KEY :
- UN ได้เรียกร้องให้อีลอน มัสก์แสดงความมั่นใจต่อผู้ใช้งานทวิตเตอร์ว่า จะยังคงปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป
- โดยได้เสนอแนวทาง 6 ข้อในการปกป้องสิทธิของผู้ใช้งานทวิตเตอร์
- หลังที่ทวิตเตอร์ภายใต้การนำของอีลอน มัสก์ได้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก และสร้างความไม่สบายใจต่อแนวทางในอนาคตของแพลตฟอร์ม
…
สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึง อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ คนใหม่ โดยเรียกร้องให้แสดงความมั่นใจต่อการที่ทวิตเตอร์จะยังคงเน้นเรื่องของสิทธิมนุษยชนภายใต้การนำของมัสก์ ซึ่งจดหมายฉบับนี้มีขึ้นหลังจากที่มีกระแสข่าวการปลดพนักงานจำนวนมาก รวมถึงทีม AI ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบด้านจริยธรรม
โดยนาย Volker Türk ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่ง UN ระบุว่า ทวิตเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติครั้งใหญ่ในโลกในการเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารของเรา แต่ด้วยความเป็นห่วงและวิตกกังวลต่อพื้นที่เสรีและบทบาทของทวิตเตอร์ต่อการสื่อสารที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ
ทวิตเตอร์จำเป็นต้องเข้าใจถึงผลกระทบของแพลตฟอร์ม และเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น การเคารพสิทธิมนุษยชนควรเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งานและพัฒนาแพลตฟอร์มด้วย
ซึ่งนายVolker Türk ยังได้กล่าวถึงแนวทางการบริหารงานภายใต้การนำของอีลอน มัสก์ ร้องขอให้ทวิตเตอร์ยังคงเป็นศูนย์กลางของสิทธิมนุษยชน ภายใต้การนำของมัสก์ ผ่านแนวทางพื้นฐานทั้ง 6 ประการจากมุมมองของ UNHCR คือ
1. ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกทั่วโลก
โดยขอให้ทวิตเตอร์รักษาสิทธิความเป็นส่วนตัว และการแสดงออกอย่างอิสระ ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสร้างความโปร่งใสต่อการร้องขอของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ
2. ฟรีสปีช (Free speech) ไม่ใช่การปลดปล่อยโดยอิสระ
UNHCR ได้ระบุถึงประเด็นการพูดอย่างอิสระ แต่ไม่ใช่การปล่อยให้มีการกระจายของข้อมูล หรือข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นภัยต่อผู้ใช้งาน เช่น เรื่องของวัคซีนโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการปล่อยข่าวลือต่าง ๆ ส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อโลก
ซึ่งทวิตเตอร์จำเป็นจะต้องระมัดระวังในการปล่อยผ่านเนื้อหาที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสิทธิของผู้ใช้งาน
3. ไม่เป็นพื้นที่ของการสร้างความเกลียดชัง
การกระจายข่าว และการสร้างความเกลียดชังบนโซเซียลมีเดียถือเป็นเรื่องที่รุนแรงกับผู้คนจำนวนมาก ทวิตเตอร์จึงควรมีนโยบายในการดูแลและระงับการสร้างความเกลียดชังในแพลตฟอร์ม เช่นการลบเนื้อหาเหล่านั้นออกไปในทันทีที่ตรวจพบ ตามกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อหยุดการแสดงออกที่ยั่วยุ สร้างความเกลียดชัง เลือกปฏิบัติ หรือเป็นการใช้ความรุนแรงต่อกัน
4. ต้องโปร่งใส
โดยเน้นการเข้าถึงข้อมูลในการเปิด APIs ให้ยังคงสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของทวิตเตอร์ต่อไป
5. ปกป้องสิทธิส่วนบุคคล
เสรีภาพในการแสดงออกนั้นขึ้นอยู่กับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานที่ดี ทวิตเตอร์จึงยังคงควรที่จะเลี่ยงในการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งาน และปฏิเสธข้อเรียกร้องที่ไม่ยุติธรรมของภาครัฐในการร้องขอข้อมูลผู้ใช้งาน
6. ไม่เลือกปฏิบัติ
ขอให้ทวิตเตอร์รับผิดชอบการรักษาสิทธิและความปลอดภัยของผู้ใช้งานทั่วโลกโดยไม่เลือกปฏิบัติกับเนื้อหาเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น