จะมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. เชื่อมโยงกับการทำเกษตรกรรมในช่วงดังกล่าว

สำหรับการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดกว่า 5,000 แห่งทั่วโลก ร่วมกับการใช้แบบจำลองต่าง ๆ


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง