KEY :
- การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังค์ถัด (UNCTAD) เผยว่าการบังคับใช้นโยบายทางการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เสี่ยงผลักดันเศรษฐกิจโลกสู่ภาวะถดถอยและภาวะซบเซายืดเยื้อ
- สร้างความเสียหายที่เลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤตการเงินปี 2008 และผลกระทบจากโควิด-19
- คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 2.5 ในปี 2022 ส่วนการเติบโตในปี 2023 จะชะลอตัวลงอีกอยู่ที่ร้อยละ 2.2
…
รายงานว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2022 ของการประชุมฯ เมื่อวันจันทร์ (3 ต.ค.) ระบุว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วและการกระชับมาตรการทางการเงินในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กอปรกับสารพัดวิกฤตจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และความขัดแย้งยูเครน ทำให้การชะลอตัวทั่วโลกกลายเป็นภาวะขาลง โดยไม่มีแนวโน้มลดระดับลงตามที่คาดหวังไว้
บรรดาธนาคารกลางไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษของอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ และความเชื่อที่ว่าธนาคารกลางสามารถปรับลดราคาด้วยการอาศัยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นโดยปราศจากภาวะถดถอยนั้นเป็นการเดิมพันที่บุ่มบ่าม
การกระชับมาตรการทางการเงินมากเกินจำเป็นอาจนำมาซึ่งภาวะซบเซาและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะเกิดภาวะค่าจ้างที่แท้จริงตกต่ำ ความปั่นป่วนทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนและการประสานงานเชิงพหุภาคีไม่เพียงพอ
การประชุมฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 2.5 ในปี 2022 ส่วนการเติบโตในปี 2023 จะชะลอตัวลงอีกอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยการชะลอตัวที่เกิดขึ้นพร้อมกันกำลังส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3 ส่งผลกระทบต่อการเงินภาครัฐและเอกชน รวมถึงโอกาสในการจ้างงานยิ่งขึ้น
รีเบกา กรีนสแปน เลขาธิการอังค์ถัด ระบุว่ายังคงพอมีเวลาจะทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ตกต่ำสู่ภาวะถดถอย เรามีเครื่องมือที่จะชะลออัตราเงินเฟ้อและสนับสนุนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ทว่าแนวทางของมาตรการในปัจจุบันกำลังส่งผลเสียต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเสี่ยงนำพาโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยทั่วโลก
ที่มา – ซินหัว