ในหน้าฝนที่มีโอกาสน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ นอกจากจะมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคผิวหนังแล้ว ยังมีอีกโรคหนึ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
รู้จัก โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียฉี่หนู ซึมเข้าไปในผิวหนัง เมื่อเราต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน หากอาการรุนแรง เราก็อาจมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้เลย เพราะฉะนั้น เรามาทำความรู้จัก รวมถึงวิธีป้องกันไว้ก่อนดีกว่า
รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
โรคฉี่หนูเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเชื้อที่ชอนไชไปตามผิวหนังตามเยื่อบุผิวต่างๆ เช่น ปาก จมูก หรือตา โดยเฉพาะผิวหนังที่เป็นแผล เป็นโรคที่มีความรุนแรงถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้ อาการของรายที่รุนแรงจะมีอาการตับวาย ไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ถึงแม้จะฆ่าเชื้อได้ แต่อวัยวะจะไม่กลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ
นายแพทย์ พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้อธิบายว่า ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุของโรคนี้จะมาจากน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ซึ่งตัวเชื้อนี้มาจาก ปัสสาวะของหนู ข้อควรระวังมีดังต่อไปนี้
- ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เมื่อเท้าของเราต้องไปแช่น้ำนานๆ ก็จะทำให้ผิวหนังเราอ่อนนุ่ม อาจทำให้เชื้อชอนไชเข้าไปได้ตามผิวหนังได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีปัญหามึนชาที่เท้า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง
- ถ้าหากเราเป็นแผล ก็จะยิ่งง่ายต่อการติดเชื้อมากขึ้นไปอีก สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันโดยการสวมรองเท้า สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด หรือถ้าไม่มีรองเท้าบูท อาจใช้ถุงพลาสติกแทนก็ได้ โดยการนำมาครอบเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าไปตามผิวหนังเราได้ และเพื่อไม่ให้ผิวหนังของเราสัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อ
- ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ทยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน
- กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
- ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกร้อนใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม เรื่องของการดูแลสุขภาพและความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ จำคีย์เวิร์ด “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” นี้เอาไว้ รับรองปลอดภัยแบบไร้กังวล เพราะเชื้อนี้จะตายหากอยู่ในอุณหภูมิสูง
ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่าง สัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป 0 2590 3177 – 8 และ 02-590-3183 หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค หมายเลข 1422