KEY :
- ก่อนหน้านี้ ‘อุปกิต ปาจรียางกูร’ ส.ว. ฟ้องร้อง รังสิมันต์ โรม ข้อหาหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหาย 100 ล้านบาท กรณีการอภิปรายพาดพิง
- รังสิมันต์ โรม พร้อมโชว์หลักฐาน ระบุการขายหุ้นและลาออกจากตำแหน่งกรรมการของ Allure Group และ Myanmar Allure แล้วในปี 2562 ก่อนรับตำแหน่ง ส.ว. มีข้อสังเกตหลายอย่าง
วันนี้ (20 ก.พ. 66) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้แถลงเปิดหลักฐานเพิ่มเติม หลังถูกนายอุปกิต ปาจรียางกูร ส.ว. ฟ้องร้อง ข้อหาหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหาย 100 ล้านบาท กรณีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เปิดโปงกรณีไทยดำ-จีนเทา พาดพิงนายอุปกิต ปาจรียางกูร โดยนายรังสิมันต์ ระบุว่า ที่นายอุปกิต ชี้แจงว่าได้ขายหุ้นและลาออกจากตำแหน่งกรรมการของ Allure Group และ Myanmar Allure แล้วในปี 2562 ก่อนรับตำแหน่ง ส.ว. รวมถึงขายโรงแรม Allure Resort และยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. เรียบร้อย มีข้อสังเกตหลายอย่าง
นายรังสิมันต์ ระบุว่า หนึ่งในเอกสารที่นายอุปกิตยื่นประกอบบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. คือเอกสารสัญญาซื้อขายอาคารและกิจการโรงแรม ลงวันที่ 9 พ.ค. 2562 เนื้อหาสัญญาระบุว่า นายอุปกิต ซึ่งเป็นผู้ขาย ทำสัญญากับ นายชาคริส กาจกำจรเดช ผู้ซื้อ ว่าตกลงซื้อขายอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง ห้องพักจำนวน 78 ห้อง และกิจการโรงแรม Allure Resort และสิทธิการใช้ประโยชน์บนที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว ในราคา 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ชำระเงินในเดือนสิงหาคม 2562
โดยมีข้อสังเกตคือ ตามสัญญา BOT ที่ทำกับกรมการโรงแรมฯ เมียนมานั้น สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับโรงแรม Allure Resort เป็นของบริษัท Allure Group หรือ Myanmar Allure ดังนั้นถ้าจะมีการขายโรงแรม Allure Resort ให้ผู้อื่นจริง ๆ ก็ควรเป็นการที่นายอุปกิตขายหุ้นของตัวเองใน Allure Group หรือ Myanmar Allure ที่ถือสิทธิและหน้าที่ในโรงแรม ให้กับชาคริส หรือไม่ถ้าเป็นกรณีที่ Allure Group หรือ Myanmar Allure จะขายสิทธิและหน้าที่ในโรงแรมที่บริษัทถืออยู่ให้กับชาคริส ก็ควรต้องเป็นสัญญาที่ทำขึ้นในนามของบริษัทนั้น ๆ
ซึ่งตนเองก็ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากสัญญา BOT กำหนดว่ากรมการโรงแรมฯ ต้องยินยอมด้วย แต่สัญญาฉบับนี้กลับมีลักษณะเป็นสัญญาในนามบุคคลธรรมดา 2 คน เป็นการซื้อตึกโรงแรม กิจการโรงแรม และสิทธิใช้ประโยชน์บนที่ดินโรงแรม หมายความว่า ตามสัญญานี้สิทธิในโรงแรม Allure Resort จะต้องตกเป็นของบุคคลธรรมดาที่ชื่อชาคริสคนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้
ทั้งนี้ การซื้อขายนายอุปกิต ยังแนบสำเนาหนังสือรับรองจากธนาคาร B.I.C. (CAMBODIA) BANK PLC. ลงวันที่ 6 ส.ค.2562 รับรองบัญชีธนาคารดังกล่าว ว่ามีเงินฝากจำนวน 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อเมื่อไปดูเนื้อหาระบุว่าบัญชีธนาคารที่นายอุปกิตอ้างมีเงินฝาก จริง แต่ก็ไม่มีตรงไหนระบุว่าเป็นการจ่ายมาจากชาคริสจริงหรือไม่
เมื่อเดือน เม.ย. 2565 ได้มีการเรียกนายชาคริสไปให้การ ตามบันทึกช่วงหนึ่ง ชาคริส ให้การว่าตนถือหุ้น 15% ของโรงแรมอัลลัวร์ฯ มาตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่งประมาณปลายปี 2562 ตนเคยทำการตกลงซื้อกิจการโรงแรม Allure Resort จากนายอุปกิต แต่ไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันจริงแต่อย่างใด เนื่องจากตนไม่มีเงินซื้อกิจการดังกล่าว และให้การอีกว่า ช่วงเดือน ก.ค. 2563 นายอุปกิตได้ตกลงขายกิจการให้กับบุคคลอื่นในราคาประมาณ 300 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือ 265 ล้านบาท ตนได้รับส่วนแบ่งตามจำนวนที่ถือหุ้น 15% เป็นเงินจำนวน 39,750,000 บาท
ภาพ – กฤติกร จิตติอร่ามกูล